ท่าทีของวิกฤติน้ำท่วมที่เริ่มผ่อนคลายลง ผลกระทบจากน้ำไม่เพียงแต่ทรัพย์สินที่เสียหาย จิตใจของผู้คนก็ป่วยไข้เช่นกัน มหาอุทกภัยครั้งนี้ให้บทเรียนกับทุกภาคทุกหน่วยงาน ทำให้เห็นปัญหาและนำไปปรับแก้ไขในครั้งต่อไป การทำงานของกรมสุขภาพจิตในช่วงที่ผ่านมาได้สรุปบทเรียนจากการทำงานด้านการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยไว้ 10 ข้อ อันเป็นมาตรฐานของวิธีการตั้งรับกับปัญหาทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ดังนี้ 1. ตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข 2. หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ได้แก่ ความรักความผูกพันกับคนในครอบครัว ความศรัทธาทางศาสนา การมีเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า ความเชื่อว่าปัญหาจะผ่านไปแล้วมันจะดีขึ้น 3. ฝึกหายใจคลายเครียด และทักษะผ่อนคลายอื่น ๆ 4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง 5. พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว ช่วยกันปรึกษาหารือ แปลงปัญหาให้เป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันใกล้ชิดต่อกัน 6. บริหารร่างกายเป็นประจำ เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย อย่างน้อยวันละ 30 นาที วันเว้นวัน 7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา 8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน 9. ทบทวนสิ่งดี ๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน 10. จัดการปัญหาทีละขั้นทีละตอน ทำในสิ่งที่ทำได้สร้างความรู้สึกสำเร็จเล็ก ๆ จากสิ่งที่ทำ ไม่จมกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียด ความทุกข์ใจ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลักสำคัญในการเผชิญกับปัญหาและเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิต ได้จัดทำกรอบการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภัยทั้งที่อยู่ในศูนย์พักพิงและผู้ที่อยู่ในชุมชนและยังอยู่ในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม โดยการดูแลในระยะ 72 ชั่วโมงแรก หลังเกิดน้ำท่วม
ด้านนพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กล่าวว่า การทำงานด้านสุขภาพจิตของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้มีบริบทที่ต่างจากหลายพื้นที่ที่เคยไปทำงานด้านภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่โคราช หรือเหตุการณ์สึนามิหากเทียบระหว่างชุมชนชาวโคราชและคนในเขตกรุงเทพมหานคร คนในต่างจังหวัดจะเกิดความเป็นชุมชนรวมตัวได้ดีกว่า เช่น ถ้าขาดข้าวสารจะประสานงานทางผู้นำกลุ่มบริหารขอความช่วยเหลือกันเอง แต่ขณะที่คนในเขตกรุงเทพฯมีความหลากหลายสูงความร่วมมือกันมีน้อย แต่ก็พบแง่มุมดี ๆ เกิดขึ้นในกรุงเทพฯมากมาย อาทิ ในศูนย์ผู้อพยพเกิดกิจกรรมดี ๆ มีจิตอาสามาร่วมทำความดี ทั้งเล่นดนตรี ตัดผม ฝึกอาชีพ ตัดเสื้อผ้า เป็นผลพลอยได้เมื่อน้ำลดผู้ประสบภัยก็มีอาชีพติดตัวไปด้วย
การฝึกอาชีพในศูนย์อพยพเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ผู้ประสบภัยลดความเครียดได้นพ.กิตต์กวี บอกเล่าวิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยว่า นอกจากคนวัยทำงานแล้วในกลุ่มผู้สูงวัยและเด็กจะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ ในกลุ่มเด็กจะต้องมีกิจกรรมในการเล่น เพราะการเล่นคือการพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและร่างกาย ภายใต้การเล่นที่ต้องมีกรอบมีวินัยเพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะทั้งไอคิวและอีคิว อาทิ กิจกรรมเล่านิทาน แต่ปล่อยให้เด็กมีส่วนร่วม เช่น การตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กเกิดการคิด และในช่วงที่พ่อแม่ประสบวิกฤติพ่อแม่ต้องอยู่กับลูก ไม่ว่าจะเหตุการณ์น้ำท่วมหรือวิกฤติเรื่องไหนก็แล้วแต่พ่อแม่ต้องนิ่งและปลอบโยน บอกเล่ากับลูกว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง เมื่อพ่อแม่ตั้งสติได้เด็กจะรู้สึกปลอดภัย
ส่วนประเด็นของผู้สูงอายุนั้น หลักการใช้จิตวิทยาเข้าไปบรรเทาอาการเครียด คือเริ่มต้นจากการให้เกียรติท่าน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์สูญเสีย ผู้สูงอายุมักจะอาลัยอาวรณ์ ใช้วิธีรับฟัง ใช้หลักการทำความเข้าใจให้ท่านได้เล่าระบาย เพราะคนวัยนี้ผ่านประสบการณ์ ผ่านโลกมาพอควรการรับฟังท่านจะทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น ซึ่งกิจกรรมคลายเครียดที่ดีที่สุดของผู้สูงอายุคือ ใช้ธรรมะ
ด้าน ดร.นนชัย ศานติบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ในฐานะผู้ดูแลสถานที่ศุนย์กีฬาราชมังคลาฯเล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เห็นน้ำใจของจิตอาสาในศูนย์ที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มแม่ครัวของศูนย์ที่ปักหลักทำอาหารให้ผู้ประสบภัยในศูนย์กว่า 1
,500 คนได้กินครบทั้ง 3 มื้อ ถือเป็นคนที่มีจิตอาสาจริง ๆยอมรับว่าการดูแลผู้ประสบภัยที่มาอยู่นับพันคนมีปัญหาทุกรูปแบบ มีทั้งผู้ประสบภัยไม่จริงเป็นคนงานก่อสร้างมาแอบนอนเพราะเห็นว่ามีอาหารกิน มีปัญหาเมาทะเลาะวิวาท ซึ่งต้องแก้ปัญหาไปทีละขั้นให้ออกไปจากศูนย์ก็มีถ้าทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาบอกเล่าบรรยากาศของศูนย์อพยพศูนย์กีฬาราชมังคลาฯคงเหมือนกันทุกที่คือคนมานอนรวมกันในห้องใหญ่ ๆ เด็กวิ่งเล่น นั่งฟังนิทานจากพี่ ๆ จิตอาสา หรือการบรรเลงดนตรีตามมุมต่าง ๆ ของห้องแต่ที่นี่มีช่างเสริมสวยใจดีที่หลายคนเรียกว่า
เจ๊หมวย เจ้าของร้านเสริมสวย เจ๊หมวย หลังม.เอแบค มีกิจกรรมจิตอาสาที่โดดเด่นกว่าหลาย ๆ คน คือการตัดผมให้กับผู้ประสบภัย รวมทั้งการย้อมผมดำปิดผมหงอกเจ๊หมวยเล่าว่า ตัวเองชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว คิดว่าเมื่อเขาได้เสริมสวยจะทำให้รู้สึกดีไปด้วย กลับไปบ้านหลังน้ำลดจะดูเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นกิจกรรมนี้เธอคิดขึ้นมาเองและใช้ทุนรอนส่วนตัวและขอบริจาคค่าน้ำยาบ้างจากคนที่ทำไปแล้วเพื่อนำไปซื้อน้ำยาทำให้กับคนอื่น ๆ
ส่วนตัวก็ไม่ใช่คนมีฐานะอะไรมีแรงก็ช่วยแรงอยากช่วยเหลือคนเดือดร้อน อย่างน้อยน้ำใจของจิตอาสาอย่างเจ๊หมวยก็ทำให้ผู้ประสบภัยคลายเครียดจากเรื่องร้าย ๆ ได้ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของกิจกรรมที่นำไปปรับใช้ได้ในกรณีที่ต้องเปิดรับผู้ประสบภัยพิบัติในด้านอื่น ๆ ต่อไป.