พฤติกรรมที่เป็นปัญหาในเด็กกลุ่มอาการดาวน์

 
 

พฤติกรรมที่เป็นปัญหาในเด็กกลุ่มอาการดาวน์

โดย ชนิสา เวชวิรุฬห์

 

แนวทางในการพิจารณาว่าพฤติกรรมใดเป็นปัญหา
1.พฤติกรรมนั้น รบกวน พัฒนาการและการเรียนรู้ หรือไม่
2.พฤติกรรมนั้น ขัดขวาง การทำกิจกรรมของครอบครัว /โรงเรียน / สถานที่ทำงาน หรือไม่
3.พฤติกรรมนั้น เป็นอันตราย ต่อตัวเด็กเอง / คนอื่น หรือไม่
4.พฤติกรรมนั้น แตกต่าง จากการแสดงออกของคนใน ระดับอายุพัฒนาการ เดียวกันหรือไม่
          ขั้นตอนแรกในการประเมินเด็ก /ผู้ใหญ่กลุ่มอาการดาวน์ที่แสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา คือการค้นหาว่ามีปัญหาทางการแพทย์แบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้นหรือไม่ ปัญหาทางการแพทย์ที่อาจเกี่ยวพันกันกับการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมีดังนี้
1.ความบกพร่องทางการเห็นหรือการได้ยิน
2.การทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์
3.โรคลำไส้เล็กอักเสบ (Celiac disease)
4.ภาวะหยุดหายใจช่วงสั้น ๆขณะนอนหลับ (Sleep apnea)
5.โรคโลหิตจาง (Anemia)
6.โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux)
7.อาการท้องผูก (Constipation)
8.ซึมเศร้า (Depression)
9.วิตกกังวล (Anxiety)
          ดังนั้นการได้รับการประเมินจากแพทย์จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในระยะแรกของการเริ่มจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในเด็ก/ ผู้ใหญ่กลุ่มอาการดาวน์
          พฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่พบในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ปกติไม่แตกต่างจากที่พบในเด็กที่มีพัฒนาการปกติ แต่อาจจะเกิดขึ้นในอายุที่ช้ากว่าและเกิดนานกว่า ตัวอย่างเช่น temper tantrums โดยทั่วไปมักพบตอนเด็กอายุ 2-3 ปี แต่สำหรับเด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจเริ่มเกิดตอนอายุ 3-4 ปี ดังนั้นสิ่งสำคัญในการประเมินพฤติกรรมเด็กกลุ่มอาการดาวน์ต้องพิจารณาตามอายุพัฒนาการของเด็ก ไม่ใช่อายุจริง และต้องรู้ระดับความเข้าใจภาษาและการใช้ภาษาของเด็กด้วย เพราะปัญหาพฤติกรรมหลายอย่างเกี่ยวพันกับความคับข้องใจในการสื่อความหมาย ซึ่งหลายครั้งมักพบว่าประเด็นที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรม คือการหาวิธีช่วยเหลือเด็กให้สามารถสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          เด็กกลุ่มอาการดาวน์ประมาณ 60 % พบว่าไม่มีปัญหาพฤติกรรม และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าระดับรุนแรงหรือเด็กที่มีปัญหาอื่นเพิ่มเติม เช่น autism หรือ ADHD มีแนวโน้มที่มีปัญหาพฤติกรรมมากขึ้น  เด็กกลุ่มอาการดาวน์แต่ละคนมีความแตกต่างกันและมีระดับทักษะทางสังคมแตกต่างกัน พัฒนาการด้านสังคมและพฤติกรรมของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ได้รับอิทธิพลจากพื้นฐานทางอารมณ์ ภูมิหลังของครอบครัวและประสบการณ์กับบุคคลอื่น เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป

          ปัญหาพฤติกรรมในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ที่มักพบจากการรายงานโดยผู้ปกครอง / ครู
เดิน / วิ่งเรื่อยเปื่อย  สิ่งสำคัญที่ควรนึกถึงคือ ความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งอาจทำโดยล็อกประตูให้ดีและติดสัญญาณเตือนที่ประตู เขียนแผน IEP ของโรงเรียนเกี่ยวกับบทบาทของแต่ละคนเมื่อเด็กออกจากห้องเรียนหรือสนามเด็กเล่น ทำป้ายเตือน  เช่นติดสัญลักษณ์หยุดที่ประตู และ/ หรือให้เด็กทุกคนขออนุญาตก่อนออกไปนอกห้อง จะเป็นการช่วยเตือนให้เด็กที่มีปัญหารู้จักขออนุญาตก่อนออกนอกห้อง /บ้านด้วย
•ดื้อ / มีพฤติกรรมต่อต้าน  การอธิบายพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่บ้านหรือโรงเรียน บางครั้งสามารถช่วยบ่งบอกเหตุการณ์ที่อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่อต้าน / ไม่เชื่อฟัง และบ่อยครั้งพบว่าพฤติกรรมไม่เชื่อฟังเกิดจากวิธีการสื่อสารความคับข้องใจของเด็ก หรือการขาดความเข้าใจเนื่องจากปัญหาการสื่อความหมาย /ภาษาของเด็ก  และเมื่อต้องเผชิญกับงานที่ยากเด็กกลุ่มอาการดาวน์จะกลายเป็นเด็กที่เก่งมากในการทำให้ผู้ปกครองหรือครูหงุดหงิด
•พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการแสดงความรัก/ ชอบ  เด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจจะแสดงการทักทายคนอื่นที่แปลกหน้า โดยการเข้าไปกอด ซึ่งมักพบว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้บ่อยครั้งเกิดจากการยินยอมและสนับสนุนจากผู้ปกครองและครู
•ปัญหาสมาธิและความสนใจ  เด็กกลุ่มอาการดาวน์สามารถมีอาการของ ADHD (Attention Deficit and Hyperactivity Disorder) และควรจะได้รับการประเมินช่วงความสนใจและความหุนหันพลันแล่นตามอายุพัฒนาการ ไม่ควรมุ่งเน้นที่อายุจริง การใช้แบบวัดโดยผู้ปกครองและครู  เช่น Vanderbilt and Connors Parent and Teacher Rating Scales จะช่วยในการวินิจฉัย นอกจากนี้ Anxiety disorders ,ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการทางภาษาและการสูญเสียการได้ยิน ก็สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาสมาธิและความสนใจได้เช่นกัน
•พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ  เด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจจะมีพฤติกรรมยึดติดกับของเล่นหรือกิจกรรมที่ชอบ เช่น อาจต้องการนั่งเก้าอี้ตัวเดิมทุกวัน หรือเล่นซ้ำๆ กับของเล่นอยู่ชิ้นเดียว รูปแบบของพฤติกรรมนี้พบได้บ่อยในเด็กลุ่มอาการดาวน์ที่อายุยังน้อย  และจำนวนของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ที่มีพฤติกรรมย้ำคิด/ ย้ำทำไม่แตกต่างจากเด็กปกติที่อายุสมองเท่ากัน แต่ความถี่และความรุนแรงในเด็กกลุ่มอาการดาวน์มักพบมากกว่า 
•Autism Spectrum Disorder   ออทิซึมมักพบในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ประมาณ 5-7 % ปกติจะวินิจฉัยได้เมื่อโต (อายุ 6-8 ปี) ซึ่งในประชากรทั่วไปที่มีการถดถอยของทักษะทางภาษาจะวินิจฉัยพบเมื่ออายุ 3-4 ปี  วิธีการช่วยเหลือเช่นเดียวกับเด็กออทิสติก  ซึ่งถ้าได้รับการตรวจพบเร็ว การช่วยเหลือในการบำบัดและให้บริการทางการศึกษาที่เหมาะสมก็จะทำได้เร็ว
•Self –stimulatory behaviors  เด็กกลุ่มอาการดาวน์บางคนอาจจะทำเสียงประหลาดหรืออมมือ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำเพื่อสะท้อนกลับเกี่ยวกับระบบความรู้สึก หรือเพื่อเบนความสนใจจากกิจกรรมที่ไม่ชอบ 
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการขัดขวางกระบวนการเรียนรู้และอาจทำให้แยกตัวเองออกจากสังคม

สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำเมื่อพบปัญหาพฤติกรรมในเด็กกลุ่มอาการดาวน์
1.พาเด็กไปตรวจวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือไม่
2.ค้นหาความเครียดทางจิตใจที่บ้าน /โรงเรียน /ที่ทำงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรม
3.ทำงานร่วมกับบุคลากรทางวิชาชีพ ได้แก่ นักจิตวิทยา กุมารแพทย์ทางด้านพฤติกรรม นักให้คำปรึกษาในการวางแผนแก้ไขปัญหาพฤติกรรมโดยใช้หลักของ ABC ( Antecedent, Behavior, Consequence of behavior)
4.การรักษาด้วยยาอาจต้องใช้ในกรณีที่จำเป็น เช่น ADHD  และ  autism

ปัญหาสมาธิในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ คือ ADHD ใช่หรือไม่
          ADHD ( Attention deficit hyperactivity disorder) เป็นการวินิจฉัยปัญหาในวัยเด็ก อาการของ ADHD มีลักษณะดังนี้  attention span ลดลง มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น (impulsive behavior) และกระสับกระส่ายมากเกินไปหรือมีการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ พฤติกรรมหุนหันพลันแล่นที่อาจพบในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ เช่น วิ่งพรวดพราดออกจากชั้นเรียนเพื่อไปทักทายคน  แย่งพูดคนเดียว  เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอันใหม่โดยที่ยังทำกิจกรรมเดิมไม่เสร็จ เป็นต้น
          เด็กทุกคนรวมทั้งเด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจมีลักษณะดังกล่าวเป็นบางครั้ง แต่เด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจแสดงลักษณะเหล่านั้น บ่อยกว่าเด็กคนอื่นในระดับอายุเดียวกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าเด็กมีอาการ ADHD หรือไม่ อาจจะใช่ แต่บ่อยครั้งมักหมายถึงปัญหาทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องจัดการ หรือความต้องการการปรับเปลี่ยนบางอย่างมากกว่าในโปรแกรมการศึกษาของเด็กหรือวิธีการสื่อความหมาย  เด็กกลุ่มอาการดาวน์ที่มีปัญหาสมาธิ มักจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ADHD จนกว่าปัญหาอื่นจะถูกตัดออกจากการพิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้

ปัญหาทางการแพทย์ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมคล้าย ADHD
1.ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น

          เด็กที่มีสมาธิจดจ่อกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ต้องสามารถได้ยินและมองเห็น ปัญหาการได้ยินและมองเห็นเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ การติดเชื้อในหูเป็นสาเหตุที่พบบ่อยและถึงแม้จะได้รับการรักษา แต่ก็สามารถเป็นเหตุให้สูญเสียการได้ยินเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เด็กกลุ่มอาการดาวน์มีโครงสร้างของหูชั้นกลางผิดปกติ ซึ่งสามารถเป็นเหตุให้สูญเสียการได้ยินในระดับน้อย – ปานกลาง ได้ชั่วชีวิต
          ทั้งสายตาสั้นและยาว เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กลุ่มอาการดาวน์ เช่นเดียวกับการเป็นต้อกระจกและตาขี้เกียจ
          เด็กที่มีปัญหาการได้ยินและ / หรือการมองเห็น จากการตรวจสอบพบว่าสามารถเป็นสาเหตุให้มีปัญหาสมาธิและความสนใจ การตรวจสอบการได้ยินทำได้โดยการทดสอบ ABR (an auditory brainstem response test) หรือ OER (otoacoustic emission) ซึ่งควรตรวจสอบตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ภายในอายุ 3 เดือน เป็นอย่างช้า เพื่อเป็นข้อมูลเส้นฐาน  การคัดกรองการได้ยินควรทำเป็นประจำทุกปี จนกว่าเด็กจะอายุ 3 ปี และปีเว้นปีหลังจากนั้น  เด็กที่มีผลการประเมินพบว่าการได้ยินผิดปกติควรพบแพทย์ด้านหู – คอ- จมูก (otolaryngologist) เพื่อรักษาสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการได้ยิน
          เด็กกลุ่มอาการดาวน์ควรได้รับการประเมินโดยจักษุแพทย์ระหว่างขวบปีแรกและเป็นประจำทุกปีหลังจากนั้น แต่เด็กบางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการติดตามผลบ่อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยทางการมองเห็น

2.Gastrointestinal Problems
          เด็กกลุ่มอาการดาวน์มีความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบลำไส้เล็กที่เรียกว่า celiac disease สูง ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโปรตีนที่พบในข้าวสาลีและเมล็ดข้าวอื่น อาการทั่วไปของ celiac disease รวมอาการท้องเสีย ท้องร่วง และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยมาก ภาวะเช่นนี้มีผลต่อความแข็งแรงและพฤติกรรม  เด็กกลุ่มอาการดาวน์มักมีปัจจัยเดิมคือภาวะท้องผูก ซึ่งถ้ารุนแรงสามารถเป็นเหตุให้เกิดความเจ็บปวดที่ช่องท้อง ไม่อยากอาหารและกระสับกระส่าย /หยุกหยิก ปัจจุบันมีข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการกับ Gastrointestinal ด้วยการคัดกรอง celiac disease ระหว่างอายุ 2-3 ปี การคัดกรองนี้ควรรวมการวัด Ig A antiendomysium antibodies และ total Ig A


3.Thyroid Problems
          ประมาณ 30 % ของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ มีโรคไทรอยด์ในบางช่วงของอายุ และพบมากที่สุด คือ ภาวะพร่องไทรอยด์ (hypothyroidism) หรือต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย มีเพียงเล็กน้อย ที่เป็นโรคเนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่เกินปกติ (Graves, disease) การที่ต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย ทำให้เด็กเฉื่อยชาและขาดความเอาใจใส่สิ่งต่าง ๆมาก การที่ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่เกินปกติสามารถเป็นเหตุของพฤติกรรมก่อกวนและกระสับกระส่าย /หยุกหยิก ดังนั้นภาวะทั้งสองประการสามารถทำให้มีพฤติกรรมคล้ายพฤติกรรมไม่ดีและความสนใจต่ำมากเนื่องจากโรคไทรอยด์พบได้ชุกในเด็กกลุ่มอาการดาวน์และยากที่แพทย์จะค้นพบเพียงการตรวจร่างกายเด็ก  การเจาะเลือดตรวจไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อการป้องกันในกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม จึงได้รับการเสนอแนะให้จัดไว้ในรายการตรวจสอบ

4.ปัญหาการนอน
          ความผิดปกติในการนอนหลับพบได้มากในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ ความผิดปกติเหล่านี้มีสาเหตุแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พบทั่วไปคือ ทุกสาเหตุรบกวนการนอนหลับเต็มอิ่มตอนกลางคืน   เมื่อเด็กอ่อนเพลียอาการแสดงออกจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น หยุกหยิก  พูดแบบหงุดหงิด  และยากที่จะสงบนิ่ง  และในทุกอายุจะพบว่ามีความยากลำบากในการมีสมาธิจดจ่อและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อนอนไม่เต็มอิ่ม
          ปัญหาความผิดปกติในการนอนหลับที่พบทั่วไปในกลุ่มอาการดาวน์ คือ การหยุดหายใจช่วงสั้น ๆระหว่างหลับ (Sleep apnea)  เนื่องจากบุคคลกลุ่มอาการดาวน์มีช่องทางเดินหายใจแคบ และบ่อยครั้งพบว่าอ่อนแรง บางครั้งการหยุดสูดลมหายใจอย่างเต็มอิ่มหรือสูดลมหายใจไม่เต็มอิ่มระหว่างหลับเกิดจากต่อมทอมซิลและต่อมอดีนอยด์โต หรือผนังช่องทางเดินหายใจที่อ่อนแรง แต่ไม่ว่าจากสาเหตุใดที่ทำให้ขัดขวางการสูดอากาศหายใจ คนที่นอนหลับมักต้องตื่นช่วงสั้น ๆ เพื่อสูดลมหายใจให้เต็มอิ่ม คนไข้บางคนที่มีความผิดปกติชองการหลับชนิด Sleep apnea ต้องตื่น 100 ครั้งต่อคืน
          อาการที่สัมพันธ์แต่ไม่เฉพาะเจาะจงกับ Sleep apnea ได้แก่ การกรน  นอนกลางวันมากเกินไป หายใจทางปากและนอนในท่าที่ไม่ปกติ เช่น นอนหลับในท่านั่งหรือท่าที่โค้งตัวมาด้านหน้า เด็กที่สงสัยว่ามีความผิดปกติในการนอนหลับ ควรจะได้รับการประเมินการนอนหลับจากศูนย์ด้านการนอนหลับที่เชื่อถือได้

ปัญหาการสื่อความหมายที่ทำให้ดูคล้าย ADHD
          เด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจจะมีปัญหาคล้าย ADHD เนื่องจากการขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และบ่อยครั้งพบว่าความเข้าใจภาษาของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ดีกว่าทักษะการใช้ภาษามาก    ผู้ปกครองมักพูดว่า” เขารู้สิ่งที่เขาต้องการบอกแก่เรา เพียงแต่เขายังผสมคำเข้าด้วยกันไม่ได้” หรือ “ เรายังไม่เห็นเขาพูดได้ เรารู้แต่ว่าเขารู้ว่าเขาอยากจะพูดอะไร” 

1.ปัญหาการเรียน 
          เด็กกลุ่มอาการดาวน์มักมีความยากลำบากในการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน สืบเนื่องจากปัญหาการสื่อความหมาย เด็กอาจจะแสดงความคับข้องใจโดยระเบิดออกมา หรือไม่มีสมาธิ เด็กกลุ่มอาการดาวน์มีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงอาจต้องลองใช้วิธีการสอนมากกว่า 1 วิธี เพื่อค้นหาว่าวิธีใดที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ถ้าสื่อการเรียนการสอนเข้ากันไม่ได้กับสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก  เด็กอาจแสดงพฤติกรรมเบื่อหน่าย หงุดหงิด  กระสับกระส่าย และซนมาก ตัวอย่างเช่น  การสอนโดยใช้การอธิบายกับเด็กที่ต้องการสื่อทางการรับรู้ในการมองเห็นและการช่วยแนะ   นอกจากนี้สื่ออุปกรณ์อาจจะเป็นปัญหาได้ หากยากเกินไปสำหรับระดับสติปัญญาของเด็ก อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียน  หากง่ายเกินไปอาจทำให้เด็กเบื่อ แสดงความไม่ใส่ใจและแสดงปฏิกิริยา

2.ปัญหาทางอารมณ์
          จากการที่เด็กมีปัญหาในการสื่อความหมาย เด็กกลุ่มอาการดาวน์อาจมีความยากลำบากในการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้โกรธหรือเสียใจ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เช่น การสูญเสียหรือการแยกจากอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมที่โรงเรียนหรือที่ทำงานลดลง

ADHD และดาวน์ซินโดรม
          ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับความถี่ของ ADHD ในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ อย่างไรก็ตามอาการที่คล้าย ADHD ในเด็กกลุ่มอาการดาวน์เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในกลุ่มประชากรทั่วไปพบได้มากกว่า อาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น  พฤติกรรมซ้ำ ๆ (Stereotypy/repetitiveness) ,วิตกกังวล หรือกระสับกระส่ายมากเกินไปเหมือนอาการ ADHD อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น ออทิซึม , bipolar disorder หรือ obsessive compulsive disorder
          อาการ ADHD ที่ไม่ซับซ้อน พบได้ทั่วไปในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ที่ยังเล็ก อย่างไรก็ตามในวัยเรียน เด็ก ADHD หลายคนมักมีพฤติกรรมอื่นรวมถึง อาการดื้ออย่างผิดปกติ (oppositional defiant disorder), พฤติกรรมรบกวน/ ขัดขวางอย่างผิดปกติ (disruptive behavior disorder) หรือ ลักษณะย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive traits) ซึ่งถ้าพบปัญหาของเด็กที่เกี่ยวกับการมีช่วงความสนใจลดลง มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และกระสับกระส่าย/หยุกหยิกมากเกินไป หรือมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ ควรปรึกษากุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมหรือจิตแพทย์เด็ก

พฤติกรรมอื่นที่ควรให้ความสนใจในเด็กกลุ่มอาการดาวน์
          การกัดฟันที่พบในเด็กดาวน์ซินโดรมไม่แตกต่างจากที่พบในเด็กอื่น และจากการศึกษาในประเทศเม็กซิโก   Sue Buckley (2007) ได้ทำการศึกษาเด็กดาวน์ซินโดรมอายุ 3-14 ปี จำนวน 57 คน พบว่าร้อยละ 42 ของเด็กกลุ่มอาการดาวน์มีการกัดฟัน ไม่พบความแตกต่างของอัตราการกัดฟันระหว่างเพศและระดับความพิการ  และพบว่ามีการกัดฟันน้อยในเด็กก่อนวัยเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอายุ 6-8.11 ปี มีจำนวนการกัดฟันมากที่สุด และอัตราการกัดฟันจะลดลงเมื่อเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป 
          สาเหตุของการกัดฟันอาจเกิดจากความวิตกกังวลและความตึงเครียด  ปวดฟัน ปวดหู  ตำแหน่งของฟันไม่เหมาะสม เช่น การสบฟันผิดปกติ  มีร่องฟันแบบมงกุฏ /สะพาน  มีซี่ฟันแบบมงกุฎ  ฟันล่างสูงเกินไปเนื่องจากมีฟันเกิน เป็นต้น
          ลักษณะการกัดฟันที่พบคือ กัดเป็นครั้งคราวและกัดเป็นประจำ ปัญหาของการกัดฟันคือ ทำให้มีเสียงรบกวน  ทำให้ฟันกร่อน  ถึงแม้ปัญหาการกัดฟันจะเป็นปัญหาที่ควรใส่ใจแต่ก็ไม่ควรมากเกินไป
          การป้องกันการเสียหายของฟัน อาจทำโดยใส่ night guard mouth ซึ่งมักแนะนำเมื่อเด็กมีฟันแท้ขึ้น  แต่สำหรับในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ทำได้ยากเพราะเด็กต้องยินยอมใส่
          เมื่อพบว่าเด็กกัดฟัน สิ่งควรทำคือหาสาเหตุ ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้  การรักษาตามสาเหตุเช่น การให้คำปรึกษาในการจัดการกับความเครียด การใช้เครื่อง biofeedback สำหรับการกัดฟันในเวลากลางวัน  พบนักกิจกรรมบำบัด  การให้ยาคลายกล้ามเนื้อขากรรไกรก่อนนอนสำหรับการกัดฟันเวลากลางคืน

เคล็ดลับในการช่วยหยุดการกัดฟัน
• หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น โคลา ช็อคโกแลต  กาแฟ
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
• อย่าเคี้ยวดินสอ ปากกา  หมากฝรั่ง
• ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร โดยฝึกตัวเองในเวลากลางวัน เมื่อรู้ตัวว่ากัดฟันให้วางปลายลิ้นให้อยู่ระหว่างฟัน  ในเวลากลางคืนให้วางผ้าชุบน้ำอุ่นบริเวณข้างติ่งหู

ก่อนใช้โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มอาการดาวน์
Step 1 :
  ตรวจสอบปัญหาทางการแพทย์ ดังนี้ ตรวจการได้ยิน การมองเห็น  การทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ คัดกรองการอักเสบของลำไส้เล็ก  ปัญหาการนอนหลับ โรคโลหิตจาง ปัญหาความเจ็บปวดหรือไม่สบายต่าง ๆทางกาย เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก  การติดเชื้อในหู
Step 2 : ตรวจสอบปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ การตรวจสอบว่าพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้นเป็นอาการของ ความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นหรือไม่  โดยสอบถามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่บ้าน การมีเหตุการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนไป หรือครอบครัวกำลังเผชิญกับภาวะความเครียดบางอย่างอยู่หรือไม่
Step 3 : ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบปัญหาทางการแพทย์และจิตใจ ให้ดำเนินการใช้โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้  ซึ่งสิ่งที่ต้องการสำหรับผู้ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ ความรู้  ทักษะ  ความมุ่งมั่น ความคงเส้นคงวา เวลา  ความอดทน  ความว่องไวในการตัดสินใจที่ดี

เอกสารอ้างอิง
1. Buckley S. 2011,December 27. Teeth grinding. [Online].Available URL: http//www. down –syndrome.org/updates/2048/ 
2. Patterson B. and Franer SM. 2006.Challenging behavior in Down Syndrome.National Association for Down Syndrome Conference .Workshop Handouts .2006 ,November 4.
3. Down Syndrome Behavior Issues.2012,May 10. [Online].AvailableURL:http//www.livestrong.com/ article /135364 -down –syndrome –behavior –issues/
4. Down Syndrome Ireland- Registered Charity.2012,May 10.Behavior management. [Online].Available URL: http//www.downsyndrome.ie/index.php/gene
5. National Down syndrome society. 2012,February 3. Managing Behavior. [Online].Available URL: http://ndss.org/index.php?  option=com_content&view=article&id =69&Itemid =90&showall=1  
6. Teeth Grinding (Bruxism).2011,December 27.  [Online].Available URL: http//www. medicinenet.com/ teeth_grinding_bruxism/ article.htm
7.Teeth Grinding. 2011,December 27.  [Online].Available URL: http//www. toothandteeth.com/teeth –grinding-bruxism.html
8. Why does my toddler grind her teeth &how can I stop it ? 2011,December 27.  [Online].Available URL: http//www.thelaboroflove.com/ why- does- my- toddler –grind- her- teeth –how- can- i- stop- it

    

 

  View : 31.49K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,555
 เมื่อวาน 1,949
 สัปดาห์นี้ 3,553
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 22,960
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 815,611
  Your IP : 185.191.171.6