กรมสุขภาพจิตแนะ วิธีคลายปัญหา “เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน” พ่อแม่มือใหม่ ไม่ควร “ ดุ ข่มขู่ ตี” ไม่นั่งเฝ้าลูก

กรมสุขภาพจิต แนะพ่อแม่มือใหม่ให้ความสำคัญลูกเล็กเข้าโรงเรียนอนุบาลครั้งแรกซึ่งคาดว่ามีราว 7 แสนคนทั่วประเทศ ชี้เป็นพัฒนาการช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่นอกบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับวิธีเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นของพ่อแม่ หากเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนให้ใช้ 8 วิธีแก้ไข ไม่ควรใช้วิธีลงโทษเช่นดุ ข่มขู่ หรือตีเด็ก ไม่ควรนั่งเฝ้าลูกที่โรงเรียน พร้อมแนะ 4 อาการที่ควรปรึกษาแพทย์หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อหาต้นเหตุ

               นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม ปัญหาสำคัญของพ่อแม่โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ในการพาลูกเข้าโรงเรียนมี 2 ประเภท ประเภทแรกที่พบบ่อยคือเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กอนุบาลที่มีประมาณ 700,000 คนทั่วประเทศ ที่พึ่งจะเริ่มไปโรงเรียนครั้งแรกในชีวิต และประเภทที่ 2 อาจพบในเด็กวัยประถมศึกษาตอนต้นเช่นกัน เนื่องจากปิดเทอมมานานและเคยนอนตื่นสายจนชิน ซึ่งปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียนแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน ในเด็กวัยอนุบาลเป็นเรื่องของการแยกจากพ่อแม่ บางคนร้องไห้อยู่ 1-2 วันแรกก็หยุด บางคนอาจร้อง 1-2 สัปดาห์ บางคนร้อง 1-2 เดือนขึ้นกับพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคน การปรับตัว วิธีเลี้ยงดูและท่าทีของพ่อแม่   นอกจากนี้บางคนอาจมีพฤติกรรมถดถอย เช่น ดูดนิ้ว กัดเล็บ งอแง นอนไม่หลับ ปัสสาวะรดที่นอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบได้ หากพ่อแม่ให้ความเข้าใจ และช่วยประคับประคอง ลูกก็จะผ่านช่วงนี้ไปได้

การเตรียมลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นพัฒนาการของเด็กที่ต้องแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ออกจากสังคมในครอบครัว เพื่อไปเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมใหม่ที่โรงเรียนซึ่งจะมีอิทธิพลต่อเด็กมาก เด็กจะได้เรียนรู้ทางวิชาการ ฝึกการเขียนอ่าน ได้เล่น ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม และเป็นพัฒนาการของพ่อแม่เองด้วย เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ว่าลูกเป็นอีกปัจเจกบุคคลหนึ่ง ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญ นายแพทย์สมัยกล่าว

หากมีปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติ 8 ประการดังนี้ 1. ไม่ตามใจเด็ก ให้พูดด้วยเหตุผลถึงประโยชน์ของการไปโรงเรียนและยืนยันว่าลูกต้องไปโรงเรียนด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ต้องไม่ข่มขู่ บังคับลูก ดุหรือตีลูก 2. ในระยะแรกอาจต้องไปส่งลูกด้วยตัวเองทุกวัน เพื่อให้ลูกมั่นใจ ลดความกังวลต่อการแยกจาก 3. กอดลูกทุกเช้าก่อนเดินทางไปโรงเรียนหรือก่อนแยกกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูก ให้เด็กเรียนรู้ว่าการแยกกันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เด็กจะมีการเติบโตทางจิตใจมากขึ้น          4. ควรไปรับลูกให้ตรงเวลาหลังเลิกเรียน ไม่ควรทิ้งให้ลูกรอนานๆ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเป็นกังวลได้ 5. ชวนลูกพูดคุยถึงเพื่อนและครูที่โรงเรียน เพื่อให้ลูกได้เล่าสิ่งที่พบเจอมาในแต่ละวันให้พ่อแม่ฟัง 6.สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เพราะเวลาไปโรงเรียนลูกต้องทำอะไรด้วยตัวเอง จะได้ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือด้อยกว่าเพื่อน 7.ไม่ควรอยู่เฝ้าลูกที่โรงเรียน เนื่องจากจะส่งผลให้เด็กปรับตัวกับคนอื่นได้ช้า คอยพะวงมองหาพ่อแม่ที่นั่งเฝ้าอยู่ และ 8. พยายามลดความตึงเครียดของการไปโรงเรียนให้มากที่สุด เช่นเตรียมอุปกรณ์การเรียน ขุดนักเรียนไว้ให้พร้อมล่วงหน้า เพื่อที่จะไม่ต้องเร่งรีบในตอนเช้า จะช่วยลดความเครียดทั้งกับลูกและพ่อแม่ได้ดี

             ทางด้านแพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาและพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียนของเด็กจะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะหายไปไม่เกิน 1 เดือน แต่หากพบปัญหา 4 ประการดังต่อไปนี้ คือ 1. ลูกมีปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรง เช่นเริ่มก้าวร้าว ขว้างของ ทำร้ายหรือทุบตีพ่อแม่ 2. ลูกมีอารมณ์ซึมเศร้าต่อเนื่อง เช่น ดูไม่มีความสุข เก็บตัว ร้องไห้บ่อยๆ 3.มีอาการทางกาย บ่อยๆ เช่นปวดหัว ปวดท้อง เป็นต่อเนื่องกันนานหลายเดือนและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น และ 4. คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดมาก ควบคุมลูกไม่ได้เลย อาจต้องยอมให้ลูกหยุดโรงเรียนมาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์แล้ว แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์ หรือที่สายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะยิ่งปล่อยไว้นานวัน ปัญหาก็จะยิ่งแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ     

 *****************     15 พฤษภาคม 2561

 

 

  View : 4.66K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 546
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 4,517
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 23,924
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 816,575
  Your IP : 20.171.206.132