ทำอย่างไร ...ไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้อิจฉา

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
         ครอบครัวที่มีลูกหลายๆ คนอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาที่ลูกๆ รู้สึกอิจฉากันและกันอยู่ และไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร สำหรับบางครอบครัวแล้ว ปัญหานี้มันเรื้อรังและแก้ไขไม่เคยได้สักที จึงสร้างความทุกข์ใจให้กับคนในครอบครัว ทั้งกับตัวของลูกเองและคนเป็นพ่อแม่เป็นอย่างมาก

         ลูกเป็นเด็กขี้อิจฉาเพราะสาเหตุใดบ้าง
         1. มีสมาชิกใหม่หรือมีลูกคนใหม่เกิดขึ้นในครอบครัว
         เมื่อคุณแม่คลอดน้องคนใหม่ออกมา และเด็กเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่และทุกๆ คนต่างรุมให้ความสนใจน้องคนใหม่เป็นพิเศษ เดี๋ยวคุณแม่อุ้ม เดี๋ยวคุณพ่อกอด เดี๋ยวคุณตาคุณยายผลัดกันเข้ามาหอม เด็กอาจจะมีความรู้สึกหวาดระแวงกลัวว่าน้องที่เกิดมาใหม่จะมาแย่งเอาความรักของคุณพ่อคุณแม่ไปจากตนเอง อีกทั้งมีความรู้สึกน้อยใจว่าไม่มีใครมาเอาใจใส่เขาเลย ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนี้หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยปละละเลยไปนานๆ ความรู้สึกหวาดระแวงและน้อยใจจะตกตะกอนจนเกิดเป็นสนิมในใจเด็กและกลายเป็นความอิจฉาริษยาในที่สุด ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาครอบครัวต่อไปได้
         2. คุณพ่อคุณแม่รักลูกไม่เท่ากัน
         ในครอบครัวที่มีลูกหลายคนมักจะมีปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น รักลูกคนเล็กมากกว่าลูกคนโต รักลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง รักลูกที่เรียนเก่งมากกว่าลูกคนอื่นๆ หรือในบางครอบครัวที่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งมีลูกหลานอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคนก็อาจจะเกิดการเปรียบเทียบกันในเรื่องของการเรียนและความสามารถของเด็กๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้เด็กที่ถูกเปรียบเทียบว่าด้อยกว่าเกิดความรู้สึกน้อยใจ เก็บกดเอาไว้จนกลายเป็นความอิจฉาริษยาและรู้สึกเกลียดชังผู้อื่น
          จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีนิสัยขี้อิจฉา
          1. มีพฤติกรรมกัาวร้าว
          เด็กจะแสดงออกถึงความอิจฉาด้วยการโยเยมาก ร้องไหักรีดร้องเสียงดัง ดื้อไม่ยอมเชื่อฟัง แกล้งขัดคำสั่ง บางคนทำลายสิ่งของ ทำรัายตนเอง หรือบางคนที่อิจฉามากอาจจะแสดงออกถึงขนาดไปแกล้งคนอื่น เช่น หยิกตีน้องที่เกิดใหม่ให้ร้องไห้ ด่าว่าพี่น้องคนอื่น แอบลักเอาของไปหรือทำลายของคนอื่นเพื่อความสะใจ
         2. เจ็บป่วยบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
          เด็กบางคนที่มีความอิจฉามากๆ อาจจะมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น ไม่ค่อยมีแรง เป็นลมบ่อยๆ ปวดหัว ซึ่งมักเกิดกับเด็กที่โตหน่อย โดยเมื่อคุณพ่อคุณแม่พาไปพบแพทย์ก็จะไม่พบสาเหตุว่าป่วยเป็นอะไร ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังกรณีเช่นนี้อยู่เรื่องหนึ่ง คือมีลูกสาวอยู่ด้วยกันกับคุณพ่อเพียงแค่สองคนมาตั้งแต่เล็ก เพราะคุณแม่ของเด็กคนนี้เสียชีวิตตั้งแต่เด็กคนนี้ยังเป็นทารกแบเบาะ เมื่อเด็กคนนี้อายุได้ 10 ขวบ คุณพ่อของเขาก็แต่งงานใหม่ และหลังจากคุณพ่อแต่งงานกับแม่ใหม่ เด็กคนนี้ก็เริ่มเจ็บป่วย โดยมีอาการเป็นลมบ่อยๆ เมื่อคุณพ่อพาไปหาหมอก็หาสาเหตุไม่ได้ จนกระทั่งคุณหมอแนะนำให้คุณพ่อพาเด็กคนนี้ไปหาจิตแพทย์ ในที่สุดพบว่าเด็กคนนี้เกิดภาวะที่ขัดแย้งต่อต้านในจิตใจ เพราะรักคุณพ่อมากและอิจฉาแม่ใหม่ ซึ่งไม่อยากให้คุณพ่อรักและสนใจแม่ใหม่มากกว่าตนเอง แต่เก็บกดไม่ยอมพูดหรือแสดงออกตรงๆ จึงกลายเป็นแสดงออกมาในรูปของการเจ็บป่วยทางร่างกายแทน เพื่อเรียกร้องความรักและความสนใจจากคุณพ่อนั่นเอง
 วิธีแก้ไขหากลูกเป็นเด็กขี้อิจฉา
          1. เมื่อลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าดุ อย่าตีหรือใช้วิธีลงโทษรุนแรงกับลูก เพราะลูกจะยิ่งไม่เข้าใจและเพิ่มความอิจฉาคนอื่นมากยิ่งขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบแก้ไข ด้วยการเรียกชื่อลูกและเข้าไปกอดเพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่น่ารักเหล่านั้นก่อน เมื่อลูกสงบลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคุยกับลูกให้เข้าใจว่าแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีน้องใหม่หรือมีลูกหลายคน แต่ความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อลูกก็ยังรักเหมือนเดิมไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย
          2. ใชัเวลากับลูกให้มากขึ้น ทั้งในการพูดคุย และทำกิจกรรมด้วยกันบ่อยๆ เช่น เล่านิทานให้ลูกฟัง เล่นกับลูก เล่นกีฬาด้วยกัน ทำงานบ้านด้วยกัน พาลูกไปเที่ยวด้วยกัน เพราะการที่ครอบครัวได้มีเวลาอยู่ใกล้ชิดกันจะทำให้ลูกเกิดความอบอุ่นในจิตใจและมั่นใจในความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อเขา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีมากที่จะไม่ให้ความอิจฉาเกิดขึ้นในใจลูก
          3. เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมกับทุกคนในครอบครัว หากกำลังจะมีลูกคนใหม่ คุณพ่อคุณแม่ควรคุยให้ลูกรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าคุณแม่กำลังท้องและกำลังจะมีน้อง ให้ลูกได้สัมผัสและคุยกับลูกในท้อง ชวนลูกไปเลือกซื้อของสำหรับน้อง เช่น ผ้าอ้อม เสื้อผ้าเด็กอ่อน โดยให้ลูกมีส่วนในการช่วยเลือกข้าวของเครื่องใช้ด้วย หรือหากที่ลูกๆ โตแล้ว ควรให้พี่น้องได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เช่น ให้ช่วยกันทำงานบ้าน เล่นกีฬาคู่กัน ทำกิจกรรมเสริมนอกบ้านร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องได้ใกล้ชิดและผูกพันกันนั่นเอง
           ผู้เขียนเชื่อว่าความสุขของคุณพ่อคุณแม่ทุกคนคือการได้เห็นลูกๆ รักกัน โดยไม่มีเรื่องอิจฉาริษยากัน ซึ่งการแสดงออกถึงความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูกๆทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้นคือรากฐานสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆรู้สึกอบอุ่นและเกิดความมั่นใจในความรักที่ได้รับนั้นจนไม่ทำให้เกิดความน้อยใจจนกลายเป็นความอิจฉาริษยาผู้อื่นในที่สุด
 
 
   ที่มา:  ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดย ดร.แพง ชินพงศ์

  View : 7.97K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,695
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 4,755
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,671
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 906,349
  Your IP : 182.53.139.227