ครอบครัว เป็นหน่วยทางสังคมที่มีลักษณะเป็นสากลโลก ครอบครัวเป็นขุมพลังที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิต ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐาน การหล่อหลอม
เสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ครอบครัวมีความสำคัญต่อมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้บกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability) เป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องพึ่งพาครอบครัวมาก ดังนั้น
ครอบครัวจึงเป็นบุคคลสำคัญของบุคคลเหล่านี้ ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้ดูแลผู้บกพร่องทางสติปัญญาต้องรับภาระหนักมากทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจของผู้บกพร่องทางสติปัญญา ครอบครัวนอกจากจะต้องมีความรู้ในการดูแลผู้บกพร่องทางสติปัญญาอย่างถูกวิธีเพื่อเสริมสร้าง พัฒนาศักยภาพแล้ว ครอบครัวต้องดำเนินครอบครัวให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ดังนั้นครอบครัวของผู้บกพร่องทางสติปัญญาต้องทำงานหนักกว่าครอบครัวอื่นเป็นเท่าตัว ด้วยสภาพกดดันทั้งจากการดูแลและพัฒนาผู้บกพร่องทางสติปัญญาแล้วยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยสี่ของครอบครัว ส่งผลให้เกิดความเครียด และมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อปัญหาทางจิต ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในของบุคคล ถ้าไม่ได้รับการ
บำบัดช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากวิชาชีพ จะก่อให้เกิดปัญหาจิตเวชในที่สุดและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้บกพร่องทางสติปัญญา
ดร.สดใส คุ้มทรัพย์อนันต์ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ สถาบันราชานุกูล ได้ดำเนินงานครอบครัวบำบัดตามแนวแซทเทียร์ (Satir’s Model) เมื่อปี พ.ศ. 2550 พบว่า การบำบัดครอบครัว
ด้วยวิธีนี้สามารถส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อผู้บกพร่องทางสติปัญญาโดยรวม ดังนั้น จึงจัดทำคู่มือครอบครัวบำบัดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพ
สังคมสงเคราะห์และวิชาชีพอื่นในการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดูแล บำบัดช่วยเหลือครอบครัวผู้บกพร่องทางสติปัญญาต่อไป
คู่มือครอบครัวบำบัดสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาการเด็กและสติปัญญา ได้ผ่านการทดลองใช้โดยนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช เมื่อปี 2551 และได้นำมาปรับปรุงให้ง่ายต่อการนำไปใช้
ประกอบในการเรียนการสอนด้านครอบครัวบำบัดตามแนวแซทเทียร์ เป็นการจัดทำเรื่องยากให้ง่ายต่อการเข้าใจสำหรับผู้ที่สนใจงานด้านการบำบัด นับว่าคู่มือฉบับนี้มีคุณค่าเหมาะแก่การนำไป
เผยแพร่แก่ผู้สนใจด้านครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร
ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล 2553