สื่อทีวี-ไอที ภัยร้ายต่อเด็ก

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันราชานุกูล

    ทีวีและสื่อไอทีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กไทยหลายคน ที่หมดเวลาไปกับมันวันละหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเนื้อหามีแต่ความรุนแรง ไม่สร้างสรรค์ ก็น่าเป็นห่วงพฤติกรรมเด็กที่บริโภคสื่อเหล่านี้

     นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ปกครองควรจำกัดเวลาการดูทีวี เล่นเกม อินเทอร์เน็ต เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรให้ดูทีวีเลย เพราะดูก็ไม่รู้เรื่อง ทำให้เด็กพูดช้า ไม่พัฒนาสมอง ส่วนเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ ควรมีการกำหนดเวลา เน้นเนื้อหาที่เหมาะสม และควรใช้เวลากับสื่อผ่านหน้าจอทุกชนิดไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน เนื้อหาบางเรื่องพ่อแม่ต้องดูด้วยและให้คำแนะนำเพราะเด็กไม่เข้าใจว่า อันไหนเป็นเรื่องจริง หรือไม่จริง  สมควรหรือไม่สมควร

  เด็กจะชอบเลียนแบบ   เช่น ท่าเต้นในทีวี แต่ถ้าในทีวีมีฉากตีกัน ฆ่ากันมาก ๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เด็กอยากทำ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งอันตรายมาก เพราะเนื้อหาในปัจจุบันไม่ได้มีการมุ่งเน้นเรื่องการทำดี หรือเน้นการออกกำลังกาย แต่ผู้ประกอบการไปเน้นว่าทำอย่างไรให้มีรายได้ดี มีกำไร แต่ส่งผลเสียต่อเด็ก ดังนั้นรัฐบาลควรออกระเบียบควบคุมเนื้อหารายการต่าง ๆ มากขึ้น แม้แต่การเล่นเกมก็ต้องมีการควบคุมว่าอายุเท่าไหร่ให้เล่นได้ หรือเล่นไม่ได้ หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม อนาคตปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดผลเสียกับเด็กรุ่นหลัง ตอนนี้ค่านิยมเด็กเสียหมดแล้ว เรื่องการทุจริตก็เห็นเป็นเรื่องปกติไปหมด เพราะเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่ได้โทษสื่อเพียงอย่างเดียวนะ แต่รวมถึงสังคม การเมือง การศึกษา ทุกอย่างไปหมดเลย  หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป อนาคตประเทศก็จะมีปัญหา

ตอนนี้รายการต่าง ๆ ในทีวีเป็นแอ๊คชั่นหมด เด็กก็ไม่เข้าใจ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องดูและอธิบายด้วย  ส่วนเนื้อหาที่มีความรุนแรงควรเผยแพร่เมื่อเด็กนอนแล้ว แต่บังเอิญเวลาที่ละครสนุกจะอยู่ตอน 2 ทุ่มกว่าซึ่งเด็กยังไม่นอน ความจริงผู้ใหญ่ก็ดูอยู่กับเด็ก แต่ผู้ใหญ่ไม่เคยแนะนำว่าอันนี้สมควรหรือไม่สมควรอย่างไร และไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่น่าห่วง ผู้ใหญ่บางคนดูแล้วก็อาจเกิดพฤติกรรมเลียบแบบตัวละครเหมือนกันโดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือมีปัญหาครอบครัว

ถ้าไปดูผลการศึกษาในต่างประเทศเด็กที่มีปัญหาติดยาเสพติด  จะพบว่า พ่อแม่ไม่เคยสอนตั้งแต่ก่อนวัยรุ่น ถ้ามาสอนตอนวัยรุ่นเขาคงไม่ฟัง เพราะไปฟังเพื่อนมากกว่า บ้านไหนสอนไว้ก่อนตั้งแต่เด็ก เวลาเพื่อนชักชวนจะไม่คล้อยตาม เหมือนคอมพิวเตอร์ใส่โปรแกรมไว้ก่อน เวลาใครจะเปลี่ยนโปรแกรมใหม่มันก็ยาก สมองคนเราก็เหมือนคอมพิวเตอร์ เครื่องอาจจะไม่เร็ว แต่ถ้าใส่โปรแกรมดีก็ทำงานได้มาก ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาช้าไป เราไปแก้ตอนวัยรุ่น เราต้องแก้ก่อนจะถึงวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ก็เช่นกัน ถ้าพ่อแม่สอนว่าควรจะปฏิเสธอย่างไร ปัญหาก็ไม่มี

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สื่อผ่านหน้าจอบ้านเราไม่ว่าจะเป็นทีวี คอมพิวเตอร์ เกม อินเทอร์เน็ต  ยังควบคุมเนื้อหาน้อย เพราะมีภาพการแสดงออกถึงความรุนแรงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เช่น ถ้าไปแถวสแกนดิเนเวีย รายการโทรทัศน์ตอนเย็นก่อน 4–5 ทุ่มจะไม่ค่อยสนุก แต่บ้านเรายังมีภาพของการต่อสู้ ฆ่ากันตาย ข่มขืนถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าไม่มีฉากเหล่านี้หนังหรือละครก็ไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น จึงต้องมีฉากเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเด็กดูจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีความเปราะบางในตัวเอง

เด็กที่มีความเปราะบางคือ สามารถทำให้พฤติกรรมเบี่ยงเบนได้ง่าย เช่น เด็กมีปัญหาทางสมอง ระดับสติปัญญาต่ำ มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นโรคออทิสติก รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว พ่อแม่ไม่ได้ดูแลให้ความอบอุ่น ไม่มีใครให้คำแนะนำ เด็กเหล่านี้ก็จะเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมความรุนแรงที่แสดงให้เขาเห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะผ่านทางสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต หรือเกมทั้งหลาย

เด็กทุกวันนี้ใช้เวลากับสื่อหน้าจอทุกชนิดเฉลี่ยประมาณ 4 ชม.ต่อวัน ถือว่าเยอะมาก บางคนใช้มากกว่าเวลากิน เวลานอน และเวลาเรียนด้วยซ้ำ สื่อเหล่านี้หล่อหลอมเด็กวันต่อวันมันก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กซึ่งเห็นได้ชัดเจน  ดังนั้นผู้ปกครองควรจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีเขตปลอดหน้าจอ โดยเฉพาะบริเวณห้องนอน โต๊ะอาหาร และควรมีกิจกรรมดี ๆ เช่น การเล่นกีฬา  ดนตรี ศิลปะ พ่อแม่สามารถสร้างกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกับเด็กได้

ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมที่เด็กเลียนแบบได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทุบ ตี ทำร้าย พฤติกรรมทางเพศ มันเป็นสัญชาตญาณ เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมันง่ายที่เด็กดูแล้วเลียนแบบ โดยเฉพาะเด็กที่มีความเปราะบาง ดังนั้นรายการหรือเนื้อหาที่มีความรุนแรงควรไปอยู่ในเวลาที่เด็กเข้านอนแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ เพราะมีผลต่อธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการก็ต้องมาทบทวนตัวเอง และไม่ใช่ผู้ประกอบการอย่างเดียว ครอบครัวก็ไม่เห็นความสำคัญเช่นกันคิดว่าดูแล้วไม่เป็นอะไร ดูไปเถอะ ไม่เดือดร้อน มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ความจริงผู้ประกอบการจะทำได้เมื่อทุกคนต้องการให้เขาทำ  แต่ถ้ายังไม่ต้องการดูละครสนุกหลัง  4 ทุ่ม อยากดูตั้งแต่ 2 ทุ่มครึ่งอย่างนี้ก็ไม่มีทางสำเร็จ.


นวพรรษ บุญชาญ

ขอขอบคุณที่มา http://www.dailynews.co.th/article/1490/164522


  View : 3.49K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 995
 เมื่อวาน 2,262
 สัปดาห์นี้ 6,304
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 26,220
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 907,898
  Your IP : 3.135.201.101