
กลุ่มอาการออทิสติก : (AUTISTIC SPECTRUM DISORDER)
- มีปัญหาด้านทักษะทางสังคมและการสื่อสาร รวมถึงชอบทำพฤติกรรมและมีความสนใจที่จำกัด มักเป็นรูปแบบซ้ำไปมาไม่ยืดหยุ่น
- บางรายอาจมีความบกพร่องทางสติปัญญาแต่บางรายอาจมีความสามารถพิเศษ
- การสำรวจพบว่าประชากรไทยประมาณ 6 คนใน 1,000 คนมีอาการออทิสติก
กลุ่มอาการออทิสติก(Autistic Spectrum Disorder) จัดอยู่ในกลุ่มโรคพัฒนาการระบบประสาท (Neurodevelopmental Disorders) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวแสดงให้เห็นก่อนอายุ 3 ขวบ โดยเด็กจะไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคมและภาษาได้เหมาะสมตามวัย แต่มักมีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น แม้จะยังหาสาเหตุความผิดปกติดังกล่าวที่แน่ชัดไม่ได้แต่วิทยาการในปัจจุบันสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัย และดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมามีความพยายามศึกษาถึงสาเหตุของออทิสติก แต่ยังคงไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติที่แน่ชัดได้ ในปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุทางชีววิทยาและพันธุกรรมมากกว่าเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูภายหลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้ว
· ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าพันธุกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้บุคคลเสี่ยงต่อการเป็นออทิสติก ทั้งจากประวัติของผู้เป็นออทิสติกที่มักมีญาติใกล้ชิดเป็นออทิสติกเช่นกัน (Hallmayer และคณะ, 2011) หรือความผิดปกติในระดับโครโมโซมหลายตำแหน่ง เช่น ภาวะผิดปกติของโครโมโซม X (fragile X syndrome ) โรคเส้นโลหิตตีบตัว (Tuberous sclerosis) เป็นต้น (Cohen และคณะ, 2005)
· การกระทบเทือนในระหว่างอยู่ในครรภ์ อาจถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะออทิสติกได้ เนื่องจากมารดาที่มีบุตรออทิสติกมักพบว่ามีประวัติการกระทบเทือนในระหว่างอยู่ในครรภ์ในมากกว่าเด็กปกติทั่วไป เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ในอายุที่มากกว่า 30 ปีขึ้นไป ภาวะเลือดออกตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ตั้งครรภ์ การใช้ยาบางตัว เป็นต้น (Gardener, Spiegelman, และ Buka, 2011)
· ปัจจัยทางชีวภาพ พบว่าเด็กออทิสติกบางส่วนจะมีความผิดปกติทางด้านชีวภาพในร่างกาย เช่น ปริมาณการเติบโตของเนื้อสมองส่วนสีเทา (grey matter) และเนื้อสมองส่วนสีขาว (white mater) ปริมาณสาร serotonin ในเลือดสูง ลักษณะของคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ เป็นต้น (มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์, 2558)
การเลี้ยงดูที่ไม่ดีแม้ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดภาวะออทิสติก แต่อาจทำให้เด็กที่มีภาวะออทิสติกอยู่แล้วมีความบกพร่องมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้วเด็กออทิสติกจะมีลักษณะร่างกายภายนอกที่ไม่แตกต่างจากเด็กปกติ แต่จะเป็นลักษณะพฤติกรรมที่ผิดไปหรือเป็นปัญหา ได้แก่ ความบกพร่องทางสังคม ทางภาษาและการสื่อสาร รวมถึงการชอบทำอะไรซ้ำๆ เป็นรูปแบบ (มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์, 2558) อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีลักษณะตามที่กล่าวมาก็ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่าเด็กมีภาวะออทิสติกหรือไม่ ต้องใช้การวินิจฉัยทางคลินิกโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เกณฑ์วินิจฉัยตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ฉบับที่ 5 (Diagnostic and statistical manual of mental disorders : DSM-5 (5th ed.) (American Psychiatric & American Psychiatric Association, 2013) บุคคลที่จะถือว่าเป็นออทิสติกจะต้องมีอาการดังนี้
มีความบกพร่องในด้านการสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ในสังคม ในบริบทต่าง ๆ ดังนี้
ลำบากในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบได้ตามปกติไปจนถึงมีความสนใจและมีอารมณ์ร่วมน้อยในสถานการณ์ทางสังคม เช่น ไม่แสดงท่าทีเข้าหาแม้ว่าจะเป็นผู้ใกล้ชิดที่มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ชอบแยกตัว โลกส่วนตัวสูง ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
มีความบกพร่องในพฤติกรรมการสื่อสาร ตั้งแต่อาจไม่ใช้ภาษาพูดเลย หรืออาจใช้ภาษาแปลกๆ ที่มีแต่ตนเองเข้าใจ หรือชอบสลับคำพูดในประโยค ใช้คำไม่ถูกต้อง จนทำให้ผู้อื่นไม่เข้าใจความหมาย มีการสบตาหรือภาษากายที่ผิดปกติ ไม่สามารถเข้าใจท่าทางหรือใช้ท่าทางประกอบการสื่อสารไม่เป็น ไปจนถึงการไม่สามารถแสดงออกทางสีหน้าหรือภาษากาย หรือแสดงออกแต่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
มีความบกพร่องในการสร้าง รักษา และเข้าใจในความสัมพันธ์ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ มีปัญหาในการปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทในสังคม ความยากลําบากในการร่วมเล่นบทบาทสมมุติ การสร้างมิตรภาพกับเพื่อน ไปจนถึงขาดความสนใจในการเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อน
มีพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมจํากัดและซ้ำๆ โดยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อจากหัวข้อดังต่อไปนี้
มีการเคลื่อนไหว การใช้สิ่งของ หรือภาษาซ้ำๆ แบบเดิม เช่น กระโดดสะบัดมือ เดินเขย่งหรือซอยเท้า การปรบมือบ่อยๆ หรือทุบตีตนเอง
ยึดติดกับกิจวัตรแบบเดิมๆ โดยไม่ยืดหยุ่น เช่น จะทำกิจวัตรประจำวันเมื่อถึงเวลาเป๊ะๆ เท่านั้น และจะรู้สึกไม่ดีเป็นอย่างมากจนถึงขั้นทำกิจกรรมต่อไม่ได้หากมีการเปลี่ยนแปลง
มีความสนใจที่ผิดปกติ จํากัด และไม่ยืดหยุ่นอย่างมาก เช่น ชอบดูรูปภาพเดิมซ้ำๆ ชอบจ้องมองพัดลมหมุนได้นาน สะบัดแผ่นซีดีไปมาเพื่อดูแสงเงา
มีการตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับทางประสาทสัมผัส (การได้ยิน ได้กลิ่น มองเห็น สัมผัส และรับรส) มากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับคนทั่วไป เช่น เด็กที่ไวต่อเสียงจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านรุนแรง หรือเด็กที่ได้กลิ่นไม่ชัดอาจติดพฤติกรรมดมสิ่งของก่อนหยิบเล่น
อาการต่างๆ ต้องเกิดขึ้นในช่วงต้นของพัฒนาการ มักไม่เกินช่วงอายุ 3 ปี (แต่อาจไม่แสดงอาการเต็มที่ จนกระทั่งเด็กมีพัฒนาการด้านสังคมและภาษาไม่ทันตามเกณฑ์ที่ควรเป็นหรือที่สังคมคาดหวังจากเด็กวัยเดียวกัน) อาการต่างๆ เป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องทางสังคม อาชีพ หรือการทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือรบกวนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของเด็ก
ความผิดปกติเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ตามเกณฑ์กลุ่มโรคอื่น เช่น บกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability; ID) หรือพัฒนาการช้ารอบด้าน (Global Delay Development; GDD)
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของภาวะออทิสติกเพื่อใช้ประเมินแนวทางการดูแลรักษา โดยดูจากความบกพร่องของทักษะในด้านสังคมและการสื่อสาร และปัญหาความจำกัดในพฤติกรรมซ้ำๆ แบบออกเป็น 3 ระดับ (Childbrain, 2021)
ต้องการช่วยเหลือเป็นบางครั้ง (Requiring Support) เนื่องจากมีความรุนแรงของโรคไม่มาก เช่น มีปัญหาแค่ขาดการวางแผน ขาดความยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมต่างๆ มีความต้องการเข้าสังคมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ต้องการช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ (requiring substantial support) เนื่องจากมีความรุนแรงของโรคระดับปานกลาง มีความลำบากในการใช้ภาษาพูดหรือภาษากายในการสื่อสารทางสังคม มีรูปแบบพฤติกรรมที่แปลกซ้ำๆ และลำบากในการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม หรือเปลี่ยนความสนใจไปที่กิจกรรมอย่างอื่นบ้างนอกเหนือจากกิจกรรมที่ชอบ
ต้องการช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา (requiring very substantial support) เนื่องจากมีความรุนแรงของโรคมากทั้งในด้านการสื่อสารด้วยภาษาพูดและภาษากาย ทำกิจกรรมได้อย่างจำกัด มีพฤติกรรมแปลก และพฤติกรรมซ้ำซากอย่างมาก พฤติกรรมทั่วไปอาจแสดงออกแค่เพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานเท่านั้น
ระดับความต้องการช่วยเหลือนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามระยะเวลาและบริบทที่เปลี่ยนไป จึงควรมีการปรึกษาร่วมกันระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญและตัวผู้ดูแลอยู่เสมอ (National Autistic Society, 2020) นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กออทิสติก จำนวน 2 ใน 3 ยังคงต้องต้องพึ่งพิงผู้อื่น และต้องการผู้ดูแลตลอดชีวิต ในขณะที่จำนวนอีก 1 ใน 3 สามารถพึ่งพาตนเองได้พอสมควร และต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น และพบว่ามีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ (ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, 2548 )
อาการ Asperger syndrome เคยใช้ในการวินิจฉัยและอธิบายบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับทักษะทางสังคมและมีความสนใจในกิจกรรมหรือแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ โดยที่บุคคลเหล่านี้มีความสามารถทางสติปัญญาและความฉลาดทางภาษาเหมือนคนทั่วไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เนื่องจากเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะออทิสติกถูกปรับเปลี่ยนให้กว้างและครอบคลุมขึ้น ผู้มีอาการเข้าข่าย Asperger syndrome จึงอาจไม่ถูกวินิจฉัยด้วยชื่อนี้อีกต่อไป แต่จะยังเทียบได้ว่าเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มออทิสติกที่มีทักษะสูง (High-functioning autism) นั่นเอง เนื่องจากอาการของโรคออสิทติกไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับเด็กออทิสติกคนอื่นๆ (National Autistic Society, 2020)
การเป็นอัจฉริยะกับภาวะออทิสติก มีภาพยนตร์และสารคดีมากมายในระยะหลังที่นำเสนอภาพของบุคคลออทิสติกที่ถึงแม้จะมีความผิดปกติในด้านการเข้าสังคมและพฤติกรรม แต่กลับมีความสามารถเฉพาะทางจนถึงเข้าขั้นอัจริยะในศาสตร์หลากหลายประเภท เช่น คณิตศาสตร์ ศิลปะและดนตรี วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่าเหตุใดภาวะออทิสติกจึงมักเกี่ยวข้องกับการมีพรสวรรค์ ในขณะที่กลุ่มอาการนี้ถูกจัดว่าเป็นผิดปกติทางพัฒนาการแบบหนึ่ง ทั้งนี้ในสมัยก่อนผู้ที่เป็นออทิสติกจะถูกมองว่ามีความฉลาดต่ำกว่าบุคคลทั่วไป อาจเป็นเพราะการทดสอบความสามารถนั้นมักจำกัดอยู่ไม่กี่ประเภทและต้องพึ่งพาทักษะทางภาษาพูดซึ่งเป็นข้อบกพร่องของเด็กออทิสติก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและแบบทดสอบความสามารถทางสติปัญญาถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายขึ้น ทำให้เด็กออทิสติกที่เคยได้รับการทดสอบแล้วพบว่ามีความสามารถจำกัดได้แสดงความทักษะพิเศษที่ซ่อนอยู่ (AppliedBehaviorAnalysisEDU.org, 2021) อย่างไรก็ตามแม้จะเด็กออทิสติกบางรายที่มีความสามารถมากจนถูกจัดอยู่ในระดับการมีพรสรรค์ แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.5 ของเด็กออทิสติกทั้งหมด ดังนั้นการมีภาพจำว่าเด็กออทิสติกจะต้องเป็นอัจฉริยะนั้นอาจะดูเป็นเรื่องดีและมองความแตกต่างเหล่านี้ในแง่บวก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างความลำบากให้แก่ตัวเด็กและผู้ปกครองเอง เนื่องจากอาจเป็นการสร้างความคาดหวังแบบผิดๆ หรือตัดกำลังใจพ่อแม่ซึ่งมีลูกออทิสติกที่มีความสามารถไม่เท่าคนอื่นได้ (Christian, 2014) นอกจากนี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกแล้วบางครั้งความเป็นอัจฉริยะอาจจะถูกมองข้ามไป ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากอาจไปให้ความสำคัญกับความผิดปกติมากกว่าความสามารถที่เด็กมีและมองว่าความหมกหมุ่นในกิจกรรมเหล่านั้นเป็นปัญหามากกว่าโอกาสในการพัฒนาตัวเด็ก ดังนั้นแนวทางดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือการส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการแก้ไขความบกพร่อง จึงจะสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กมาใช้ได้เต็มที่
ในปัจจุบันยังไม่มีวิทยาการใดที่สามารถรักษาอาการออทิสติกให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาทางการแพทย์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การเข้ารับบริการและส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต (แรกเกิดถึงสามปี) จะช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้จริง โดยแฉพาะการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญจำเป็นต่อการใช้ชีวิต ช่วยให้เด็กสามารถพูด เคลื่อนไหว และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เท่าที่ศักยภาพเด็กมี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องรีบเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์หรือบุคลากรสาธารสุขโดยเร็วที่สุดหากพบว่าบุตรหลานมีความเสี่ยงต่อการเป็นออทิสติก ซึ่งการบำบัดรักษาและฟื้นฟูในปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางดังต่อไปนี้ ซึ่งแต่ละรายจะเลือกใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกติ และการวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ปกครอง ( Center for Disease Control and prevention, 2020 ; ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, 2548)
1. ส่งเสริมพลังครอบครัว (Family Empowerment)
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก สามารถทำได้โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะออทิสติก การสอนทักษะในการกระตุ้นพัฒนาการ สอนทักษะการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กหรือกับครอบครัวตนเอง รวมถึงการสอนทักษะการประคับคองจิตใจของคนในครอบครัว
2. ส่งเสริมความสามารถเด็ก (Ability Enhancement)
เป็นการมุ่งเสริมทักษะในสิ่งที่เด็กสนใจ หรือสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ดีหรือทำได้ เช่น ส่งเสียงอะไรได้บ้าง พูดคำว่าอะไรได้บ้าง เล่นอะไรเป็นบ้าง ดูแลช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอะไรได้บ้าง แล้วขยายสิ่งที่เด็กทำได้เหล่านี้ให้สามารถทำได้ดียิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำบ่อยๆ แล้วสอนเพิ่มในเรื่องที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เด็กทำได้ ซึ่งจะเป็นการขยายขอบเขตความสามารถเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการเสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้เล่นของเล่นที่หลากหลาย หรือได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา งานศิลปะต่างๆ รวมทั้งช่วยงานบ้านหรืองานอื่นๆ ที่พ่อแม่ทำอยู่ ก็จะช่วยให้เด็กมีโอกาสแสดงความสามารถให้เห็นเพิ่มขึ้นเช่นกัน
3. ส่งเสริมพัฒนาการ (Early Intervention)
การส่งเสริมพัฒนาการ คือการจัดกิจกรรมเพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย โดยตามยึดหลักพัฒนาการและลำดับขั้นพัฒนาการของเด็กปกติ ซึ่งควรเริ่มต้นส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่อายุน้อย โดยต้องทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ การออกแบบการฝึกต้องให้เหมาะสมตามสภาพปัญหา ระดับความสามารถ และความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเด็กมีทักษะพื้นฐานเหล่านี้ดีแล้วการต่อยอดในทักษะที่ยากขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
4. พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy)
โปรแกรมพฤติกรรมบำบัดประกอบด้วย การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behavior Analysis - ABA) และกระบวนการฝึกปรับพฤติกรรม (Behavioral Modification Procedure) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อเนื่อง หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ การทำพฤติกรรมบำบัดตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือ การให้แรงเสริมเมื่อมีพฤติกรรมที่ต้องการ แรงเสริมมีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ขนม ของเล่น สติกเกอร์ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น คำชมเชย ตบมือ ยิ้มให้ กอด เป็นต้น
5. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medical Rehabilitation)
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ประกอบด้วย การแก้ไขการพูด กิจกรรมบำบัด หรือกายภาพบำบัด ตามสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการในด้านการใช้ภาษาและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่พร้อมต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำกิจกรรมที่ซับซ้อนต่อไปได้ดีขึ้น
6. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา (Educational Rehabilitation)
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง แทนการฝึกแต่เพียงทักษะทางวิชาการเท่านั้น ซึ่งแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program; IEP) จำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับความสามารถ ความบกพร่อง และความสนใจของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่าย ไม่สับสน และเด็กสามารถนำทักษะที่ได้จากชั้นเรียนไปใช้นอกห้องเรียนได้จริง
7. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม (Social Rehabilitation)
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม ประกอบด้วยการฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องกิจวัตรประจำวันจนสามารถปฏิบัติเองได้เพื่อลดการต้องพึ่งพาผู้อื่น การฝึกฝนทักษะสังคม เป็นการสอนให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น รวมถึงวิธีปฎิบัติตนที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ การฝึกฝนเหล่านี้นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
8. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ (Vocational Rehabilitation)
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ มักเริ่มจากการให้ทำงานในสถานพยาบาล หรือสถานที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนไปสู่ตลาดแรงงานจริง หรือการประกอบอาชีพส่วนตัวที่อยู่ภายใต้การชี้แนะ การฝึกอาชีพ การจัดหางาน และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถทำงาน มีรายได้ และดำรงชีวิตโดยอิสระได้ และพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุดตามความถนัดของแต่ละคน
9. การรักษาด้วยยา (Pharmacotherapy)
การรักษาด้วยยาไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อรักษาให้หายขาดจากออทิสติกโดยตรง แต่นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการบางอย่างที่เกิดร่วม เด็กออทิสติกทุกคนไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา และทุกคนเมื่อรับประทานยาแล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องไปตลอดชีวิต แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยา หรือหยุดยา เมื่ออาการเป้าหมายทุเลาลงแล้ว ในปัจจุบันยังไม่พบว่ามียาตัวใดที่ช่วยแก้ไขความบกพร่องด้านการสื่อสารและด้านสังคม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเด็กออทิสติกได้ ส่วนยาที่นำมาใช้พบว่ามีประโยชน์ในการลดพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว และพฤติกรรมหมกมุ่น
10. การบำบัดทางเลือก (Alternative Therapy)
นอกจากแนวทางหลักที่ใช้ในการบำบัดรักษาข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันยังมีแนวทางการบำบัดทางเลือกที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้ควบคู่กับแนวทางหลัก ตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหาและผลการตอบสนองที่ได้รับของเด็กแต่ละคน ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจคือ การบำบัดทางเลือกใช้เพื่อเสริมแนวทางหลักให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นไม่ใช่เพราะการบำบัดทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวแล้วจะได้ผล การบำบัดทางเลือก มีตัวอย่างดังนี้
- การสื่อความหมายทดแทน (Augmentative and Alternative Communication; AAC)
- ศิลปกรรมบำบัด (Art Therapy)
- ดนตรีบำบัด (Music Therapy)
- เครื่องเอชอีจี (HEG; Hemoencephalogram)
- การฝังเข็ม (Acupuncture)
- การบำบัดด้วยสัตว์ (Animal Therapy)
- การบำบัดด้วยหุ่นยนต์ (Robot Therapy)
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล (Copeland, 2018 ; Renee, 2020)
· เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะออทิสติกจากแหล่งต่างๆ ที่เชื่อถือได้ให้มากที่สุด
· การมีบุตรหลานที่เป็นออทิสติกส่งผลกระทบกับทั้งครอบครัว ฉะนั้นจึงควรให้เวลากับตนเองและสมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพื่อเรียนรู้และยอมรับของอาการออทิสติกที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป รวมถึงหมั่นสังเกตทั้งสุขภาพกายและจิตใจของทั้งครอบครัวด้วย
· พยายามมองหาพฤติกรรมทางบวก เด็กออทิสติกสามารถตอบสนองได้ดีหากได้รับการเสริมแรง ดังนั้นหากเด็กสามารถทำอะไรได้ หรือมีพฤติกรรมใดที่เหมาะสมแม้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ควรชื่นชม หรือให้สิ่งตอนแทนเล็กๆ เช่น สติ๊กเกอร์ ซี่งจะทำให้เด็กรู้สึกดีและเรียนรู้ว่าควรทำพฤติกรรมนั้นต่อไป
· พยายามจัดกิจกรรมให้เด็กเป็นตารางเวลาอย่างมีแบบแผนและสม่ำเสมอ เช่น การให้คำแนะนำ การซ้อมทักษะทางสังคม การทำกิจกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะได้ฝึกฝนและเรียนรู้ที่บ้านได้ และยังเป็นการต่อยอดจากการบำบัดที่สถานพยาบาลหรือโรงเรียน โดยที่เด็กไม่รู้สึกกดดันมากเกินไป และยังทำให้การเรียนรู้ทักษะใหม่ รวมทั้งการปรับใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลายเป็นไปได้ง่ายขึ้น
· ลองให้เด็กทำกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนานร่วมกันในครอบครัว เช่น อาจทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กให้ความสนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กเปิดรับและมีความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น
· เข้าร่วมหรือติดต่อกับเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นออทิกติกเช่นเดียวกัน เพื่อใช้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนกันทั้งทางด้านทักษะในการเลี้ยงดู รวมทั้งการช่วยเหลือกันและกันด้านจิตใจ
· พาเด็กไปร่วมทำกิจวัตรประจำวันในสถานที่ต่างๆ เช่น การไปจับจ่ายสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์ทางสังคม รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ เข้าพบและขอความช่วยเหลือกับผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมในกรณีที่พบปัญหาที่เป็นกังวล
มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.). (2558). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี (พิมพ์ครั้งที่ 4)
กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2548). คู่มืออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สำนักข่าว hfocus. (2557). เผยผู้ป่วยออทิสติกเข้าถึงการรักษาแค่15%. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564, จาก
https://www.hfocus.org/content/2014/04/6833
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2559). การเผยแพร่ข้อมูลสถิติทางการ: ความชุกของโรคออทิสติก (Autistic) ใน
ประชากรทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564, จาก http://statv2.nic.go.th/Health
/05020203_06.php.
American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and Statistical Manual for Mental
Disorders, 5th edition. Washington, DC: Author.
AppliedBehaviorAnalysisEDU.org. (2021). What are the Extremes of Intelligence Seen on the
Autism Spectrum. Retrieved April 21, 2020, from
https://www.appliedbehavioranalysisedu.org/what-are-the-extremes-of-intelligence-
seen-on-the-autism-spectrum.
Baio, J., Wiggins, L., Christensen, D. L., Maenner, M. J., Daniels, J., Warren, Z., ... & Dowling, N.
F. (2018). Prevalence of autism spectrum disorder among children aged 8 years—Autism
and developmental disabilities monitoring network, 11 sites, united states, 2014. MMWR
Surveillance Summaries, 67(6), 1.
Ballaban-Gil K, Tuchman R (2000). Epilepsy and epileptiform eeg: association with autism
And language disorders. Mental Retardation and Developmental Disabilities Research
Reviews. 6 (4): 300–8
Center for Disease Control and prevention. (2020). Autism Spectrum Disorder (ASD).
Retrieved April 21, 2020, from https://www.cdc.gov/ncbddd/autism/facts.html.
Childbrian. (2021). What is ASD (Autism Spectrum Disorder). Retrieved April 21, 2020, from
http://www.childbrain.com/services/autism/what-is-asd-autism-spectrum-disorder.
Christian, J. (2014). Autism – myth and reality. The Psychologist, 27(10), 746-749.
Cohen, D., Pichard, N., Tordjman, S., Baumann, C., Burglen, L., Excoffier, E., ... & Héron, D.
(2005). Specific genetic disorders and autism: clinical contribution towards their
Identification. Journal of Autism and Developmental Disorders, 35(1), 103-116.
Copeland, j. (2018). What Is Autism Spectrum Disorder?. Retrieved April 21, 2020, from
www.psychiatry.org/patients-families/autism/what-is-autism-spectrum-disorder
Gardener, H., Spiegelman, D., & Buka, S. L. (2011). Perinatal and neonatal risk factors for
Autism: a comprehensive meta-analysis. Pediatrics, 128(2), 344-355.
Hallmayer, J., Cleveland, S., Torres, A., Phillips, J., Cohen, B., Torigoe, T., ... & Risch, N. (2011).
Genetic heritability and shared environmental factors among twin pairs with autism.
Archives of General Psychiatry, 68(11), 1095-1102.
Lugnegård, T., Hallerbäck, M. U., & Gillberg, C. (2012). Personality disorders and autism
spectrum disorders: what are the connections?. Comprehensive Psychiatry, 53(4),
333-340.
Mash, E., & Barkley, R. (2003). Child Psychopathology. New York: The Guilford Press.
National Autistic Society. (2020). Diagnostic Criteria - a Guide for All Audiences. Retrieved
April 21, 2020, from https://www.autism.org.uk/advice-and guidance/topics/ diagnosis/
diagnostic-criteria/all-audiences.
National Health Service. (2018). Signs of Autism in Children. Retrieved April 21, 2021, from
https://www.nhs.uk/conditions/autism/signs/children.
O'Brien, G., & Pearson, J. (2004). Autism and learning disability. Autism. 8 (2): 125–40.
Oliver, C., & Richards, C. (2015). Practitioner review: self‐injurious behaviour in children with
Developmental delay. Journal of Child Psychology and Psychiatry, 56(10), 1042-1054.
Renee, A. (2020). Tips for Parenting a Child on the Autism Spectrum. Retrieved April 21, 2021,
from https://www.webmd.com/brain/autism/parenting-child-with-autism
Rommelse, N. N., Franke, B., Geurts, H. M., Hartman, C. A., & Buitelaar, J. K. (2010). Shared
heritability of attention-deficit/hyperactivity disorder and autism spectrum disorder.
European Child & Adolescent Psychiatry, 19(3), 281-295.
ผู้เขียน สุชารัตน์ ลิมปะนพรัตน์ (บรรณาธิการ : แพทย์หญิงชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ และดร.จันทนี มุ่งเขตกลาง )
Update : 23 มิ.ย. 2564