การโพสต์ข้อความ หยาบคาย ด่าทอ

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,508  วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2554
โดยศูนย์ข้อมูลวิชาการ

            บ่อยครั้งเราเข้าไปในเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น มักพบว่า มีการโพสต์ข้อความที่หยาบคาย ด่าทอ ตำหนิ ติติง วิจารณ์ ผู้อื่นอย่างรุนแรง ก้าวร้าว คำถาม คือ คนเหล่านั้นมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ อย่างไร ?

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจะดูว่าคนนั้นมีความผิดปกติหรือไม่ การดูเพียงแค่กิจกรรมเดียวที่เราทำคงบอกไม่ได้ เพราะต้องดูด้วยว่ากิจกรรมที่เขาทำนั้นมีความรุนแรง ส่งผลกระทบกว้างขวางแค่ไหน และมีความหมกมุ่น วนเวียนกับเรื่องนี้แค่ไหน เช่น ถ้านาน ๆ จึงมีการโพสต์ข้อความด่าทอสักครั้งแล้วก็หายไป กรณีเช่นนี้อาจเป็นเพียงแค่การระบายอารมณ์เฉยๆ ซึ่งในคนธรรมดาที่ไม่ได้มีปัญหาทางจิตใจก็เกิดขึ้นได้ หรือบางคนอาจไปโพสต์ข้อความเหน็บแนมคนอื่นโดยทำบ่อยขึ้น แค่ไม่ได้ให้ใครเดือนร้อนก็คงไม่เป็นอะไร อาจเป็นเพียงแค่ต้องการแสดงความคิดเห็นบ่อย ๆ เพียงแต่มองโลกในด้านลบไปบ้าง

            ทั้งนี้ถ้ามีการโพสต์ข้อความโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมาก ทำบ่อย ๆ เป็นอาจิต ใช้เวลากับการโพสต์ด่าว่าคนอื่น และข้อความที่โพสต์มีความล่อแหลมในแง่กฎหมาย เสื่อมเสียต่อตัวเอง ครองครัว สังคม ถ้าหมกมุ่นกับการกระทำดังกล่าวจนกระทั่งความก้าวหน้าในชีวิตไม่มี เริ่มเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนว่าอาจจะเป็นลักษณะหรืออาการอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาทางจิตได้ ซึ่งการจะตัดสินว่าเป็นปัญหาทางจิตหรือไม่ คงต้องพิจารณาประกอบกับอาการร่วมอื่นๆ และดูเนื้อหาที่เขาทำความบ่อย ผลกระทบต่อชีวิตของเขาเองและคนรอบข้าง

            คงต้องบอกว่าการโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ตเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่นที่สามารถสืบสาวหาต้นตอได้ ใครก็ตามทำไปด้วยความไม่รู้ ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ยอมรับในความแตกต่างไม่ว่าเจาจะดีหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า คนเรามีหลายด้านหลายมุม สังคมมีคนหลายแบบ ควรปล่อยวางหรือแก้ปัญหาในทางสร้างสรรค์จะดีกว่า

            การโพสต์ข้อความที่หยาบคาย ด่าทอ ตำหนิ ติติง วิจารณ์ผู้อื่นอย่างรุนแรง ก้าวร้าว สะท้อนมุมมองที่เป็นด้านลบ อาจเกิดขึ้นได้จากหมายสาเหตุ ดังนี้

            1. อาจจะเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น มีภาวะจิตหลอน คิดเอง เออเอง คิดอะไรในแง่ลบ คิดเป็นตุเป็นตะว่าบางคนเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนไม่ดี ด้วยความหลอนของเขาเอง หากคนที่มีภาวะจิตหลอนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็อาจจะใช้อินเทอร์เน็ตในลักษณะที่เป็นปัญหา แต่กรณีแบบนี้ไม่ได้เจอบ่อยนัก และอาจจะมีพฤติกรรมอย่างอื่นที่ทำให้สังเกตเหฯได้นอกเหนือจากการโพสต์ข้อความด่าทอผู้อื่นด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หือส่งบัตรสนเท่ห์ด่าคนอื่น เช่น การใช้ชีวิตหมกมุ่น ไม่ทำงานทำการมีภาวะหูแว่ว มีวิถีชีวิตที่แปลกประหลาด ทำให้คนสังเกตเห็นดูออกได้ว่ามีอาการทางจิต

            2.  อาจเป็นโรคทางอารมณ์ เช่น ไบโพลาร์ เป็นช่วงอารมณ์ขาขึ้นที่เกรี้ยวกราด ด่าทอ สมมุติว่าตนไข้รู้สึกต่อต้านบางคน อยากด่า อยากว่า  นอกจากจะด่าให้คนรอบข้างฟังแล้วอาจจะยังไม่สะใจ ก็อาจจะหาช่องทางอื่น เช่น มีอากาสโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ก็โพสต์ เขียนด่าได้ก็เขียน ตรงนี้เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งของคนที่เป็นโรคไบโพลาร์

            3.  แอสเปอร์เกอร์ หรือกลุ่มออทิสติก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น บางรายมีความหมกมุ่นสนใจในเรื่องของคนบางคนหรือพฤติกรรมบางพฤติกรรมเป็นพิเศษ และนำไปสู่การโพสต์ข้อความแบบนี้ได้เช่นกัน

            4.  ภาวะวิตกกังวลรุนแรง หรือมีความเครียดรุนแรง แล้วมีองค์ประกอบของสิ่งเร้ามาเสริม เช่น อยู่ในครอบครัวที่มีความขัดแย้ง ด่าทอกันเป็นจำ หรือได้รับอิทธิพลจากการด่าทอหรือความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ชุมชน ทำให้ชีวิตอยู่ในความกดดัน และเกิดความวิตกกังวล ปรับตัวไม่ได้ เอนเอียงไปในทิศทางที่เกลียดชังใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ส่งผลต่อการแสดงออกมองอะไรในแง่ร้าย และอาจแสดงความก้าวร้าวออกมาด้วยการไปโพสต์ข้อความด่าคนอื่น

            5.  คนที่มีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง มองโลกแง่ร้าย ปรับตัวไม่ได้ ในบางกรณีก็เจอพฤติกรรมในลักษณะด้งกล่าวได้เช่นกัน

            จะแนะนำคนที่มีพฤติกรรมด้งกล่าวอย่างไร ? พญ.อัมพร กล่าวว่า การที่ใครคนหนึ่งจะโพสต์ข้อความด่าคนอื่นด้วยถ้อยความรุนแรง แสดงว่ามีความอัดอั้นตันใจสูง ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยภายใน จากความขัดแย้งภายในจิตใจของเขาเองอีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจาการรับรู้ข่าวสารจากภายนอก ดังนั้นถ้าอีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการรับรู้ข่าวสารจากภายนอก ด้งนั้นถ้าฟังคำพูดของคนที่เราไม่ชอบ ทำให้มีข้อมูลใส่เข้าไปหัวเยอะขึ้น ข้อแนะนำแรก คือ ถอยออกมาก่อน ลดการรับรู้เรื่องราวของคน ๆ นั้น และมองตัวเองด้วย คือ นอกจากจะมาทุ่มเทเกลียดชังใครแล้ว ต้องมองว่า ชีวิตเรายังมีงานต้องทำ มีคนในครอบครัวที่ต้องผูกพัก ดูแลรับผิดชอบ ช่วยเหลือ ยังมีเพื่อนฝูง อาหารอร่อย ๆ ที่เที่ยวเยอะแยะ คือ จะต้องมองให้เห็นหลาย ๆ มุมในชีวิตของตัวเราเองด้วย

            นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยั่วยุความรู้สึกขัดแย้งในใจ เช่น เกลียดนาย ก ไก่ พอใครพูดถึง นาย ก ไก่แล้วต้องไปผสมโรงด่าด้วย แนะนำว่าถ้าได้ยินชื่อนี้ให้ถอยออกมากเลย อย่าเข้าในใกล้ อย่าเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยง ควรหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นกับคนรอบข้าง ถ้ามีคนสนิทที่ไว้ใจได้ ก็ควรขอความช่วยเหลือจากคน ๆ นั้น แต่ถ้ารู้สึกแย่มาก ๆ ถึงขั้นนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเดียว ชีวิตไม่มีความสุข ก็ควรไปปรึกษาจิตแพทย์

            ท้ายนี้ขอฝากว่า สังคมเราทุกวันนี้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้งเช่นนี้มาปลุกเร้าความขัดแย้งให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการนำเสนอความเห็นที่แตกต่าง มีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวปรากฏในสื่อเป็นต้นแบบมากขึ้น ซึ่งต้นแบบดังกล่าวอาจทำให้เกิดกระแสการทำตามได้ ดังนั้นเราต้องมีสติในการรับรู้ ไม่คล้อยตาม จนกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทวีความรุนแรงในสังคม

 

 

  View : 6.72K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,019
 เมื่อวาน 1,846
 สัปดาห์นี้ 9,519
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 46,236
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 838,887
  Your IP : 3.149.235.66