ครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมที่มีลักษณะเป็นสากลโลก ครอบครัวเป็นขุมพลังที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิต ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐาน การหล่อหลอมเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ครอบครัวมีความสำคัญต่อมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้บกพร่องทางสติปัญญา(intellectual disability)เป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องพึ่งพาครอบครัวถึง 90% ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นบุคคลสำคัญของบุคคลเหล่านี้ ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่หรือดูแลผู้บกพร่องทางสติปัญญา ต้องรับภาระหนักมากทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาด้านอารมณ์จิตใจของผู้บกพร่องทางสติปัญญา ครอบครัวนอกจากจะต้องมีความรู้ในการดูแลผู้บกพร่องทางสติปัญญาอย่างถูกวิธี เพื่อเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพแล้ว ครอบครัวต้องดำเนินครอบครัวให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ดังนั้นครอบครัวของผู้บกพร่องทางสติปัญญาต้องทำงานหนักกว่าครอบครัวอื่นเป็นเท่าตัว ด้วยสภาพกดดันทั้งจากการดูแลและพัฒนาผู้บกพร่องทางสติปัญญา แล้วยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านปัจจัย 4 ของครอบครัว ส่งผลให้เกิดความเครียดและถ้าไม่ได้รับการจัดการบำบัดช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากวิชาชีพ จะก่อให้เกิดปัญหาจิตเวชในที่สุด และส่งผลเสียต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้บกพร่องทางสติปัญญา
นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช สถาบันราชานุกูล เป็นวิชาชีพหนึ่งที่เห็นความสำคัญของครอบครัว และดำเนินงานครอบครัวบำบัดตามแนวแซทเทียร์ (Satir's Model) เมื่อปีพ.ศ.2550 พบว่า การบำบัดครอบครัวด้วยวิธีนี้สามารถส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อผู้บกพร่องทางสติปัญญาโดยรวม กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ สถาบันราชนุกูลจึงจัดทำคู่มือครอบครัวบำบัดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพสังคมสงเคราะห์และวิชาชีพอื่น ในการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดูแล บำบัด ช่วยเหลือครอบครัวผู้บกพร่องทางสติปัญญาต่อไป
นางสดใส คุ้มทรัพย์อนันต์
หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์
สถาบันราชานุกูล