ลูกเลี้ยงเดี่ยว มองไปข้างหน้าและทำให้ดีที่สุด

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

        ใช่ว่าโลกจะล่มสลายไปในวันนี้หรือพรุ่งนี้สักหน่อย...แม้จะอยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีแต่พ่อหรือแม่คอยเลี้ยงดูเพียงคนเดียวก็ตาม
ครอบครัวเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสังคม และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีครอบครัวแบบนี้มากขึ้น
        สาเหตุที่ทำให้นำมาสู่การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวคือ 1.การเสียชีวิตของคู่สมรส 2.การหย่าร้างหรือแยกทางกัน 3.มีลูกเมื่อยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเผชิญเมื่อชีวิตคู่ขาดหายไป คือการเปลี่ยนแปลงในวิธีการเลี้ยงดูลูก
        ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวคือครอบครัวที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังมี 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ระยะแรก คือ ใครคนหนึ่งเสียชีวิต หรือเกิดปัญหาความไม่เข้าใจ ความไม่ลงรอย จนเกิดความรู้สึกว่าจะไม่อยู่ด้วยกันแล้ว ระยะที่ 2 คือระยะที่ตัดสินใจหย่าร้างกัน  ระยะที่ 3 คือเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมือใหม่ ซึ่งต้องเจอกับสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องสภาพจิตใจ ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับภาระคนเดียว ปัญหาที่ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี และถูกมองด้วยทัศนคติที่ผิดๆ จากสังคมว่าเป็นครอบครัวที่ขาดความสมบูรณ์ เด็กที่มาจากครอบครัวนี้เป็นเด็กที่มีปัญหา สิ่งเหล่านี้ทำให้พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเจอภาวะเครียด หลงทาง หาทางออกไม่เจอ ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร และระยะสุดท้าย ระยะที่ 4 คือช่วงที่ผ่านพ้นวิกฤตปัญหามาได้ สามารถเลี้ยงลูกได้ตามลำพังเกิดเป็นครอบครัวใหม่ เป็นกระบวนการที่สามารถทำให้พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวฝ่าวิกฤตและเข้มแข็งมากขึ้นในการดูแลครอบครัว หัวใจสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีความเข้มแข็ง
          มาพูดคุยกับ “ลูกเลี้ยงเดี่ยว” ที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนและเป็นความภูมิใจของครอบครัว ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์และทัศนะต่างๆ ที่ผ่านมาของตัวเองให้รับรู้กันว่า ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวไม่ได้แตกต่างจากครอบครัวทั่วไปเลย สามารถมีความสุขได้อย่างปกติ
        พัฒนาการของลูกในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวกับครอบครัวทั่วไปเหมือนกัน ลูกที่อยู่ในสภาวะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความรู้สึกและความต้องการคือ ให้สังคมมองอย่างเข้าใจ

heartลูกสาวเลี้ยงเดี่ยวheart
         กานต์สิรี พรหมพิริยะสิริ นิสิตปี 1 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เติบโตมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว มีเพียงคุณแม่ที่คอยเลี้ยงดูเธอและน้องสาว โดยปัจจุบันเธอบอกว่า ต้องมุมานะในการเรียนที่หนักเพิ่มขึ้น
        “ถ้าเทียบกับตอนเรียนมัธยมฯ ก็รู้สึกว่าหนักขึ้น ต้องทุ่มเทในการอ่านหนังสือมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะสังคมการเรียนที่จุฬาฯ ทุกคนตั้งใจเรียน ต้องทำตัวให้ขยันมากขึ้น ตัวหนูเองจะนึกถึงครอบครัวเป็นหลัก แม่ ยาย และน้องจะเป็นคนที่สำคัญที่สุด เวลาจะทำอะไรหนูก็จึงนึกถึงพวกเขาก่อน เวลาที่จะเหลวไหลก็พยายามดึงตัวเองกลับมาว่ามีครอบครัวของเราอยู่ พยายามทำตัวดีๆ ตั้งใจเรียนหนังสือ”
           เธอเล่าว่า อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็ต้องมีความตั้งใจมากกว่าปกติ  “ต้องหันมาดูตัวเองว่า เรามีสิทธิที่จะเลือกที่จะทำอะไรในสิ่งที่เราเห็นว่าดี เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีสมาชิกที่ครบสมบูรณ์ กับเพื่อนๆ หนูก็เล่าเรื่องให้เขาฟัง เขาก็ไม่เห็นว่าอะไร ทำตัวตามปกติ อยู่ที่ตัวของเราเองในการเลือกว่าจะทำสิ่งใด ดูจากข่าวหรือละครที่พ่อแม่แยกทางกันแล้วทำตัวมีปัญหาใช้ชีวิตเสเพล การที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี ไม่ถึงขั้นพร่อง เป็นเพียงแค่จุดหนึ่งแต่ก็ไม่สมควรทำให้เป็นไปในทางที่แย่ ควรที่จะทำตัวให้ดีขึ้นหรือเอามาเป็นแรงผลักดันตัวเองแทน”
ความโชคดีของกานต์สิรีนั้น เธอได้คุณยายมาช่วยเลี้ยงตั้งแต่เด็ก “ประมาณ 3 ปีที่แล้ว ยายต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาโรคไต หนูกับน้องและลูกพี่ลูกน้องก็ช่วยกันดูแลยาย เพราะยายก็เลี้ยงหนูกับน้องมาซึ่งก็ซนเหมือนกัน แม้คุณยายจากไปแล้วก็ยังคิดถึงอยู่เสมอ หนูกับน้องสาวก็สนิทกันมาก เพราะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน ก็พยายามเติมเต็มให้น้อง พยายามเข้าใจน้องให้มากขึ้น เพราะเขายังอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นเรียนอยู่ ม.ต้น”
กานต์สิรี บอกว่า ภูมิใจที่มาถึงจุดนี้ได้ สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ ในด้านอาชีพที่วางไว้ เพิ่งเริ่มเรียนก็ยังไม่มั่นใจ เพราะไปได้หลากหลาย ถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี
“อยากฝากไปยังรุ่นน้องๆ ที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวว่า สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดให้มองที่ครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เราเดินไปในทางที่ดี หนูคิดว่าการทำดีเพื่อครอบครัวก็เหมือนกับการส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จ ต้องคิดบวกและไม่ต้องคิดถึงอดีต เดินหน้าต่อไปเพื่อครอบครัวของเราเอง”
         ทางด้านคุณแม่คณาวรรณ พรหมพิริยะสิริ มองว่า ที่ผ่านมาลูกสาวก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้มีปมอะไร เขารู้ว่าแม่ดูแลเขาคนเดียว
“เพราะมองแล้วเขามีแรงผลักดันในตัวเองค่อนข้างเยอะ เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนเพื่อจะมาเป็นกำลังให้กับครอบครัวอีกคนหนึ่งในอนาคต เขาจะมีแรงขับตรงนี้อยู่มาก เป็นแรงบวกที่ทำให้เขาก้าวกระโดดและประพฤติตัวดี มีความพยายามหลายๆ อย่างในการมองไปข้างหน้า ทั้งการดูแลตัวเอง ช่วยเหลือแม่บ้าง โดยเฉพาะในการตั้งใจเรียนทำให้แม่ภูมิใจ หรือทำให้แม่ดีใจไม่ว่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดเขาจะมีความสุข
“ในความรู้สึกของเขากับคุณพ่อก็ยังดีกับเขาอยู่ ก็ประคับประคองกันมา โชคดีที่เรามีคุณยายคอยช่วยดูแลอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งคอยกล่อมเกลาทำให้ลูกเป็นคนดี ทำให้เขาเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อคนสูงอายุ เป็นมรดกที่คุณยายทิ้งไว้ให้เลยตรงจุดนี้”
       จากประสบการณ์ลูกสาวเลี้ยงเดี่ยวของกานต์สิรี ทำให้รู้ว่าการมีทัศนคติในด้านบวกให้มากๆ สร้างแรงกระตุ้นในตัวเอง มีจิตสำนึกต่อครอบครัว ความสำเร็จในชีวิตนั้นอยู่ไม่ไกลเกินความพยายาม

  heartลูกชายเลี้ยงเดี่ยวheart
         ว่าที่ ร.ต.ธำรงค์พนธ์ มนตรีธนสาร ลูกชายเลี้ยงเดี่ยวของ นินธยาน์ มนตรีธนสาร ผู้บริหารชมรมเครือข่ายครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (กรุงเทพมหานคร) เล่าว่า ชีวิตของเขาไม่มีปัญหาเลยกับการเติบโตมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
“ผมคิดว่าก็เหมือนปกติ ใช้ชีวิตไปอย่างไม่มีปัญหาอะไร ไม่รู้สึกว่าขาดอะไร หรือกลับบ้านมาก็ต้องร้องไห้ ไม่ใช่แบบนั้น”
ความสำเร็จของเขาก็คือ เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หลังจากเรียนจบสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธำรงค์พนธ์ ให้แนวคิดว่า
“ไม่ว่าคุณจะอยู่กับพ่อหรือแม่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เขาเป็นคนที่รักคุณมากที่สุดแล้วในตอนนี้ ไม่ต้องสนใจว่าอีกคนไปทำอะไร เพราะเขาก็ยังเป็นพ่อหรือแม่ของคุณอยู่ ก็อย่าไปโกรธเขา ใช้ชีวิตให้เป็นตัวคุณมากที่สุด อย่าไปเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ให้มองปัจจุบันและอนาคต”
ทางด้านคุณแม่คือ นลินธยาน์ มนตรีธนสาร ซึ่งเป็นแม่ที่เลี้ยงลูก 2 คนเพียงลำพัง หลังจากสามีเสียชีวิตไปเมื่อปี 2536 เธอบอกว่า
“ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การสื่อสารเปลี่ยนไป กระแสข่าวสารจึงรับรู้ได้เร็วขึ้น ทำให้คนเข้าใจเด็กในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งก็เป็นการเข้าใจในระดับหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด”
เธอบอกว่า ลูกทั้งสองคนของเธอเรียนจบและทำงานแล้วทั้งสองคน ตั้งแต่กลายเป็นครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้มองเลยว่าครอบครัวมีปัญหา แต่คนอื่นกลายเป็นมองว่ามีปัญหา คือเราก็ทำความเข้าใจกับลูกว่าครอบครัวไม่ได้มีปัญหานะ ก็คอยถามคอยคุย มีบางครั้งที่เขาได้ไปเจอเพื่อนหรือคุณพ่อของเพื่อน เขาก็กลับมาถาม ซึ่งก็ถามกลับไปว่ามันมีปัญหากับการดำเนินชีวิตของเราไหม? ในการขาดอีกคนไปในครอบครัว ซึ่งต้องกลับมานั่งถามกันว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เราแก้ได้ไหม มีทางออกอื่นไหมที่จะมาทดแทนปัญหา ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวต้องมีปัญหาแบบนี้เท่านั้น
“เด็กไม่มีความแตกต่างกัน แต่ผู้ใหญ่เป็นคนที่ทำให้แตกต่าง ใส่ปัญหาเข้าไปให้เด็กเห็น วิธีการแก้ปัญหาของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไปบ้าง เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่พ่อหรือแม่ต้องทำงานเพียงคนเดียว เรื่องของเวลาในการดูแลลูก เป็นวิธีการบริหารจัดการในครอบครัวไปอีกแบบ ทุกๆ อย่างรอบตัวเป็นการเรียนรู้ได้ทั้งหมด ถ้าสังเกตดูเด็กหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จก็มาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมิใช่น้อย แต่คนภายนอกเพียงมองแต่ปัญหาที่คิดว่าจะมี ซึ่งอาจจะเป็นข้อกังวลของสังคมด้วยที่กลัวไปก่อน”
นลินธยาน์ บอกว่า ชีวิตต้องเดินต่อไปข้างหน้า ถ้ามัวแต่อยู่ที่เดิมนั้นไม่ได้ เพราะลูกของเราก็ต้องโตไปเรื่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยของเขา
“อย่างลูกดิฉันไม่เรียนพิเศษ ก็คุยกับลูกดูว่าอะไรที่สำคัญกว่า แล้วบริหารที่ตรงนั้น มีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเรื่อยๆ ให้คอยแก้”
หรืออย่างช่วงวันพ่อวันแม่ ที่เป็นกรณีคลาสสิกของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในการทำความเข้าใจกับลูก เพราะมีการคล้องพวงมาลัยให้กับพ่อหรือแม่ที่โรงเรียนกันเป็นประจำทุกปี
“ดิฉันไม่มองว่าเป็นปัญหา ต้องปลุกจิตสำนึกของลูกและสร้างภูมิต้านทานว่า เราไม่ได้เป็นครอบครัวที่พร่อง เป็นครอบครัวปกติ แต่สถานการณ์ทำให้เป็นแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจและอยู่กับมันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ความทุกข์ของเรา เพราะคนเราเลือกได้ว่าจะอยู่กับทุกข์หรือจะอยู่กับสุข เลือกที่จะเดินไปข้างหน้า และความทุกข์เป็นสิ่งที่เป็นไปแล้วและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจกับลูกให้เขามั่นใจถึงแม้ไม่มีพ่อแม่มาในวันนั้น
“ในสังคมปัจจุบัน ส่วนมากเวลาเด็กทำผิดก็มักจะพูดว่าเพราะมันไม่มีพ่อไง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกเลย เป็นข้ออ้างของคนที่ปัดความรับผิดชอบ ทั้งหมดอยู่ที่วิธีการเลี้ยงดูและอยู่ที่วิธีการปลูกฝังความคิด ต้องสร้างภูมิต้านทานทางความคิดและอารมณ์ให้เขามั่นคง เพราะมันจะส่งผลต่อครอบครัวของเขาในอนาคต ในวันที่เราไม่อยู่แล้ว ต้องเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะดูแลลูกเสมอเมื่อต้องอยู่ในสถานะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ลูกยิ่งเล็กๆ ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้มาก ต้องมีวิธีจัดการโดยเน้นการป้องกันปัญหาจะไม่เกิด ถ้าลูกเราเข้มแข็งก็ผ่านจุดนั้นไปได้”
บทเรียนความสำเร็จและหลักคิดสำคัญที่สามารถนำไปเป็นแนวทางของลูกเลี้ยงเดี่ยว จากกรณีของลูกสาวเลี้ยงเดี่ยวและลูกชายเลี้ยงเดี่ยวทั้งสองข้างต้นที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา ได้ช่วยกันสะท้อนสภาพปัญหา อารมณ์ความรู้สึกของสภาวะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวได้ชัดเจน เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตว่ามีวิธีการที่จะดำเนินชีวิตครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวอย่างไรให้มีความสุข และช่วยให้สร้างกำลังใจแก่ครอบครัวที่ยังอยู่ในภาวะที่ต้องการแรงใจและพลังให้พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้

 
 
ที่มา :โพสต์ทูเดย์


  View : 7.95K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 956
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 5,808
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 42,525
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 835,176
  Your IP : 72.14.201.154