สุขภาพจิตของคน 4 ช่วงวัย

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
            ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เป็นที่น่าฉงนว่าทำไมคนในโลกกลับมีความสุขน้อยลง มีปัญหาในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น มีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นกับสังคมไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งสังคมยังเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อให้เทียมหน้าเทียมตากันจนในที่สุดก็เกิดความแตกแยก แบ่งฝ่ายกันได้ง่าย ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีต้นตอมาจากกิเลส ความโลภ และอำนาจของคน
             ฉะนั้นสถาบันครอบครัวจึงเป็นสถาบันแรกที่ต้องหล่อหลอมและพัฒนาคนในครอบครัว ให้เป็นบุคคลอันพึงประสงค์ของสังคมควบคู่ไปกับการมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งรู้ทันโรคฉบับนี้ก็ได้นำเอาสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิตของคนในแต่ละช่วงวัยมาเตือนให้รู้ไว้ เพื่อจะได้ป้องกันการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ


      สภาพจิตของเด็ก
เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาแตกต่างกัน เด็กวัยนี้จะโกรธง่ายเมื่อเวลาที่ไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และจะแสดงออกด้วยการร้องไห้ ก้าวร้าว อาละวาด ดิ้นกับพื้น ส่งเสียงดัง ทุบตีสิ่งของต่าง ๆ เด็กจะรักบุคคลที่สามารถตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ โดยจะแสดงอารมณ์รักอย่างเปิดเผย เช่น การกอดบุคคลหรือสิ่งของที่รัก เด็กจะอยากรู้อยากเห็น ชอบซักถาม ถ้าหากซักถามผู้ใหญ่แล้วได้รับการตอบสนองที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้ความอยากรู้อยากเห็นลดลงน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกันเด็กจะร่าเริงแสดงอาการปรบมือ กระโดด ยิ้ม ดีใจ ก็ต่อเมื่อเขาได้รับการตอบสนองตามที่ตนเองต้องการทันเวลา เด็กจะขี้อิจฉาริษยา เมื่อรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น หรือกำลังสูญเสียความสนใจที่ตนเองเคยได้รับถูกแบ่งปันให้บุคคลอื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอารมณ์ของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูและสภาพอารมณ์ของพ่อแม่ที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมซึ่งการเลี้ยงดูลูกโดยทางสายกลางเป็นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่เข้มงวดจนเกินไป และควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เลียนแบบ

      สภาพจิตของวัยรุ่น
ช่วงวัยนี้จะเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งในทางชีวะ สรีระ และจิตวิทยา โดยช่วงเวลานี้จะเป็นเวลาที่คนเรามีความใฝ่ฝันทะเยอทะยาน และมุ่งมั่นในการสร้างจุดมุ่งหมายให้กับชีวิตของตนเอง ถือเป็นระยะเริ่มแรกที่คนเริ่มมองหาอาชีพการงานของตนในอนาคต แสวงหารูปแบบของตนเองในแง่มุมต่างๆ เช่น เรื่องของค่านิยม ภาพพจน์ของตนเอง กล้าลองกล้าเสี่ยงเพราะถ้าหากล้มเหลวก็ถือเป็นบทเรียน โดยวัยนี้จะเริ่มเลือกรูปแบบของชีวิตที่ตนพึงพอใจ ติดเพื่อนหรือภาวะแวดล้อมทางสังคม มีหน้าที่การงานเข้ามามีบทบาทแทนที่ครอบครัว และจะยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเองจนกระทั่งกลายมาเป็นเหตุของความขัดแย้ง ความคับข้องใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่อารมณ์ของเด็กวัยรุ่นเป็นผลสืบเนื่องมาจากระยะก่อนวัยรุ่นที่เคยมีความรู้สึกนึกคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่จนทำให้เด็กวัยรุ่นเกิดความกังวลใจเรื่องการเจริญเติบโตและจะชอบใช้ความรุนแรง ไม่ค่อยจะยอมใครง่ายๆ หรือมีความเชื่อมั่นต่างๆ เป็นไปอย่างรุนแรง ฉะนั้นวัยรุ่นควรพูดคุยและระบายความรู้สึกให้บุคคลรอบข้างที่ไว้วางใจได้ฟังบ้าง เพราะจะเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่สามารถช่วยลดความเครียดและอารมณ์ที่ไม่ดีลงได้

      สภาพจิตของผู้ใหญ่
เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน จะปักหลักเรื่องหน้าที่การงาน แต่งงานมีครอบครัว สร้างฐานะ มีภาระความรับผิดชอบต่างๆ เพิ่มขึ้น และมีความมุ่งมั่นกระตือรือร้นที่จะสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความประสบความสำเร็จและความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ในบางครั้งที่ดำเนินชีวิตโดยเชื่อมั่นในสิ่งต่างๆมากเกินไป เมื่อเกิดความล้มเหลวก็จะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามหลีกหนีต่อความรู้สึกกังวลใจ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความหงุดหงิด ด้วยการดื่มสุรา ใช้ยา กระทั่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น และเกิดการแยกตัวออกจากสังคมได้ในที่สุด ดังนั้นควรจะเปลี่ยนจุดสนใจ หาทางแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสม และสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์

       สภาพจิตของผู้สูงอายุ
ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัย 5 อันดับแรก คือ ความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ภาวะสมองเสื่อม และปัญหาเรื่องเพศ ซึ่งส่วนใหญ่อาจเกิดจากความเครียดและความรู้สึกของการสูญเสีย โดยเฉพาะด้านความสามารถของตนเองที่เคยเป็นที่พึ่ง เคยเป็นผู้นำให้กับคนอื่น หรือจากการที่เคยมีครอบครัวที่ใหญ่ กลายเป็นครอบครัวเล็กๆ หรือต้องเลี้ยงดูตนเองตามลำพัง ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ซึ่งเหตุการณ์ในอดีตจะกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเกิดอาการน้อยใจ เสียใจ เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร หวาดกลัว จนต้องแยกตัวออกจากสังคมเพราะไม่กล้าสู้กับปัญหา ในอนาคตอาจเสี่ยงต่อการมีภาวะทางจิตปัญญาที่ไม่ดี และมีปัญหาอื่นๆ ทางด้านสุขภาพตามมาได้ ทั้งนี้หากผู้สูงอายุเข้าใจชีวิต กล้าเผชิญปัญหาได้ด้วยการยอมรับความจริง สร้างกิจกรรมอันมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอ ก็ย่อมเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีได้
 
ที่มา : มติชนออนไลน์


  View : 32.82K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,960
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 5,020
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,936
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 906,614
  Your IP : 223.24.187.181