กลุ่มโรคสำคัญ > กลุ่มโรคพัฒนาการระบบประสาท (แบ่งตาม DSM-5)

โรคสมาธิสั้น : Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)

- ขาดสมาธิ ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น
- ส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรมและการเรียนและต่อเนื่องได้จนถึงตอนโตหากไม่รับการรักษา
- การสำรวจในไทยปี 55 พบว่าเด็กประถมร้อยละ 8 ประสบปัญหาสมาธิสั้น



       โรคสมาธิสั้น หนึ่งในกลุ่มโรคพัฒนาการระบบประสาท (Neurodevelopmental Disorders) ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียน การเข้าสังคม  รวมถึงส่งผลถึงด้านอื่นๆ ของชีวิตได้เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมได้แก่ ขาดสมาธิ  ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจ ที่เป็นมากกว่าพฤติกรรมตามปกติของเด็กในระดับพัฒนาการเดียวกัน



 จากงานวิจัยโดยเฉพาะในช่วงปีหลังมีหลักฐานสนับสนุนว่าโรคสมาธิสั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหลัก ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มากระทบได้ตั้งแต่ช่วงที่ตั้งครรภ์และหลังคลอด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบประสาทและสมอง (ADHD Institute, 2019)โดยมีรายละเอียดดังนี้




  • โรคสมาธิสั้นในเด็กประมาณร้อยละ 75 เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ (Brikell, Kuja‐Halkola, & Larsson, 2015)ซึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันสามารถะบุได้ถึงยีนส์หลักๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคสมาธิสั้นได้ เช่น DAT1 DRD4 เป็นต้น (Faraone, Bonvicini, & Scassellati, 2014)


  • โรคสมาธิสั้นมีความสัมพันธ์ชัดเจนกับความผิดปกติในสมอง ทั้งลักษณะโครงสร้างและการทำงาน เช่น มีปริมาณเนื้อสมองน้อยกว่าทั่วไป การทำงานของระบบสารสื่อประสาท dopamine ที่เติบโตช้า (Tomasi & Volkow, 2014)


  • ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดอาจก่อให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้ เช่น การได้รับสารพิษอย่างตะกั่ว บุหรี่ โดยเฉพาะสุรา ความเครียดของมารดา  การขาดสารอาหารจนเกิดภาวะทุพโภชนาการ  การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ภาวะน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย (มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.), 2558)



 



หมายเหตุ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนตามความเชื่อที่ว่าการรับประทานน้ำตาลปรุงแต่งที่มากไป การใช้หน้าจอ สภาพการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมอย่างความยากจนหรือสภาพครอบครัวที่ไม่ดี จะเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้นได้ อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจทำให้บุคคลที่เป็นโรคสมาธิสั้นเดิมอยู่แล้วมีอาการแย่ลงได้ (The Centers for Disease Control and Prevention, 2020)



     



 การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นเป็นการวินิจฉัยทางคลินิกโดยแพทย์จะทำการซักประวัติ สัมภาษณ์ข้อมูลจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมถึงมีการตรวจร่างกายและควบคู่ไปกับการสังเกตพฤติกรรมเด็กด้วย (มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.), 2558)โดยต้องประเมินด้วยแบบประเมินพฤติกรรมเด็ก การตรวจทางจิตวิทยา เช่น ตรวจเชาวน์ปัญญา ตรวจวัดความสามารถทางด้านการเรียน (สถาบันราชานุกูล,2555)



     ทั้งนี้เกณฑ์วินิจฉัยตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ฉบับที่ 5 (Diagnostic and statistical manual of mental disorders : DSM-5 (5th ed.) (American Psychiatric Association, 2013)บุคคลที่จะถือว่าเป็นสมาธิสั้นต้องมีอาการดังนี้



- มีกลุ่มอาการขาดสมาธิ (Inattention) คือไม่สามารถคงความสนใจ หรือจดจ่อกับกิจกรรมตามสมควรของอายุและพัฒนาการได้ เช่น กิจกรรมการเรียน งานบ้าน มักถูกสิ่งเร้าอื่นๆดึงดูดความสนใจได้ง่าย เหม่อลอย ดูเหมือนไม่ใส่ใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูดด้วย มักไม่สามารถวางแผนทำสิ่งต่างๆ ได้ หรือวางแผนแล้วแต่ทำตามไม่ได้ มีความลำบากหรือไม่ชอบที่จะทำงานตามระบบ งานที่ต้องใช้ความพยายาม



-และ/หรือมีกลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง-หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity-impulsivity) คือซนมาก มักอยู่นิ่งไม่ได้ มีอาการหยุกหยิกนั่งไม่ติดเก้าอี้ เคลื่อนไหวตลอด ชอบโลดโผน ซึ่งเมื่อเทียบแล้วจะเป็นมากกว่าปกติเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันในสถานการณ์เดียวกัน อาจมีพฤติกรรมพูดมากเกินความจำเป็น พูดแทรก และมีความลำบากในการรอทำอะไรตามลำดับ รวมไปถึงมักตอบสนองต่อสิ่งเร้าทันทีโดยปราศจากการไตร่ตรอง ใจร้อน ทำให้เกิดปัญหาเวลาต้องทำงานหรือเล่นร่วมกับคนอื่นได้



-อาการขาดสมาธิหรืออาการอยู่ไม่นิ่ง/หุนหันพลันแล่นต่างๆ นั้น ปรากฏให้เห็นก่อนอายุ 12 ปี



-อาการขาดสมาธิหรืออาการอยู่ไม่นิ่ง/หุนหันพลันแล่นต่างๆ นั้น ปรากฏให้เห็นในสถานการณ์อย่างน้อย 2 แหล่ง เช่น บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล เกิดระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆ เกิดเมื่ออยู่กับเพื่อน กับญาติ ฯลฯ



          นอกจากนี้แพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่นๆที่อาจทำให้เด็กมีอาการคล้ายกันได้แก่ พฤติกรรมซนปกติตามวัย ปัญหาจากการเลี้ยงดูที่ขาดการฝึกระเบียบวินัย ปัญหาเกี่ยวกับสายตาหรือการได้ยิน โรคทางกายบางอย่างเช่นพิษจากสารตะกั่ว ลมชัก หรือธัยรอยด์เป็นพิษ ผลข้างเคียงจากยา เช่น phenobarbital  โรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น   ภาวะสติปัญญาบกพร่อง (Intellectual disability) บกพร่องทางการเรียนรู้(Learning Disorder) ออทิสติก (autistic disorder) ดื้อต่อต้าน (oppositional defiant disorder) โรคเกเร (conduct disorder) ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) โรควิตกกังวล (anxiety disorder) และปัญหาทางอารมณ์ (mood   disorder)



     





 



       การรักษาและฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพต้องเกิดจากการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สหวิชาชีพอื่นๆ ผู้ปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษา โดยใช้วิธีที่หลากหลายทั้งบำบัดโดยใช้ยา การแก้ไขพฤติกรรม การช่วยเหลือด้านจิตใจ การฝึกทักษะให้ความรู้ (National Institute of Mental Health, 2016; มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.), 2558; สถาบันราชานุกูล, 2557, 2558)



                  1. การใช้ยารักษา เช่น methylphenidate atomoxetine ฯลฯ ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นในทุกกลุ่มอาการและเห็นผลได้ชัดเจนรวดเร็ว ทำให้เด็กมีพฤติกรรมนิ่งขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้ เพราะยาจะเข้าไปปรับการทำงานของระบบประสาทและสมองที่ผิดปกติโดยตรง อย่างไรก็ตามจะเป็นเพียงช่วงที่ยาออกฤทธิ์เท่านั้น  ดังนั้นการใช้ยาเพื่อช่วยให้สมาธิดีขึ้นจึงจำเป็นต้องผสมผสานกับการปรับพฤติกรรมร่วมด้วยจึงจะได้ผลดี นอกจากนี้ตัวยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร ปวดศรีษะ ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และรับประทานตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เมื่อมีอการข้างเคียงเหล่านี้ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษา



                  2. การบำบัดอื่นๆ เช่น การบำบัดทางจิตวิทยา ซึ่งจะส่งเสริมความรู้สึกทางจิตใจของตัวเด็กและผู้ปกครองว่าไม่ได้เป็นความผิดของใคร ช่วยให้ผู้ปกครองมองเด็กในทางบวกมากขึ้น รวมถึงการปรับพฤติกรรมเพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น มีความอดทน และรู้จักควบคุมตนเองได้



                  3. การฝึกทักษะและให้ความรู้ จะช่วยให้ผู้ดูแลที่เกี่ยวข้องกับเด็กสมาธิสั้น เช่น พ่อแม่ ครู มีความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือและผลของการบำบัดรักษาที่เห็นผล การฝึกที่นิยมใช้ได้แก่ การอบรมทักษะเลี้ยงดูของผู้ปกครองเพื่อให้ส่งเสริมเด็กในทางที่เหมาะสมเป็น การจัดการอารมณ์และความเครียดเมื่อต้องรับมือกับปัญหาพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้น และการเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนทางสังคมที่จะเป็นพื้นที่ให้ผู้ปกครองของเด็กสมาธิสั้นได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและสนับสนุนซึ่งกันและกัน



                 4. การช่วยเหลือด้านการศึกษา ในบางสถานศึกษามีแผนการสอนที่ออกแบบมาเฉพาะ หรือเจ้าหน้าที่เฉพาะทางเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาสมาธิสั้น เพื่อให้ห้องเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และทำให้เด็กสมาธิสั้นสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนได้ 



     คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล (The Centers for Disease Control and Prevention, 2020; สถาบันราชานุกูล, 2557, 2558)



· ศึกษาและเรียนรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทักษะในการรับมือและสนับสนุนเด็กได้ดียิ่งขึ้น



· ทำใจและยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น และเข้าใจธรรมชาติของเด็กสมาธิสั้นว่าอาจรับมือยาก แต่เขาสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างและมีพฤติกรรมดีขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากผู้ดูแล



· ฝึกการควบคุมอารมณ์ และจัดการความเครียดของผู้ดูแลเอง



· ใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมเพื่อให้เด็กมีแนวโน้มการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น ได้แก่ 1) ลดสิ่งเร้าให้เด็กอยู่สภาพแวดล้อมที่สงบ มีตัวกระตุ้นน้อยสุดก่อนทำกิจกรรม 2) เพิ่มสมาธิ เริ่มจากการกำกับเด็กแบบตัวต่อตัว ค่อยๆเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรม 3)เพิ่มการควบคุมตนเอง ของเด็กด้วยการกำหนดระเบียบและตารางกิจกรรมที่ชัดเจนแต่ไม่มากไป มีการตั้งเป้าหมายง่ายๆและประเมินความก้าวหน้าให้เขารับรู้ มีการเสริมแรงทางบวกเมื่อทำดี และบทลงโทษที่สร้างสรรค์ รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กได้ระบายเมื่อรู้สึกไม่พอใจ



· การออกคำสั่งให้ใช้คำที่กระชับ เข้าใจง่าย ที่ละคำสั่ง และพูดในขณะที่เด็กพร้อมตั้งใจฟัง มองตา เน้นที่การบอกในสิ่งดีๆ ที่อยากให้เขาปฏิบัติ มากกว่าการออกคำสั่งห้ามทำอะไร



· เน้นการทำกิจวัตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ดี จำกัดเวลาการใช้หน้าจอ การออกกำลังกายเป็นประจำ การนอนหลับที่เหมาะสมกับวัย



·  ส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์ทางบวกด้วยเฉพาะกิจกรรมทางสังคม



มีการประสานงานกับคุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีแผนในการรับมือแม้ในสถานการณ์ที่ผู้ดูแลไม่สามารถอยู่ด้วยได้ที่โรงเรียน เช่น การจัดแผนการสอนให้เหมาะสม มีตารางเวลาที่แน่นอน เนื้อหาไม่ซับซ้อนเกินไป ช่วยเหลือให้เด็กมีเพื่อน ฯลฯ



ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ, พรทิพย์ วชิรดิลก, พัชรินทร์ อรุณเรือง, และธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล.

          (2556). ความชุกโรคสมาธิสั้นในประเทศไทย. วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย, 21(2), 66-75.



มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.). (2558). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ:

          ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.



สถาบันราชานุกูล. (2556). เผยเด็กไทยเป็นโรคสมาธิสั้นกว่า 300,000 คน.สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563

          จาก https://th.rajanukul.go.th/_admin/file-download/groupreview0000252.pdf.



สถาบันราชานุกูล. (2557). เด็กสมาธิสั้น คู่มือสำหรับพ่อแม่/ผุ้ปกครอง (พิมพ์ครั้งที่ 3 ). กรุงเทพฯ:

          บียอนด์ พับลิสชิ่ง.



สถาบันราชานุกูล. (2558). เด็กสมาธิสั้น คู่มือสำหรับครู (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง

          ประเทศไทย.



ADHD Institute. (2019). Burden of ADHD: Aetiology. Retrieved  May 14, 2020, from

          https://adhd-institute.com/burden-of-adhd/aetiology



American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental

          disorders (DSM-5®)
: American Psychiatric Pub.



Brikell, I., Kuja‐Halkola, R., & Larsson, H. (2015). Heritability of attention‐deficit hyperactivity

          disorder in adults. American Journal of Medical Genetics Part B: Neuropsychiatric

          Genetics, 168
(6), 406-413.



Faraone, S. V., Bonvicini, C., & Scassellati, C. (2014). Biomarkers in the diagnosis of

          ADHD–promising directions. Current psychiatry reports, 16(11), 497.



Fayyad, J., Sampson, N. A., Hwang, I., Adamowski, T., Aguilar-Gaxiola, S., Al-Hamzawi, A., . . .

          Florescu, S.(2017). The descriptive epidemiology of DSM-IV Adult ADHD in the world

          health organization world mental health surveys. ADHD Attention Deficit and

          Hyperactivity Disorders, 9
(1), 47-65.



Kooij, S. J., Bejerot, S., Blackwell, A., Caci, H., Casas-Brugué, M., Carpentier, P. J., . . .

          Fitzgerald, M. (2010).European consensus statement on diagnosis and treatment of

         adultADHD: The European Network Adult ADHD. BMC psychiatry, 10(1), 67.



National Health Service. (2018). Attention deficit hyperactivity disorder: Symptoms. Retrieved

          May 14, 2020,from https://www.nhs.uk/conditions/attention-deficit-hyperactivity-

          disorder-adhd/symptoms



National Institute of Mental Health. (2016). Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder (ADHD):

          The Basics. Retrieved May 14, 2020, from https://www.nimh.nih.gov/health/publications

           /attention-deficit-hyperactivity-disorder-adhd-the-basics/index.shtml



The Centers for Disease Control and Prevention. (2020). What is ADHD. Retrieved May 14,

          2020, from https://www.cdc.gov/ncbddd/adhd/facts.html



Tomasi, D., & Volkow, N. D. (2014). Functional connectivity of substantia nigra and ventral

          tegmental area: maturation during adolescence and effects of ADHD. Cerebral cortex,

          24
(4), 935-944.



Tsai, M.-H., & Huang, Y.-S. (2010). Attention-deficit/hyperactivity disorder and sleep disorders

          in children. Medical Clinics, 94(3), 615-632.



Wilens, T. E., & Spencer, T. J. (2010). Understanding attention-deficit/hyperactivity disorder

          from childhood to adulthood. Postgraduate medicine, 122(5), 97-109. 




ผู้เขียน สุชารัตน์ ลิมปะนพรัตน์ (บรรณาธิการ : แพทย์หญิงชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ และดร.จันทนี มุ่งเขตกลาง )
Update : 23 มิ.ย. 2564

 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 44.197.111.121