รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
ขึ้นชื่อว่าการพักผ่อนแล้ว หลายคนก็คงจะนึกถึง การนอน
เพราะเนื่องด้วยว่า การนอน ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในหนึ่งวัน
สำหรับในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กแล้วนั้น จะมีวิธีการนอนอย่างไรให้เหมาะสม และเมื่อนอนไม่เพียงพอแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อตัวเด็กบ้าง รวมไปถึงควรนอนในท่าใดจึงจะเหมาะสม
เด็กวัยเรียนร่างกายต้องการการนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง แต่ว่าในปัจจุบันเรามักจะพบว่ากว่าจะเลิกเรียน กลับถึงบ้าน ทำการบ้าน จนได้เข้านอนก็ 3-4 ทุ่มแล้ว บางคนบ้านไกลจากโรงเรียนก็ต้องตื่นแต่เช้ามืดอีก ทำให้การนอนนั้นไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการจริงของร่างกาย
โดยทั่วไป เด็กแรกเกิดจะนอนไม่เป็นเวลา ใช้เวลาในการนอนกว่า 70-80% ต่อวัน หรือราว 16-18 ชั่วโมง เด็กจะนอนวันละหลายรอบ ๆ ละ 1-2 ชั่วโมง และเด็กยังไม่สามารถแยกกลางวันกลางคืน จะสังเกตว่าท่านใดมีลูกเล็กจะเห็นลูกนอนกลางวันตื่นกลางคืนเป็นประจำ และจะค่อยปรับตัวนอนได้ยาวนานต่อรอบมากขึ้นเมื่ออายุได้ 4-6 เดือน ต่อมาการนอนกลางวันก็จะค่อยๆลดลง เช่น นอนกลางวันเหลือ 1-2 ชั่วโมง แล้วไปนอนกลางคืนมากขึ้น จนกระทั่งไม่นอนกลางวันอีกเลยเมื่ออายุ 4-6 ขวบ
การนอน มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของเด็ก พบว่าฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งมากในเวลากลางคืน หลังจากที่หลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ถ้านอนหลับไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านความสูง นอกจากนี้การนอนหลับยังช่วยร่างกายในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จะสังเกตได้ว่าถ้าช่วงใดที่ไม่สบาย ร่างกายจะส่งสัญญาณให้เรามีความต้องการนอนมากกว่าปกติด้วยนั่นเอง
สุขนิสัยการนอนที่ดีจะช่วยให้การนอนของเด็กเกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ เช่น การเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิม ๆ ทุกวัน การงดกิจกรรมที่จะทำให้เด็กนอนหลับยากในช่วงหัวค่ำ เช่น การดูทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากแสงสว่างจากจอจะขัดขวางการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยให้หลับ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกาเฟอีน เช่น ชาเขียว ช็อกโกแลต กาแฟ การออกกำลังมากเกินไป หรือกินจนอิ่มมากเกินไปในช่วงเย็น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เด็กหลับยาก นอกจากนี้ในเด็กบางคนอาจมีปัญหานอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ทำให้การนอนยิ่งไม่ได้คุณภาพ เด็กที่นอนไม่พอในแต่ละคืน เมื่อเกิดขึ้นต่อเนื่องเข้าสู่ภาวะอดนอนเรื้อรัง เด็กจะไม่แสดงอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึมเหมือนในผู้ใหญ่ แต่จะออกมาในลักษณะปัญหาพฤติกรรม เช่น ซน อยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว ขี้หงุดหงิด ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกเด็กให้นอนตั้งแต่หัวค่ำและสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี
กรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์แล้วนอนดึก ลูกที่เกิดมาก็จะนอนดึกตามคุณแม่จริงหรือไม่
ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน การนอนหลับของเราจะถูกควบคุมจากสารเคมีในร่างกาย ร่วมกับปัจจัยภายนอก เช่น แสงสว่าง กิจกรรมที่ทำอยู่ คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการสื่อสารกับลูกในท้องผ่านสารเคมีอยู่แล้ว เมื่อคุณแม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กจะรับรู้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ในทางวิทยาศาสตร์แล้วคิดว่าน่าจะเป็นผลจากปัจจัยแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม เมื่อเด็กอยู่ในท้องจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สบาย มืด และอุณหภูมิคงที่ เด็กจะนอนหลับได้สบาย แต่พอเด็กคลอดออกแล้ว ปัจจัยอย่างเช่น แสงสว่าง เสียงรบกวน ก็จะทำให้นอนได้ยากขึ้น
ท่านอนที่เหมาะสมในเด็กเล็ก
ในเด็กแรกเกิด ไม่แนะนำให้นอนคว่ำ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุในทารก (Sudden Infant Death Syndrome : SIDS) แนะนำให้นอนหงายหรือนอนตะแคงดีกว่า และเบาะที่นอนควรมีความแข็งพอสมควร ไม่จำเป็นต้องใช้หมอน บางครอบครัวอาจกังวลว่าศีรษะจะไม่สวย ก็แนะนำว่าให้นอนตะแคงสลับข้างซ้ายบ้างขวาบ้าง
การนอนหลับที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก
เด็กเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆทุกวัน เมื่อหลับสมองจะทำหน้าที่จัดเก็บและจัดระเบียบข้อมูลที่เด็กเรียนรู้มาเมื่อเด็กหลับในระยะหลับลึก เพื่อพร้อมให้ดึงกลับมาใช้ใหม่ มีผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อเด็กเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน แล้วมาทำแบบทดสอบภายหลัง พบว่าเด็กที่ได้มีโอกาสนอนหลังจากการเรียน จะสามารถทำแบบทดสอบได้ดีกว่ากลุ่มที่ยังไม่ได้นอนอย่างชัดเจน ดังนั้นการนอนหลับอย่างเพียงพอ จะส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก
ปัญหาที่พบมากคือ เด็กไม่ยอมนอน
ปัญหาที่เป็นความหนักใจของพ่อแม่คือเด็กไม่ยอมหลับ ซึ่งอาจเป็นผลจากปัจจัย 3 อย่างดังนี้
1) ตัวเด็กเอง เด็กอาจไม่สบายตัว เปียกชื้น ปวดท้อง คันจากผื่นแพ้ เป็นหวัด หายใจไม่ออก ก็อาจทำให้เด็กนอนไม่สบาย นอนหลับยาก
2) สิ่งแวดล้อม เช่น เสียงรบกวน แสงสว่าง หรือยังห่วงเล่นหรืออยากทำกิจกรรมกับพ่อแม่อยู่ การจัดสิ่งแวดล้อมการนอนที่ดี โดยจัดห้องนอนแยกกับส่วนที่ใช้เล่น และมีแสงสว่างและอุณหภูมิที่เหมาะสม ร่วมกับการสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี มีกิจวัตรประจำวันเบา ๆ ก่อนนอนทุกวัน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน อ่านนิทาน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมใจเด็กในการเข้านอนจะช่วยลดปัญหานี้ได้มาก
3) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยงกับเด็ก ที่พบบ่อยได้แก่คนดูแลจะสร้างความเคยชินในการกล่อมเด็กให้หลับ โดยการอุ้มเดินบ้าง หรือดูดนมหลับบ้าง ดังนั้นเด็กคุ้นเคยว่าการหลับต้องมีปัจจัยดังกล่าวทุกครั้ง ไม่เรียนรู้ที่จะกล่อมตัวเองได้ ดังนั้นทุกครั้งที่เด็กจะเข้านอน รวมถึงหลังจากตื่นกลางดึกแล้วจะกลับไปนอนต่อ ก็ต้องการการกล่อมจากคนดูแลเหมือนเดิมทุกครั้ง หรือในเด็กวัยเตาะแตะบางคนอาจจะห่วงเล่น หรือรู้สึกเหมือนการนอนหลับเป็นการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เช่น พ่อแม่ ของเล่น ทำให้มีการต่อรอง ไม่ยอมเข้านอนโดยง่าย เป็นต้น
ส่วนการนอนละเมอ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะถ้าพ่อหรือแม่เคยมีอาการแบบเดียวกันตอนเด็ก ๆ บางคนอาจเป็นแค่ลุกมานั่ง ดูงง ๆ บางคนมีกรีดร้องร่วมด้วย หรือกระทั่งลุกเดิน การนอนละเมอเองไม่มีความอันตรายกับสุขภาพการนอนของตัวเด็กเอง แต่อาจทำให้พ่อแม่กังวลใจได้ การสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดีร่วมกับนอนหลับให้เพียงพอจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ อาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเด็กโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการเกิดขึ้นบ่อย หรือมีพฤติกรรมรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่น เดินออกจากห้องนอน แนะนำให้ไปพบแพทย์.
อ.พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล