กรมสุขภาพจิต ห่วงภัยเด็กจมน้ำในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กป่วยจิตเวชหรือเด็กกลุ่มพิเศษ ได้แก่ สมาธิสั้น ออทิสติก เด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กที่มีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 8 แสนคนทั่วประเทศ เป็นกลุ่มเสี่ยงจมน้ำได้ง่าย ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ อย่าให้ลงเล่นน้ำตามลำพัง เนื่องจากเด็กร้องขอความช่วยเหลือไม่เป็น ขณะให้เด็กเล่นน้ำ ผู้ปกครองควรอยู่ใกล้ๆ เพื่อช่วยเด็กได้ทันท่วงที
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เด็กๆจะอยู่บ้าน มีความเป็นห่วงปัญหาการจมน้ำของเด็ก ซึ่งกรมควบคุมโรครายงานว่าเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตตลอดทั้งปี จึงขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวัง อย่าให้เด็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคทางจิตเวชหรือที่เรียกว่า เด็กพิเศษ ได้แก่ โรคออทิสติก (Autistic) โรคสมาธิสั้นหรือโรคไฮเปอร์ (Attention Deficit Hyperactive Disorder) เด็กสติปัญญาบกพร่อง (Mental Retard) ซึ่งมีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 จุด และเด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disorder) คาดว่าทั่วประเทศจะมีเด็กพิเศษที่กล่าวมาประมาณ 8 แสนคน ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำได้สูง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การพูดและการช่วยเหลือตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะต้องดูแลใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ
“ เด็กกลุ่มพิเศษจะมีความต้องการเล่นน้ำไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายจมน้ำได้ง่าย เนื่องจากเด็กจะมีปัญหาในการรับรู้ อ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่เข้าใจถึงภาวะเสี่ยงหรือภาวะที่เป็นอันตราย และไม่กลัวภัยอันตรายเด็กบางประเภทเช่นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีพฤติกรรมชอบท้าทายโลดโผนอยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงเกิดอันตรายได้มาก และหากเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ เด็กจะไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆได้ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้กระทั่งน้ำตื้นก็ตาม” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กทม. กล่าวว่า ในกลุ่มเด็กปกติทั่วไป ควรห้ามลงเล่นน้ำตามลำพังโดยไม่มีผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ปกครองพาเด็กไปเล่นน้ำ และเด็กว่ายน้ำไม่เป็น ผู้ปกครองควรลงน้ำกับเด็กทุกครั้ง และควรให้เด็กเล่นในที่น้ำตื้นๆ สำหรับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุง่าย เช่นเด็กสมาธิสั้น ซึ่งจะชอบเล่นเสี่ยงๆ แผลงๆ ผู้ปกครองควรดูแลไม่ให้เล่นน้ำไกลๆหรืออยู่นอกสายตา เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุ จะสามารถเข้าช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที และที่ผ่านมาเคยมีเด็กโรคสมาธิสั้นปีนบ่อบำบัดแล้วพลัดตกลงไป นอกจากนี้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเป็นโรคลมชัก ก็ไม่ควรเล่นน้ำโดยลำพังแม้แต่อ่างน้ำในบ้านก็ตาม และหากยังมีอาการชักบ่อยๆ ควรงดการเล่นน้ำ
ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ผู้ปกครองควรระมัดระวังเพิ่มเติมอีกก็คือภาชนะใส่น้ำในบ้าน เช่นโอ่ง อ่าง ถัง ต้องระวังอย่าให้เด็กลงไปเล่นหรืออยู่ใกล้ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีปัญหาพัฒนาการด้านของการเคลื่อนไหวล่าช้า ซึ่งเด็กวัยนี้ตามธรรมชาติการทรงตัวจะยังไม่ดี ทำให้หกล้มได้ง่าย หน้าของเด็กอาจจะคว่ำลงไปในอ่างน้ำและจมน้ำได้ง่ายเช่นกัน
********************** 10 เมษายน 2561