ประกอบด้วยการให้บริการดังนี้
1. งานกิจกรรมบำบัด
ให้บริการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตสำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ดังนี้
- การส่งเสริมทักษะด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้มือหยิบจับ การเขียน
- การส่งเสริมทักษะด้านการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration)
- การส่งเสริมทักษะด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างมีสหสัมพันธ์ การวางแผนการเคลื่อนไหว
- การส่งเสริมทักษะด้านการเล่นและการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น การแยกแยะและการรับรู้ทางสายตา การรู้คิดความเข้าใจ การมีสมาธิจดจ่อในการทำงาน ความสามารถในการจดจำ (Memory) การปรับสภาวะอารมณ์และการเข้าสังคม (Social emotion)
- การส่งเสริมทักษะด้านการดูด การเคี้ยว การกลืน
- การส่งเสริมทักษะด้านการทำกิจวัตรประจำวัน โดยการจัดทำอุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริม การวิเคราะห์สังเคราะห์กิจกรรม และการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านการทำกิจวัตรประจำวัน BADL
อุปกรณ์และพื้นที่ในการให้บริการทางกิจกรรมบำบัด
- ห้อง adventure room ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อลดแรงขับที่มีมากเกินไป และห้องฝึกแบบสนู
เซเล็น ส่งเสริมการรับความรู้สึกขั้นพื้นฐานเพื่อการผ่อนคลาย
- ห้องแยกลดสิ่งเร้าทางสายตา เพื่อฝึกการนั่งทำกิจกรรม การรับรู้ การเขียนและสมาธิในการทำงาน
- ห้องฝึกเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนด้วยนวัตกรรมเกมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือฝึกฝน
- ห้องฝึกเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว ห้องสาธิตการประเมินทางกิจกรรมบำบัด และส่วนรอคอยสำหรับเด็กและผู้ปกครอง
- แบบประเมินมาตรฐานเพื่อประเมินความสามารถในการทำกิจกรรม และการเขียน
- สื่อวีดิทัศน์การฝึกทักษะการเคลื่อนไหวแขนและมือในเด็กสมองพิการ คู่มือการฝึกกิจกรรมการรับประทานอาหารสำหรับเด็กสมองพิการ วีดิทัศน์การฝึกกิจกรรมบำบัดในเด็กสมาธิสั้น สมุดบันทึกความสามารถในการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตและการเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กออทิสติก สมาธิสั้นหรือมีความบกพร่องด้านการเรียน คู่มือการให้ความรู้ด้านการบูรณาการประสาทความรู้สึกสำหรับผู้ปกครอง คู่มือการฝึกกิจกรรมการบูรณาการประสาทความรู้สึกสำหรับนักกิจกรรมบำบัด
ขอบเขตการให้บริการ
ให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 8.30 – 15.00 น. ระยะเวลาในการให้บริการ 30 – 60 นาที่ต่อครั้ง
2. งานกายภาพบำบัด
งานกายภาพบำบัด สถาบันราชานุกูล ให้บริการผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. กระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและควบคุมการทรงท่า ในผู้ป่วยแต่ละรายโรค เช่น สมองพิการ (Cerebral palsy; CP), ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome; DS), บกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual disability; ID), มีความผิดปกติทางโครโมโซม (Chromosome abnormality), พัฒนาการล่าช้า (Global developmental delay; GDD) และกลุ่มอาการออทิสติก (Autistic spectrum; ASD) โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการประเมินด้วยแบบประเมินมาตรฐานก่อนเข้าโปรแกรมการรักษาต่อเนื่องต่อไป
2. เพิ่มสมรรถภาพทางกาย ในผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่มีปัญหาน้ำหนักเกินเกณฑ์ โดยการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายเพื่อการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
3. การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation) ในผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีภาวะจิตเวช และผู้ป่วยเด็กกลุ่มอาการออทิสติก เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานของสมอง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. การรักษาด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัดอื่นๆ เช่น เครื่องอัลตราซาวน์, เครื่องดึงหลังและคอ, เครื่องกำเนิดความร้อนลึกด้วยคลื่นสั้น, เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง, แผ่นประคบร้อน, พาราฟิน, เครื่องกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำ เป็นต้น ในบุคลากรที่มีปัญหาระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
ขอบเขตการให้บริการ
งานกายภาพบำบัดให้บริการผู้ป่วยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 18 ปี ในเวลาทำการ
วันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. ให้บริการรายบุคคล 45-60 นาทีต่อครั้ง โดยนักกายภาพบำบัดที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดการให้บริการที่งานกายภาพบำบัด สถาบันราชานุกูล เบอร์ติดต่อ 0-2248-8900 ต่อ 70946, 70387
การบำบัดด้วยเทคนิควอยต้า (Vojta therapy)
เทคนิควอยต้า หรือ โวจต้า (Vojta therapy) เป็นศาสตร์การรักษาทางกายภาพบำบัดศาสตร์หนึ่งที่ใช้ใน การตรวจประเมินและรักษากลุ่มอาการที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของการเคลื่อนไหวและการควบคุม การทรงท่า หรือบางท่านอาจเรียกว่าการกดจุดวอยต้า เข้ามามีบทบาทในไทยช่วงปี 2554 โดยเริ่มในกลุ่มเด็กก่อน และขยายการรักษาไปในกลุ่มผู้ใหญ่ นอกจากจะใช้ในกลุ่มที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวและการทรงท่าที่เกิดจากการ ทำงานของระบบประสาทแล้ว ยังสามารถใช้รักษาในกลุ่มที่มีปัญหาของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่ส่งผลต่อ การเคลื่อนไหวและการทรงท่าอีกด้วย
เทคนิควอยต้าถูกพัฒนาขึ้นปี ค.ศ.1954-1959 โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วาคลาฟ วอยต้า (Prof. Dr.Václav Vojta) อายุรแพทย์และกุมารแพทย์ระบบประสาทและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะใน สหพันธสาธารณรัฐเยอรนี (Germany) ที่นิยมใช้ศาสตร์ของเทคนิควอยต้าในการตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิดที่เป็น กลุ่มเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวล่าช้าและภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy) ด้วยวิธีการตรวจ ประเมินการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาการรักษาสมดุลการทรงท่า (postural reaction) ตามแบบแผนของวอยต้า และให้การบำบัดรักษาด้วยเทคนิควอยต้าทันทีหลังจากการตรวจคัดกรองพบว่ามีความบกพร่องของการแสดงออกทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว ศ.ดร.วอยต้าเชื่อว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติโดยอาศัยกลไกลที่เรียกว่า “การเคลื่อนไหวแบบรีเพล็กซ์ (Reflex Locomotion)” เพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การกำมือ การเอื้อม การพลิกตัว การคืบ การคลาน การยืน และการเดิน เป็นต้น การที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างที่ควรจะเป็นอาจเนื่องมากจากมีการปิดกั้นหรือไม่สามารถดึงการเคลื่อนไหวที่เป็นอัตโนมัตินี้ออกมาได้ ทำให้มีความบกพร่องของการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น การบำบัดรักษาด้วยเทคนิควอยต้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายแบบอัตโนมัติโดยใช้กลไกการเคลื่อนไหวแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Locomotion) สามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ถูกกระตุ้นแต่ต้องอาศัยสิ่งเร้าที่ถูกต้องตรงตามเทคนิคการกระตุ้น การเคลื่อนไหวแบบรีเพล็กซ์ (Reflex Locomotion) ประกอบไปด้วยชุดการเคลื่อนไหวอยู่ 2 ชุด เรียกว่า “การคืบแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Creeping)” และ “การพลิกตัวแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Rolling)” ซึ่งเป็นการทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อร่วมกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางในการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้น การให้แรงกระตุ้นจากตำแหน่งที่กำหนดในท่าทางที่จำเพาะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบรีเพล็กซ์ได้
การรักษาด้วยเทคนิควอยตาสามารถทำได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ แต่ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ในทารกแรกเกิด เด็กและวัยรุ่น การรักษามีผลดีต่อกระบวนการเจริญเติบโตโดยสมบูรณ์ของระบบประสาท ในผู้ใหญ่ การรักษาจะชักนำให้ร่างกายดึงท่าทางการเคลื่อนไหวของเดิมที่ปกติมาใช้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะลดหรือป้องกันผลที่จะเกิดตามมาหลังจากมีความบกพร่องของการเคลื่อนไหว เช่น ความปวด ข้อติด หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษา
ผู้ป่วยต้องรักษาให้เหมาะสมกับพื้นฐานโรค ศักยภาพ รวมทั้งข้อจำกัดของแต่ละคนด้วย
ผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยเทคนิควอยตาแบ่งตามระบบของร่างกายได้ดังนี้
- ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
กระดุกสันหลังจะเลือกเหยียดและหมุนเป็นส่วนได้ ส่งผลร่างกายสามารถเคลื่อนไหวตามกิจกรรมที่ต้องการได้ ศีรษะสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระมากขึ้น การลงน้ำหนักตามข้อต่อต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของข้อสะโพกและข้อไหล่ ทำให้มีท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติลดลง มือและเท้ามีช่วงการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้น กำหรือจับได้ดีขึ้น
กล้ามเนื้อบริเวณหน้าและปากทำงานได้ดีขึ้นทำให้ การดูด การกลืน การเคี้ยว ง่ายและดีขึ้น การเคลื่อนไหวของลูกตาเป็นไปตามจุดหมายที่มองเป็นอิสระต่อการเคลื่อนของศีรษะ การพูดและออกเสียงง่ายและชัดเจนขึ้น เสียงจะดังและมีพลังมากขึ้น
- ระบบการหายใจ
กล้ามเนื้องทำงานได้ดีขึ้นทำให้ช่องอกขยายขึ้น การหายใจลึกและสม่ำเสมอขึ้น
- ระบบประสาทอัตโนมัติอื่นๆ
ผิวหนังมีเลือดฝาด วงจรการตื่น-หลับดีขึ้น ลำไส้และกระเพาะปัสสาวะจะถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น
- การรับรู้
ปฏิกิริยาเพื่อรักษาความสมดุลของการทรงท่าดีขึ้น การรับรู้ตำแหน่งของร่างกายดีขึ้น การรับรู้ความรู้สึก หนาว เย็น อุ่น แหลม หรือทู่ ถูกต้องมากขึ้น การจดจำรูปแบบและโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการคลำ (stereognosis) ดีขึ้น มีความจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานขึ้น และรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
การรักษาด้วยเทคนิควอยตาเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหา
- การประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Coordination disturbance)
- การเคลื่อนไหวและการทรงท่าจากความบกพร่องที่สมอง เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy)
- แขนขาอ่อนแรงเหตุจากประสาทส่วนปลายผิดปกติ (เช่น Spina bifida, Plexus injury)
- โรคจากความบกพร่องของระบบกล้ามเนื้อ
- โรคของกระดูกสันหลังหรือการเคลื่อนไหวภายในโพรงไขสันหลังถูกจำกัด เช่น สันหลังคด (Scoliosis)
- โรคทางกระดูกที่มีความบกพร่องที่หัวไหล่ แขน ข้อสะโพกและขา โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังเจริญเติบโต เช่น โรคเท้าปุก (Club foot)
- ความผิดรูปของข้อสะโพก (ใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่น)
- การหายใจ การเคี้ยว และการกลืน
- กลุ่ม Congenital malformation เช่น Osseous scolilsis, Muscle aplasia, Arthogryposis
- โรคคอเอียงในเด็ก (Muscular และ Neurogenic Torticollis)
- กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทรงท่า
ห้ามทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา
- ช่วงที่มีไข้เฉียบพลัน หรือมีอาการอักเสบ
- โรคเฉพาะ เช่น กระดูกเปราะ (Osteogenesis Imperfect)
- โรคมะเร็ง
- หญิงตั้งครรภ์
- หลังจากได้รับวัคซีน ควรหยุด 3-10 วันหรือพักจนกระทั่งอาการที่เกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนหายไป
- โรคหัวใจ
- ช่วงการให้ยากลุ่มสเตอร์รอยและช่วงปรับยาควบคุมอาการชักในเด็กลมชัก (Epilepsy) เช่น กลุ่ม West syndrome
ทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตาได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง
- เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ ควรได้รับการเห็นชอบจากแพทย์ผู้ทำการรักษา/แพทย์เจ้าของไข้ก่อนทำการรักษา
- กลุ่มที่ได้รับยา warfarin พบว่ามีเลือดออกง่ายขณะทำการรักษา
- โรคกระดูกบาง (Osteopenia) เช่นผู้ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวนานๆ พบว่ามีกระดูกเปราะแตกหักง่ายขณะทำการรักษา
- โรคลมชัก (Epilepsy) เมื่อเด็กชักระหว่างทำต้องหยุดทันที ในโรคลมชักที่ถูกการกระตุ้นด้วยการสัมผัสแล้วมีอาการชักห้ามทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา
- เด็กหลับ จะไม่ปลุกขึ้นมารักษา โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคลมชัก
การร้องไห้ของทารกและเด็กเล็กเป็นเครื่องมือการแสดงออกของเด็กเพื่อสื่อสารบอกความต้องการของเด็ก เช่น รู้สึกหิว รู้สึกอยากให้มีคนอยู่ด้วย รู้สึกไม่สบายตัวเฉอะแฉะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงออกที่สำคัญและเหมาะสมของเด็กในช่วงอายุนี้ ขณะทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตาในทารกและเด็กเล็กจะพบว่าเด็กร้องไห้มาก การร้องไห้ขณะรักษาก็เป็นการสื่อสารเช่นเดียวกัน เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นจะเกิดการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่คุ้นเคยและก่อให้เกิดความเครียด การกระตุ้นถึงระดับที่ได้ผลดีมักจะทำให้เด็กร้องไห้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างสมำ่เสมอและต่อเนื่องการร้องไห้จะลดลงและจะหยุดร้องในช่่วงสั้นๆ ก่อนจะจบการรักษา ในเด็กโตที่สามารถพูดแสดงความรู้สึกได้มักพบว่าเด็กไม่ร้องไห้
สถาบันราชานุกูลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางในงานบริการด้านส่งเสริมพัฒนาการและสติปัญญาให้แก่เด็กทั้งที่เป็นกลุ่มเด็กปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย มีความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับให้บริการการตรวจ วินิจฉัย และรักษาด้วยเทคนิควอยต้าและได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการให้บริการด้วยเทคนิควอยตาในการกระตุ้นและส่งเสริมความสามารถด้านการเคลื่อนไหวและการทรงท่าแก่เด็กที่มีความบกพร่องของพัฒนาการหรือมีความล่าช้าไม่สมวัยให้สามารถเคลื่อนไหวเพื่อสำรวจ เรียนรู้ และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ในการกระตุ้นให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของการพัฒนาระบบประสาทของเด็ก การได้รับการพัฒนาและการกระตุ้นอย่างถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถดำรงชีวิตร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างเต็มตามศักยภาพ
3. งานเวชศาสตร์สื่อความหมาย (แก้ไขการพูด)
ให้บริการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางการสื่อความหมาย และกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและการพูด รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านการพูด โดยแบ่งโปรแกรมการให้บริการ ดังนี้
1.การเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานก่อนการพูด
2.การฝึกทักษะด้านภาษาและการพูด
3.การแก้ไขปัญหาด้านการพูด ได้แก่ พูดไม่คล่อง พูดไม่ชัด เสียงผิดปกติ
4.การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน
5.การฝึกการสื่อสารทางเลือก
เพื่อพัฒนาความสามารถในการพูดและการสื่อสารให้แก่ผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการและสติปัญญา พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ญาติเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีส่วนร่วมในการฝึกผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ขอบเขตการให้บริการ
ให้บริการผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาและการพูดล่าช้า พูดไม่ชัด ที่มีสาเหตุจากภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก สมองพิการ บกพร่องทางการได้ยิน ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม และเรียนรู้การพูดไม่ถูกต้อง อายุ 1 ปี 6 เดือน ขึ้นไป
ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
เบอร์โทรติดต่อ 02-2488922, 02-2488900 ต่อเบอร์ภายใน 70362
4. งานศิลปกรรมบำบัด
ให้บริการด้านศิลปกรรมบำบัด แก่ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาที่มีปัญหาทางด้าน สมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง ไม่กล้าแสดงออก ขาดทักษะทางสังคม และกลุ่มเสริมทักษะทางศิลปะ เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และเสริมศักยภาพทางศิลปะให้ดีขึ้น โดยใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด
การรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญานั้น ใช้แบบประเมินทักษะทางด้านศิลปะ และสมาธิ ซึ่งหลังจากการประเมินจะจัดผู้บกพร่องเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่ม A/S (Attention/Social) ที่มีปัญาด้านสมาธิ ส่งเสริมพัฒนาเรื่องสมาธิ ทักษะการเข้าสังคม ขาดความมั่นใจ
2.กลุ่ม S/S (Skill/Social) ส่งเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ และการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สามารถทำงานกับผู้อื่นได้
กิจกรรมที่ใช้ในการฟื้นฟู
1.กิจกรรมระบายสี
2.กิจกรรมวาดภาพ
3.กิจกรรมงานปั้น
4.กิจกรรมเปเปอร์มาเช่
5.กิจกรรมงานประดิษฐ์ (ผ้าบาติก,ผ้ามัดย้อม,เดคูพาท,ทอผ้าซาโอริ)
ขอบเขตการให้บริการ
เปิดบริการวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. เวลาในการฝึกต่อราย 45-60 นาที
5. งานฝึกอาชีพและชุมชน
พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บกพร่องทางสติปัญญาอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาหรือฝึกอาชีพได้ โปรแกรม PREVO เน้นการฝึกทักษะพื้นฐานการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การฝึกอาชีพ การจ้างงานหรือการกลับไป ใช้ชีวิตในชุมชนได้ตามศักยภาพ ผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะผ่านการคัดกรองปัญหาด้านพฤติกรรมและทักษะการช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นจากแพทย์เพื่อคัดกรองเข้าโปรแกรม PREVO จากนั้นจะทำการทดสอบทักษะพื้นฐานการทำงานเบื้องต้นเป็นระยะเวลา 12 ครั้ง เพื่อคัดเลือกกิจกรรมที่มีความเหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้บกพร่องทางสติปัญญา เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูทักษะพื้นฐานการทำงานพื้นฐานการทำงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1) พฤติกรรมการทำงาน
2) สัมพันธภาพกับผู้อื่น
3) ทักษะทางวิชาการ
4) ทักษะการดำรงชีวิตขั้นสูง
กิจกรรมที่เลือกใช้ในโปรแกรมจะมีความเหมาะสมกับระดับศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้เป็นรายบุคคล สามารถนำไปในชีวิตประจำวันหรือพัฒนาต่อยอดสู่การประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานได้เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เช่น งานบ้าน งานครัว งานปลูกพืชระยะสั้น การทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือน งานล้างรถ งานบริการในร้านกาแฟ
ผลผลิตที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรมจะถูกจัดจำหน่ายสู่กลุ่มลูกค้าผ่านไลน์แอพพลิเคชั่น PREVO Market เป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาในการหารายได้เสริม สู่การประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง
ระยะเวลาการฟื้นฟู 1-3 ปี เมื่ออายุ 17 ปีขึ้นไปและผ่านการะประเมินทักษะพื้นฐานการทำงาน จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมทางอาชีพต่อไป
ขอบเขตการให้บริการ
ให้บริการแก่ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป
เปิดบริการวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. เวลาในการฝึกต่อราย 60-90 นาที