ไข้อีดำ-อีแดง โรคใกล้ตัวลูกน้อย

 ผลิตและเผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

       “ไข้อีดำอีแดง” จัดว่าเป็นโรคโบราณที่อุบัติซ้ำกลับมาใหม่ หลายคนอาจไม่รู้จักและเข้าใจผิดๆ กันอยู่ จนทำให้เกิดโรคลุกลามและแทรกซ้อนได้
       รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า โรคไข้อีดำอีแดงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย กรุ๊ปเอ สเตรปโตคอคคัส (Group A Streptococus) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ในลำคอ มีคนเป็นพาหะ พบได้ประมาณร้อยละ 10 - 20 เพียงหายใจรดกัน หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ก็สามารถติดต่อกันได้ มักเป็นในเด็กเล็กๆ วัยเรียนอายุ 5-12 ปี
        คนไข้จะมีอาการนำมาด้วยไข้สูงและเจ็บคอ หรือติดเชื้อที่ผิวหนัง จากนั้นประมาณ 1 - 2 วัน จะเริ่มมีผื่นขึ้นหนา สากเหมือนกระดาษทราย ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรค และลิ้นจะบวมแดงคล้ายลูกสตรอเบอรี่ หากวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสม โดยรับประทานยาปฏิชีวนะ คนไข้จะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อย่างเห็นได้ชัด ไข้จะลดลง ผื่นจะยุบ ลอก หายเรียบเป็นปกติในเวลาต่อมา แต่ต้องรับประทานยาให้ครบ 10 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
         อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากลัวคือ คนไข้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง หรือรับประทานยาไม่ครบ โรคจะลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหลังติดเชื้อแล้วประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ อาจเป็นไข้รูห์มาติก เกิดหัวใจอักเสบ จนถึงลิ้นหัวใจรั่ว และโรคไตอักเสบ จริงๆ แล้ว โรคไข้อีดำอีแดง เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว หายได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า ลูกน้อยมีไข้สูงร่วมกับผื่น และลิ้นบวมแดง แนะนำให้พามาพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
       แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคอีดำอีแดงก็ตาม แต่ถ้าท่านสังเกตและใส่ใจบุตรหลานเพิ่มขึ้น โดยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และห่างไกลจากคนไข้ ก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ได้
 
ที่มา : เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์


  View : 3.43K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 283
 เมื่อวาน 1,566
 สัปดาห์นี้ 10,336
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 47,053
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,704
  Your IP : 51.222.253.5