รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
"หมอประกิต" เผยกฎหมายห้ามสูบบุหรี่พื้นที่สาธารณะ ช่วยลดจำนวนเด็กป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจนต้องเข้า รพ.ได้ ยกอังกฤษลดลงปีละ 11,000 ราย คาดไทยน่าจะลดลงเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าอังกฤษ เหตุขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ระบุทางเดินหายใจเด็กไวต่อสารพิษบุหรี่ ส่งผลเยื่อบุหลอดลมอักเสบ ขจัดเชื้อด้อยลง
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากรายงานที่เผยแพร่ทางโลกออนไลน์ของวารสารทางเดินหายใจของสหภาพยุโรป (อียู) พบว่า กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกพื้นที่ของประเทศอังกฤษ สามารถลดจำนวนการเข้าอยู่โรงพยาบาลของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง อันได้แก่หลอดลมอักเสบ ไข้หวัด และปอดบวม ลงได้ปีละ 11,000 ครั้งของการเข้าอยู่โรงพยาบาลโดยระหว่างปี 2007-2012 ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จำนวนครั้งที่เด็กต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลด้วยการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างลดลงกว่าปกติ 54,000 ครั้ง รายงานสรุปว่า การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกที่ลดการได้รับควันบุหรี่มือสองของเด็กๆ ส่งผลให้เด็กๆ เกิดการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจลดลง ทำให้จำนวนครั้งที่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลด้วยโรคนี้ลดลง
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ทั้งนี้ ทางเดินหายใจของเด็กๆ ที่อยู่ในระหว่างการเติบโตมีความไวต่อการได้รับอันตรายจากการสัมผัสสารพิษเป็นจำนวนมากที่มีอยู่ในควันบุหรี่ สารพิษเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ทำให้ความสามารถในการขจัดเชื้อโรคต่างๆ ที่มีอยู่ในอากาศที่หายใจเข้าสู่ปอดลดลง จึงทำให้ติดเชื้อง่าย และติดเชื้อรุนแรง ทำให้เด็กป่วยจนต้องเข้าอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่า แต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กว่า 160,000 คนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ อันเป็นผลตามจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยการได้รับควันบุหรี่มือสองของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ในบ้าน แต่การสำรวจพบว่า กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ มีผลทำให้ผู้สูบบุหรี่สูบในบ้านลดลงด้วย เนื่องจากเกิดความตระหนักที่ไม่ต้องการทำร้ายคนในบ้านตนเอง
"สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลว่า ตั้งแต่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะทุกที่เมื่อปี 2009 นั้น ช่วยลดจำนวนเด็กที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้จำนวนเท่าไร แต่คาดว่าจากจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันของไทยและอังกฤษ คือมีประชากรประมาณ 60 กว่าล้านคน และสูบบุหรี่ประมาณ 11 ล้านคนพอๆ กันนั้น ก็น่าจะให้ผลใกล้เคียงกัน แต่คงไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้เหมือนประเทศอังกฤษ เพราะประสิทธิผลขึ้นอยู่กับความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายด้วย ซึ่งประเทศไทยนั้น ในพื้นที่ กทม.การบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างดี แต่ในต่างจังหวัดอาจยังมีปัญหาอยู่บ้าง " เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์