ความเครียดของลูกนั้นมีเหตุผลเสมอ

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
     ทุกวันนี้ ความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยรุ่น ส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีการบ้านรายงานเยอะเกินตัวจนทำไม่ทัน พอไม่ทันก็เกิดความเครียด ไม่อยากเรียน ไม่อยากทำงานส่ง ถามว่า เราจะปล่อยให้ความ เครียดนี้กลายเป็นปัญหาสะสมอย่างนั้นหรือ เราจะหาทางออกให้กับความเครียดของวัยรุ่นสมัยนี้ได้อย่างไร
     ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับสองหนุ่มต่างวัย มาร์ค-ธนัท รัตนสิริพันธ์ วัย 14 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร์ค บอกเล่าว่า เวลามีการบ้านรายงานเยอะ ก็เครียดเหมือนกัน เพราะเขาต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย
     “ทางออกของมาร์ค คือ มาร์คจะดูว่าการบ้านรายงานอันไหนสำคัญกว่า ก็ทำอันที่สำคัญก่อน อันไหนขอครูเลื่อนได้ก็ต้องขอ อันไหนขอครูแล้วเลื่อนไม่ได้ ก็ต้องทำและส่งให้ทัน แต่มาร์คก็พยายามทำงานส่งให้ครบ ไม่งั้นจะติด ร เดี๋ยวจะลำบาก และเป็นภาระด้วย”
ธนัท เผยว่า เขาโชคดีที่พ่อแม่ไม่ได้กดดันเรื่องการเรียนมาก แต่ก็มีคาดหวังอยากให้เขาเรียนให้ได้เกรดดีๆ เหมือนกัน
    “คิดในแง่ดี มาร์คคิดว่า นี่คงเป็นวิธีการกระตุ้นเพื่อให้มาร์คตั้งใจเรียนมากขึ้น มาร์คมีพี่สาวหนึ่งคน เขาเป็นคนเรียนดี ก็มีบ้างที่พ่อแม่จะเปรียบเทียบมาร์คกับพี่สาว แต่มาร์คก็พิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่ามาร์คสามารถเรียนได้ดีในแบบที่มาร์คทำได้ แม้จะไม่ได้ดีมาก แต่ก็ไม่ได้แย่มาก”
คนต่อมา เติร์ด-ลภัส งามเชวง วัย 17 ปี ตอนนี้กำลังรอสอบเข้ามหาวิทยาลัย เติร์ด บอกเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเรียนที่ New Sathorn International School
    “ลักษณะการเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์มันเอื้อให้การเรียนมีความสนุก เราสามารถคุยกับครูได้อย่างตรงไปตรงมา ขอคำปรึกษาได้แบบเหมือนเป็นเพื่อนกัน ในเรื่องของการบ้านรายงาน ครูจะดูก่อนว่านักเรียนมีการบ้านรายงานเยอะขนาดไหน ถ้ามีเยอะ เขาควรให้เวลาเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมกัน ซึ่งตรงจุดนี้เติร์ดว่ามันดีนะ ไม่ทำให้นักเรียนกดดันหรือมีความเครียดมากเท่าที่ควร”
ในส่วนของพ่อแม่ เติร์ด เผยว่า พ่อแม่ไม่ควรกดดันลูกในเรื่องการเรียน หรือทำการบ้านรายงาน เพราะจะทำให้ลูกเครียดเข้าไปใหญ่
     “มีบ้างที่เติร์ดมีความขี้เกียจ มัวแต่เล่นเกม พ่อแม่ก็ดุว่าบ้าง แต่เติร์ดก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่คิดเอาคำดุว่าจากพ่อแม่มาทำให้ตัวเองเครียด ถ้ามีปัญหาก็คุยกับพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมา คุยกันให้ถูกจุดถูกปัญหา ไม่หนีปัญหา หรือคุยกันในเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาแท้จริง ถ้าลูกขี้เกียจเรียน ขี้เกียจทำการบ้านรายงาน ก็ต้องคุยกันว่าทำไมถึงขี้เกียจ ทุกอย่างมีเหตุผล ถ้าพูดกันตรงๆ และรับฟังกันและกัน เติร์ดเชื่อว่าปัญหามันจะแก้ไขได้ด้วยดี”
พ่อแม่เข้มงวดได้ แต่อย่ามากเกินไป
     ในฐานะที่ นุส-นุสบา ปุณณกันต์ นักแสดง ที่กำลังมีละครโทรทัศน์เรื่อง คุณหญิงนอกทำเนียบ ทางช่อง 8 เป็นคุณแม่ลูกสอง โดยคนโตอายุ 14 ปี คนเล็กอายุ 8 ขวบ สำหรับลูกชายคนโตกำลังจะขึ้นชั้น ม.3 เธอเผยว่า มีบ้างที่เธอเห็นลูกชายคนโตเครียดเพราะมีจำนวนการบ้านมากเกินไป อีกทั้งยังต้องส่งให้ตรงตามเวลา
     “บางครั้งเด็กก็อยากจะพักผ่อน อยากจะไปสนุกสนานตามวัยของเขา ถ้ามีผิดพลาดไปบ้าง เช่น ส่งไม่ตรงตามเวลา หรือทำงานไม่ทัน ซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ให้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นบ่อย เราควรต้องกระตุ้นให้เขาได้รับรู้ว่าเขาต้องมีความรับผิดชอบ โดยเราต้องให้อิสระในการรับผิดชอบงานของเขาเองนะคะ แต่ถ้าเกิดผิดพลาด ก็ต้องหันหน้ามาคุยกัน”
เมื่อลูกเครียดก็อาจส่งผลต่อความเครียดของพ่อแม่ จนอาจหาทางออกแบบผิดๆ ด้วยกันทั้งคู่ เช่น พ่อแม่ช่วยลูกทำการบ้านรายงาน จนทำให้ลูกอ่อนแอด้านการแสดงออกถึงความรับผิดชอบในงานของตัวเอง
    “มันไม่ส่งผลดีอะไรเลยนะคะ เมื่อพ่อแม่แอบช่วยลูกทำการบ้านรายงาน สิ่งที่ทำส่งครูไป มันก็ได้แค่นั้น เขาไม่ได้เรียนเพื่อแค่เอาคะแนนเท่านั้น แต่เขาต้องมีประสบการณ์ในการเรียนรู้จากการบ้านรายงานที่เขาได้รับมอบหมายมา เขาจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ จะมีความรับผิดชอบมากแค่ไหน ก็อยู่ที่ตรงนี้” กับพ่อแม่ที่เข้มงวดเรื่องการเรียนของลูกมากเกินไป นุสบา เผยว่า ควรเข้มงวดประมาณหนึ่งพอ ถ้าค้นพบว่าศักยภาพของลูกไม่ได้ล้ำเลิศ เข้มงวดแบบให้เขาเอาตัวรอดได้ แต่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
      “การที่เรามานั่งเข้มงวด นั่งบังคับทุกวี่ทุกวัน นั่นคือตัวเรา ไม่ใช่ตัวเขา ผลที่ตามมาคือ มันไม่ได้ออกมาจากใจที่เขาอยากจะทำ นุสคิดว่าการจะทำการบ้านรายงานของเขา เขาต้องสนุกที่จะทำ ในฐานะพ่อแม่ สิ่งที่เราทำได้คือ เราต้องไม่ไปสร้างเงื่อนไข หรือแรงกดดันให้แก่ลูก เพื่อที่ลูกจะได้มีกำลังและความอยากในการทำการบ้านรายงานของเขาให้เสร็จ เพื่อจะได้ค้นพบความสุขและความสำเร็จด้วยตัวเขาเอง”
       กับแนวความคิดของพ่อแม่ยุคนี้ ที่เมื่อเห็นลูกเครียดกับการบ้านรายงานเยอะ ก็เริ่มอยากนำพาลูกออกนอกระบบการศึกษา นุสบาได้แสดงความคิดเห็นว่า การเรียนนอกระบบน่าจะเหมาะกับประเทศที่เจริญก้าวหน้ามาก และครอบครัวสามารถเขียนหลักสูตรขึ้นมาเองได้
     “แต่ในเมืองไทยจะมีกี่ครอบครัวที่ทำเองได้อย่างนั้น เราเขียนหลักสูตรกันได้เองมั้ย มันเป็นเรื่องง่ายจริงหรือ เราแน่ใจหรือว่าหลักสูตรที่เราเขียนขึ้นมานั้นมีมาตรฐาน และทำให้ลูกของเรามีความรู้ความสามารถอย่างรอบด้านมากเพียงพอ นุสเชื่อว่าการที่ลูกเราได้เรียนอยู่ในระบบ ลูกเราจะได้ทั้งสังคม ได้ทั้งประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งได้รับความเข้มแข็งในการเรียนและการมีความรับผิดชอบต่อการบ้านรายงานค่ะ”
       แน่นอนว่า ครูเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้วัยรุ่นวัยเรียนและพ่อแม่เกิดความเครียดจากการบ้านรายงานเยอะ แต่นั่นใช่ความผิดของครูจริงหรือ  อาจารย์ปัทมสุคนธ์ สุริยวงศ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย เผยว่า ปัญหาเด็กวัยรุ่นเครียดเพราะการบ้านรายงานเยอะ ถือเป็นปัญหาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการก็พยายามแก้ไขกันอยู่ตลอดเวลา
     “ไม่ว่าจะให้เด็กทำงานให้เสร็จในชั้นเรียน หรือไม่ให้การบ้านรายงานเยอะ หากวิชาไหนมีการบ้านรายงานเยอะ ก็ให้บอกครูผู้สอนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาทางออกร่วมกัน”
        แน่นอนว่า การทำงานร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ ถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ครูทุกคนต้องพึงกระทำ “เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นลูกเครียด จนกลายเป็นเด็กก้าวร้าว เก็บกด หรือเกิดภาวะซึมเศร้าเบื่อหน่าย ยิ่งทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเครียดไปพร้อมๆ กับลูก ทางออกคือ ทำการร้องเรียนกับทางโรงเรียนได้ ซึ่งการร้องเรียนเป็นสิ่งที่ดีนะคะ มันจะช่วยทำให้ครูและทางโรงเรียนได้เห็นว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น จะช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กแก้ไขปัญหานี้อย่างไร”
           อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การทำการบ้านรายงาน คือการช่วยให้เด็กเกิดการปรับตัว ได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหา และนำพาตัวเองก้าวไปสู่การเติบโตขึ้นไปอีกขั้น ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่
        “เพราะฉะนั้น การบ้านรายงาน อย่างไรก็ต้องมี แต่ครูที่ดีก็ต้องมีวิธีการมอบการบ้านรายงานที่ดีด้วย ไม่ใช่เอะอะก็สั่งๆๆ โดยไม่ถามความคิดเห็นของเด็กโดยรวม”
          อาจารย์ปัทมสุคนธ์ เผยว่า ทั้งครูและพ่อแม่ผู้ปกครองจะตามใจเด็กนักเรียนมากไม่ได้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เด็กอ่อนแอ
         “เด็กทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน เขาก็จะเอาแต่ใจตัวเอง พอพ่อแม่เห็นลูกเป็นอย่างนี้ ก็ใจเสีย ตามใจลูก วิตกแทนลูก พาลไปที่ครูผู้สอนอีก ยิ่งถ้าครูผู้สอนไม่หนักแน่นพอ หรือไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีพอ ก็จะกลายเป็นตามใจเด็กนักเรียนไปอีก ซึ่งเอาจริงๆ ลักษณะอย่างนี้ มันไม่ถูกต้องเอาเสียเลย”
ทางออก คือ ครูผู้สอนต้องกลับมามองตัวเอง ว่ามีวิธีการสอนที่ดีพอหรือเปล่า สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กรู้สึกสนุกพอหรือเปล่า “ครูได้มีการพูดคุยกับเด็กมากเพียงพอไหม ในเรื่องการทำการบ้านรายงาน เยอะไปไหม ให้เวลาน้อยไปไหม เท่าไหร่ถึงจะพอดี ครูต้องทำความตกลงกับเด็ก โดยที่เด็กได้มีส่วนร่วมในการตกลงนั้น ไม่ใช่คอยแต่รับคำสั่ง แล้วต้องกลับมานั่งเครียด เก็บกด จนกลายเป็นความเครียดและความเก็บกดกันไปทั้งหมด แล้วสุดท้าย สังคมก็จะตีตราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความผิดของครูผู้สอนอยู่ร่ำไป”
        เด็กต้องรู้สึกว่าทำการบ้านรายงาน...สนุกเหมือนเล่นเกม
       ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณหมอโอ๋ บอกเล่าให้ผมฟังว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะความตึงเครียดในเรื่องของการมีการบ้านรายงานเยอะของเด็กวัยรุ่น ต้นทางน่าจะมาจากครูผู้สอน ว่าครูผู้สอนเป็นอย่างไร สอนดีไหม เมตตาต่อเด็กไหม เอาใจเขามาใส่ใจเราไหม ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนนั้นเกิดความสนุกไหม
     “ครูผู้สอนได้พิจารณาบ้างไหม ว่าอะไรกันแน่ที่เราอยากให้เด็กได้รับจากการเรียนหนังสือ ทำงานหนักๆ การบ้านเยอะๆ หรือมีความสุขกับการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยจิตใจและสมองที่ปลอดโปร่งกันแน่ ต่อมาก็คือ เด็กนักเรียนเรียนหนังสือหรือทำการบ้านรายงานแล้วเขารู้เรื่องไหม ถ้าสองปัจจัยนี้ไม่โอเค พอเด็กได้รับการบ้านรายงานเยอะ ก็จะเกิดความเครียด ยิ่งถ้าเด็กคนไหนไม่สนใจการเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะเกิดความท้อ และละทิ้งการเรียนไปเลย เพราะมันเกินจุดที่เด็กจะทำได้ ไปทำอย่างอื่นยังสนุกกว่า ดีกว่า เช่น เล่นเกม”
        สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง หากเจอเหตุการณ์อย่างนี้ หากไปต่อว่า ดุด่า หรือเข้มงวดกับลูกมากเกินไป ก็จะทำให้ลูกต่อต้าน ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้เกิดปัญหาของความสัมพันธ์ในครอบครัวมากยิ่งขึ้นไปอีก
       “พ่อแม่ควรช่วยเหลือ โดยไม่ใช้วิธีการเข้มงวดหรือต่อว่า แต่เราควรปล่อยให้เขาสามารถรับผิดชอบชีวิตด้วยตัวเขาเองได้ เราแค่ดูอยู่ห่างๆ การช่วยลูกทำการบ้านรายงาน ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้าลูกเกิดปัญหาขึ้น เราต้องเข้าไปคุยกับครูหรือทางโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองจะรวมตัวกันเพื่อร้องเรียนกับทางโรงเรียนก็เป็นหนทางที่ดีนะคะ อย่าลืมว่า การช่วยลูกทำการบ้าน ลูกของเราจะไม่เกิดการเรียนรู้ เกิดการพัฒนา และเกิดความอ่อนแอ ถ้าพ่อแม่ยังรังแกฉันอยู่
       สำหรับเด็กนักเรียน หากเด็กบอกตัวเองได้ว่า การเรียน การทำการบ้านรายงาน คือความท้าทายของชีวิต เหมือนเราเล่นเกม ที่มีแต่ความสนุกและท้าทาย มันจะช่วยให้เด็กมีทัศนคติต่อสิ่งเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ อ่อนแอ จนกลายเป็นโยนภาระให้พ่อแม่ หรือโยนความผิดให้ครู อย่างไรก็ตามเด็กก็ต้องพิชิตการบ้านรายงานนั้นให้สำเร็จ เพื่อฝึกความรับผิดชอบ เหมือนเล่นเกมก็ต้องพิชิตเกมนั้นให้สำเร็จ นี่คือการสร้างแรงจูงใจด้วยตัวของเขาเอง หากครูและพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถจับจุดความสนุกนี้ได้ และทำให้มันเกิดขึ้นกับเด็กได้อยู่ตลอดเวลา ก็น่าจะทำให้เด็กผ่อนคลาย สนุกกับชีวิต และไม่เกิดความตึงเครียดอย่างที่เป็นอยู่ค่ะ”
 
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
 

ความเครียดของลูกนั้นมีเหตุผลเสมอ.pdf

  View : 4.31K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,355
 เมื่อวาน 1,317
 สัปดาห์นี้ 2,721
 สัปดาห์ก่อน 5,143
 เดือนนี้ 8,050
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 889,728
  Your IP : 52.167.144.157