สัญญาณเตือนคุณเป็นพ่อแม่เข้มงวดเกินไป

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
           หากลูก 4 ขวบงอแงไม่ยอมทานอาหาร คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการจัดการกับลูกอย่างไร ใช้วิธี Time Out (ให้ออกไปนั่งสงบๆ) หรืองดของรางวัลที่สัญญาว่าจะให้ หรือในกรณีลูก ป.5 เรียนหนังสือไม่เก่ง และไม่ยอมทำการบ้าน คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีงดรายการทีวีที่ลูกชอบหรือไม่ยอมให้ลูกเล่นเกมโปรด หรือในกรณีที่ลูกวัยรุ่นกลับบ้านดึกหลังเวลาที่กำหนด คุณพ่อคุณแม่มีวิธีการจัดการกับลูกอย่างไรบ้าง
          จะเห็นได้ว่าการจัดระเบียบวินัยในครอบครัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่จะมีวิธีการใดบ้างที่จะบอก ได้ว่าเราเริ่มเข้มงวดกับลูกมากเกินไปแล้ว ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่มักค่อนข้างเข้มงวด และเน้นเรื่องการเชื่อฟัง ถ้าบอกให้มาต้องมาเดี๋ยวนี้ แต่การกระทำอย่างนั้นอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ลูกอาจเครียดหรือไม่มีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจ บางครั้งลูกรู้สึกว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถชนะได้ และนั่นจะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกความเชื่อมั่นและความพยายามของลูก เพราะปกติลูกต้องการทำให้พ่อแม่พอใจ และต้องการกำลังใจจากพ่อแม่
        เรามาดูกันว่าสัญญาณเตือนว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไปนั้นมีอะไรบ้าง
         1. มีกฎเกณฑ์มากเกินไป จนกระทั่งบางทีเราก็ไม่สามารถจดจำกฎเหล่านั้นได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณแล้วว่าเราเป็นคนที่เข้มงวดเกินไป แทนที่จะตั้งกฎเกณฑ์อะไรมากมายนั้น ก็ให้มีกฎน้อยข้อแต่สามารถปฏิบัติได้จริงจะดีกว่า โดยให้ฝึกทำเป็นประจำและสม่ำเสมอกับกฎเหล่านั้น จะเป็นการสบายใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
         2. คำพูดของคุณพ่อคุณแม่เกินความจริง เช่นถ้าดื้ออย่างนี้เดี๋ยวจับโยนออกนอกหน้าต่าง หรือเดี๋ยวแม่จะทิ้งของเล่นของหนูให้หมดเลย และถ้าลูกพูดว่าเอาเลยแม่ จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ เพราะเราไม่สามารถทำได้จริง ซึ่งยิ่งทำให้คำพูดของเราไม่มีความหมายและยากต่อการลงวินัยในคราวต่อไป ดังนั้น ให้เราคิดให้ดีก่อนพูด
         3. กฎของคุณพ่อคุณแม่เกินขอบเขตของการเป็นพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับโรงเรียน การปฏิบัติตัวต่อเพื่อน หรือกฎของความปลอดภัยได้ แต่ไม่ควรจำกัดกฎส่วนตัวบางอย่างของลูก เช่น ให้ลูกเลิกฟังเพลงที่ลูกชอบ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวที่ไม่ควรก้าวก่ายกัน เราควรเคารพในกติกาของทุกคน แต่ใช้วิธีคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
         4. มีความรักที่มีเงื่อนไขกับลูก แม่อาจใช้คำพูดว่า “แม่รักลูกนะ แต่แม่ไม่อยากให้ลูกมีความประพฤติอย่างนี้” หรือพูดว่า “พ่อเชื่อว่าลูกทำได้ดีกว่านี้” อย่าพูดว่า “ลูกเป็นเด็กเหลือขอจริงๆ ถ้าลูกทำสิ่งนี้ไม่ได้” ถ้าเราทำอย่างนั้นเรากำลังทำให้ใจลูกแตกสลาย
         5. ไม่ทำตามที่พูด มีวิธีการพูดที่ไม่ตรงกับความหมาย หรือใช้น้ำเสียงที่บอกความเป็นนัย เนื้อหาของสิ่งที่เราพูดมีความหมายมากกว่าคำพูดที่เราพูดออกไป
         6. อย่าบังคับด้วยเวลา ถ้าเราขอให้ลูกทำอะไรที่ยาก อย่าจำกัดด้วยเวลา เพราะนั่นจะทำให้ลูกเครียด แต่ให้ใช้วิธีทำไปด้วยกันกับลูก
        7. เราชอบกระแนะกระแหน ควบคุม และย้ำเตือนความผิดพลาดประจำบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ไม่สมควรทำในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
        8. ลูกเริ่มถอยห่างความสัมพันธ์ หากลูกเริ่มพูดโต้แย้งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยลงทุกทีๆ อาจเป็นสัญญาณว่าเราเข้มงวดเกินไป หรืออาจเปรียบเปรยได้ว่า “เราอาจชนะการสู้รบแต่เราแพ้สงคราม” ลูกอาจทำในสิ่งที่เราต้องการแต่ลูกจะไม่เปิดเผยหรือบอกให้เราทราบเมื่อเวลาเราไม่สบายใจหรือมีปัญหา
        9. ลูกไม่อยากชวนเพื่อนมาบ้าน บ้านจำเป็นต้องมีกฎและลูกจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีกฎเหล่านั้นด้วย แต่หากคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาเตือนเรื่องกฎต่างมากๆ เกินไป หรือวิพากษ์วิจารณ์ลูกต่อหน้าเด็กอื่นลูกจะรู้สึกอึดอัด และไม่อยากชวนเพื่อนมาบ้านเพราะอาย และบ้านไม่เป็นที่น่าอยู่อีกต่อไป
        10. ลูกเริ่มทำหูทวนลม หากลูกเริ่มไม่สนใจสิ่งที่เราพูด ทำหูทวนลม นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน เราต้องให้โอกาสลูกแสดงความคิดเห็น ไม่จำเป็นที่เราต้องเห็นด้วยกับลูก แต่เคารพในกฎ ในสิทธิของแต่ละคน
         11. ให้ลูกเอาแต่เรียน เรียน เรียนไม่มีเล่นเลย เด็กๆ จำเป็นต้องมีทุกอย่างๆที่สมดุล ทั้งเล่นทั้งเรียน สมองจะทำงานได้ดีถ้ามีทั้งอย่างเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
        12. เป็นพ่อแม่เผด็จการ ลองดูหรือปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นว่าทำเหมือนกับเราไหม เช่นถ้าหากไม่ยอมให้ลูกเข้าอินเตอร์เน็ตเลยทั้งๆ ที่มีคุณพ่อคุณแม่คุมอยู่ นั่นอาจหมายถึงว่าเราเข้มงวดเกินไปแล้วก็ได้
        13. ห้ามทุกอย่าง กลัวไปหมด ไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนให้ทำแต่ยังห้ามอีก แทนที่จะพูดว่า ถ้าเป็นได้แม่ไม่อยากให้เล่นแต่ถ้าลูกต้องการเล่นจริงๆ ต้องอยู่ในการควบคุมและในสายตาของแม่
        14. กฎคือกฎห้ามถาม เราควรมีกฎที่ชัดเจน สม่ำเสมอ ปฏิบัติได้เพราะจะช่วยให้ลูกรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้หากไม่ทำตาม แต่กฎต่างๆ ควรยึดหยุ่นได้ ไม่ใช่กฎคือกฎห้ามถาม เพราะเมื่อไหร่ที่มีปัญหาลูกสามารถขอความช่วยเหลือได้
        15. เป็นพ่อแม่ที่มีเหตุผลไม่ใด้ใช้แต่อำนาจ พ่อแม่ที่ใช้แต่อำนาจต้องการชนะและไม่ยอมฟังเหตุผล ควบคุมตลอดเวลา ส่วนพ่อแม่ที่มีเหตุผลจะเข้าใจและให้โอกาสลูกเสมอ เดินเคียงข้างลูกตลอดไป
        16. เย็นชาเหมือนน้ำแข็ง การเป็นพ่อแม่ที่ดีควรมีความอบอุ่น แต่มั่นคง ไม่ใช่เยือกเย็น ใจร้าย    
        รากฐานของครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญ กว่าจะเลี้ยงลูกแต่ละคนให้เติบโตไปในทางที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย กฎที่หละหลวมเกินไป หรือเข้มงวดจนเกินไป ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้น กฎในครอบครัวควรมีความเหมาะสม และสมดุล เพื่อเราจะได้ลูกที่น่ารัก และครอบครัวที่มีความสุขตลอดไป เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ
 
          ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์      
 


  View : 9.21K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 772
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 3,832
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 23,748
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 905,426
  Your IP : 193.186.4.163