กรมสุขภาพจิต จัดงานเนื่องในวันออทิสติกโลก เปิดโอกาสให้เด็กร่วมกิจกรรม “ปลูกป่าชายเลน” พร้อมรณรงค์ให้สังคมตระหนัก เข้าใจ และร่วมมือกันส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กออทิสติก มอบนโยบายให้หน่วยงานเร่งพัฒนาความพร้อมของบุคคลออทิสติกในการเข้าสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง พร้อมเน้นย้ำให้ พ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตบุตรหลาน หากพบสัญญาณเตือน “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” ให้รีบพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัย หากได้รับการบำบัดฟื้นฟูในช่วงเด็กอายุ 2 – 5 ปีแรก ให้ผลดีต่อการพัฒนาสมอง ทำให้เด็กสามารถมีชีวิตปกติแบบคนทั่วไปได้ดี
วันนี้ (1 เมษายน 2561) ที่ศูนย์ธรรมชาติศึกษากองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินีนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักเนื่องในวันออทิสติกโลก (Autistic Awareness Day) ประจำปี 2561 จัดโดยโรงพยาบาล (รพ.) ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักของสังคมเกี่ยวกับการดูแลบุคคลออทิสติก ซึ่งเน้น ยอมรับ เข้าใจ ก้าวไปด้วยกัน โดยมีการฉายภาพยนต์สั้นเรื่องเปิดโลกออทิสติก จัดนิทรรศการรักษ์โลก รักออทิสติก การแสดงบนเวทีโดยเด็กออทิสติก และได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ที่บริเวณป่าชายเลน ที่ศูนย์ธรรมชาติฯ โดยมีผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จำนวน 60 ครอบครัว บุคคลออทิสติกจากโครงการฝึกทักษะทางสังคมและอาชีพแก่ผู้ป่วย กลุ่มอาการออทิซึมสเปคตรัม 40 คน บุคลากรรพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม 300 คน
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก ในปีนี้เน้นการรณรงค์ส่งเสริมพลังครอบครัวในการดูแลเด็กออทิสติก ให้เปิดใจยอมรับโดยไม่มองว่าเด็กเป็นส่วนเกินของครอบครัวและสังคม ขณะเดียวกันก็พร้อมทุ่มเทและสู้ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสในการรักษา และการเพิ่มพื้นที่ในสังคมให้กับเด็ก ทำให้เด็กออทิสติกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทั้งนี้จากการสำรวจของสมาคมออทิสติกแห่งชาติ (The National Autistic Society) ประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่เพียงร้อยละ 16 ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยออทิสติกถูกจัดว่าเป็นแรงงานไม่มีความชำนาญ จึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อยและมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน สำหรับประเทศไทยพบบุคคลออทิสติกไม่ถึง 100 คน มีงานทำ มีรายได้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนได้เปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติก ได้มีที่ยืนในสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งเป็น รพ. ในสังกัดที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านออทิสติก ดำเนินการพัฒนาความพร้อมของบุคคลออทิสติกในการเข้าสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง ส่งเสริมการใช้ความสามารถ การมีงาน มีรายได้ และพึ่งพาตนเอง เพื่อลดภาระและเพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติกและครอบครัว
ทั้งนี้เด็กที่ป่วยโรคนี้หากตรวจพบและรับการบำบัดในช่วงก่อนอายุ 5 ปี จะได้ผลดีต่อการส่งเสริมให้เด็กสามารถ ใช้ชีวิตปกติแบบคนทั่วไป ทั้งนี้จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพระบบบริการกรมสุขภาพจิต ในช่วงพ.ศ.2560-2564 สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาในเด็กออทิสติก อายุ 2 – 5 ปี จากร้อยละ 8.51 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 35.12 ในปี 2560 ตั้งเป้าภายในพ.ศ. 2564 จะเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้นเพื่อให้เด็กออทิสติกได้รับโอกาสดีๆจากสังคมจากการถึงบริการเพิ่มขึ้น จึงขอให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง สังเกตลูกวัย 2 – 5 ขวบ หากพบว่าเด็กมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” ขอให้นึกถึงโรคออทิสติก และให้นำเด็กเข้ารับการตรวจคัดกรองที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง รวมทั้งสามารถขอรับคำปรึกษาแนะนำที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทางด้านแพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า “ออทิสติก” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม ในไทยพบเด็กออทิสติกกลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี 1 ต่อ 161 คน คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน ระดับความรุนแรงของโรคแต่ละคนไม่เท่ากัน ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนที่พบมีความเป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพหรือเล่นดนตรี , ร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำที่ระดับน้อยถึงปานกลาง และอาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย แต่สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้ ,ส่วนที่เหลือต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยการบำบัดรักษาต้องผสมผสานทั้งด้านการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพ การมีงานทำ และการอยู่ร่วมกันในสังคม
เด็กที่เป็นโรคออทิสติก จะมีลักษณะโดดเด่นสำคัญคือ เด็กไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น พูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทั้งวัน ไม่บอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบมองวัตถุที่หมุนตลอดเวลา
*************************************** 1 เมษายน 2561