โดย : หน่วยข้อมูลวิชาการ
กทม. จับมือ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และสปสช. เดินหน้าขยายเครือข่ายให้บริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิด 5 ปี จัดนักจิตวิทยาประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ทั่วกทม. เน้นตรวจคัดกรอง ประเมิน และส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อให้เด็กมีศักยภาพและพัฒนาการสมวัยสู่สังคมอย่างมีความสุข ตลอดจนขยายบริการโดยจัดอบรมให้อาสาสมัครสาธารณสุข และครูพี่เลี้ยงเด็กในชุมชนให้สามารถคัดกรองพัฒนาการได้
(20 ก.ย. 54) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว โครงการจัดบริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิด 5 ปี ในกรุงเทพมหานคร พลังเครือข่าย ขยายบริการ เพื่อพัฒนาการเด็กไทย ร่วมด้วย นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับสถาบันราชานุกูล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินโครงการจัดบริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิด 5 ปี ต่อยอดปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด พลังเครือข่าย ขยายบริการ เพื่อพัฒนาการเด็กไทย เนื่องจากปัจจุบันพบเด็กบกพร่องทางพัฒนาการเฉลี่ยร้อยละ 1-2 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครแล้ว อาจประมาณได้ว่ามีความบกพร่องทางพัฒนาการมากถึง 57,000 113,000 คน กรุงเทพมหานครจึงจัดให้มี โครงการจัดบริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ขึ้น เพื่อเป็นการค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยง และดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกอย่างเป็นระบบ จนมีภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติ เป็นการลดปมด้อย ลดความพิการ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พัฒนาการเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญ สมองของเด็กเติบโตทุกวัน ถ้ามีความบกพร่องหรือความล่าช้าบางอย่างแล้วไม่ได้พบตั้งแต่ต้น โอกาสของเด็กที่เสียไปในแต่ละวันก็จะทำให้ความบกพร่องนั้นคงที่ แต่ถ้าพบตั้งแต่แรกแล้วได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมพัฒนาการ เด็กก็จะมีพัฒนาการที่สมวัย อยู่ในสังคมได้อย่างปกติ การจัดบริการที่สำคัญมากคือ การคัดกรองพัฒนาการ การประเมินพัฒนาการอย่างละเอียด และการส่งเสริมพัฒนาการที่เป็นมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาความเข้มแข็งของหน่วยบริการทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือในการจัดโครงการดังกล่าวขึ้น
พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สำนักอนามัยได้ดำเนินการให้บริการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในพื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ทั้งในคลินิกสุขภาพเด็กดี และในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2549 สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของหน่วยบริการ และระบบส่งต่อในระดับทุติยภูมิ โดยในปี 2552 เริ่มดำเนินงานในศูนย์บริการสาธารณสุข 30 แห่ง ให้บริการคัดกรองจำนวน 52,778 ราย ส่งเสริมพัฒนาการจำนวน 671 ราย ปี 2553 จัดให้บริการในศูนย์บริการสาธารณสุข 34 แห่ง ให้บริการคัดกรองจำนวน 94,598 ราย ส่งเสริมพัฒนาการจำนวน 5,885 ราย และมีรูปแบบของการบริการที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การประเมินพัฒนาการละเอียดเพื่อจัดโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการโดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม รวมทั้งมีการวางแผน การติดตามเยี่ยมบ้าน และแนะนำการส่งต่อ
สำหรับการดำเนินงาน ปี 2554 ได้ขยายการบริการโดยให้มีนักจิตวิทยาประจำในศูนย์บริการสาธารณสุขครบทั้ง 68 แห่ง เพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการที่ดีที่สุดตามศักยภาพ และได้รับบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งจากข้อมูลเดือนมกราคม ถึงสิงหาคม 2554 ให้บริการคัดกรองแล้วทั้งสิ้น จำนวน 88,471 ราย ส่งเสริมพัฒนาการจำนวน 5,146 ราย รวมทั้งสำนักอนามัยได้ขยายรูปแบบของการบริการเพิ่มขึ้นโดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมความรู้และทักษะในการคัดกรองพัฒนาการเด็ก ตลอดจนการมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กบกพร่องทางพัฒนาการ ให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข ครูพี่เลี้ยงในชุมชน ทั้งนี้ประชาชนสามารถนำบุตรหลานไปรับบริการตรวจคัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร