ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางทหาร ภาวะสงคราม การอพยพของกลุ่มคนจำนวนมาก ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ และภาวะวิกฤตต่างๆนั้น พบว่าจากสถานการณ์ดังกล่าว มีเด็กจำนวนหนึ่งต้องประสบการพลัดพรากจากครอบครัว ติดตามหาไม่พบหรือถูกทอดทิ้ง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการขาดการดูแลและปกป้องคุ้มครอง และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้ได้พบกับพ่อแม่ พี่น้อง สมาชิกในครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย ที่สามารถให้การดูแลเลี้ยงดูได้
แนวทางปฏิบัติในการจัดการดูแลสำหรับเด็กที่พลัดพรากและถูกทอดทิ้งนี้ จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการดูแลและคุ้มครองที่เป็นสากล โดยการนำประสบการณ์และบทเรียนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางทหาร ภาวะสงคราม ภัยพิบัติและภาวะวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมา นำมาร่วมพิจารณาในการจัดทำและปรับปรุง เพื่อมุ่งให้แนวทางปฏิบัติฉบับนี้เป็นหลักการจัดการดูแลสำหรับเด็กที่พลัดพรากจากและถูกทอดทิ้งที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ในการจัดทำแนวทางปฏิบัติการดูแลสำหรับเด็กที่พลัดพรากและถูกทอดทิ้ง มุ่งเพื่อช่วยรัฐบาล องค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีวิธีการจัดการดูแลสำหรับเด็กที่พลัดพรากและถูกทอดทิ้งอย่างเหมาะสมและเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณดำเนินการแนวทางปฏิบัติฯจัดทำขึ้นโดยความมือขององค์กร เครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานบนพื้นฐานการมีประสบการณ์ในสถานการณ์จริง ทั้งองค์กรด้านมนุษยชน ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และด้านการคุ้มครองสิทธิเด็ก
เนื้อหาในแนวทางปฏิบัติการจัดดูแลสำหรับเด็กที่พลัดพรากและถูกทอดทิ้งนี้ สะท้อนพันธะสัญญาขององค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการนำหลักการส่งเสริมการจัดการดูแลสำหรับเด็กที่พลัดพรากและถูกทอดทิ้งที่ได้มีดำเนินการก่อนหน้านี้ มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สอดคล้องกับกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก เด็กที่พลัดพรากและถูกทอดทิ้งจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางทหาร ภาวะสงคราม การอพยพของกลุ่มคนจำนวนมาก ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติและภาวะวิกฤติต่างๆ ยังไม่นับว่าเป็นเด็กกำพร้า การให้ความช่วยเหลือลำดับแรกต้องติดตามหาเพื่อให้เด็กกลับคืนสู่ครอบครัวเดิมโดยเร็วหากสามารถทำได้