กลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ (SPECIFIC LEARNING DISORDER)
- มีปัญหาในกระบวนการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ ปัญหาในด้านการอ่าน ด้านการเขียน และด้านการคำนวณ
- ความบกพร่องปรากฏขึ้นตั้งแต่เด็กเข้าสู่วัยเรียน แต่อาจไม่ถูกตระหนักจนกระทั่งเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
- พบได้กว่าร้อยละ 6- 9.9 ของเด็กไทยวัยเรียน ส่วนมากเป็นความบกพร่องด้านการอ่าน
กลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ (specific learning disorder หรือ learning disorder หรือ learning disability ) เป็นหนึ่งในความบกพร่องกลุ่ม neurodevelopmental disorder ที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็กก้าวเข้าสู่วัยเรียน แต่ในบางรายกว่าจะถูกตระหนักชัดเจนก็ตอนเป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว โดยมักพบความบกพร่องในการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 ด้านต่อไปนี้ การอ่าน การเขียน และการคำนวณ ซึ่งเมื่อเด็กมีปัญหาในการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ ก็จะกระทบไปถึงความสามารถในการเรียนรู้ทักษะหรือวิชาอื่นๆ ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การทำความเข้าใจภาษา การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ หลักการณ์ทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากความบกพร่องทางการเรียนรู้ในเด็กที่ไม่ถูกตระหนักและถูกจัดการอย่างเหมาะสมทั้งที่ในความเป็นจริงเราสามารถให้ความช่วยเหลือได้นั้น ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเนื่องจากการมีผลการเรียนทีตกต่ำอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตและความเครียด จนไปถึงการต้องออกจากโรงเรียนหรือไม่ถูกจ้างงานเนื่องจากทักษะไม่ถึงเกณฑ์
สาเหตุของภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด และในบางครั้งก็ยังไม่มีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเป็นหลัก อย่างไรก็ตามประเด็นต่อนี้ก็มีหลักฐานสนับสนุนได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดความบกพร่องนี้
· กรรมพันธุ์และพันธุกรรม ความบกพร่องทางการเรียนรู้มักถ่ายทอดกันภายในครอบครัว เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มักมีพ่อแม่ที่ประสบปัญหาเดียวกัน หรือในบางรายอาจมาจากการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายเอง เช่น ยีนส์ CDK13 (Johnson, 2017)
· ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และระหว่างคลอด ความบกพร่องในการเรียนรู้อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติในระหว่างการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ รวมไปถึงผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความเจ็บป่วยของมารดา การบาดเจ็บ การใช้สารเสพติด/ดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือใช้เวลาตั้งครรภ์นาน หรือการขาดออกซิเจนในระหว่างคลอด ภาวะคลอดก่อนหรือคลอดหลังกำหนด เป็นต้น (Johnson, 2017)
· อุบัติเหตุภายหลังการเกิด ความบกพร่องทางการเรียนรู้อาจพัฒนาขึ้นภายหลังได้เนื่องจากเด็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือมีอาการสมองเสื่อม ( National Institute of Neurological Disorders and Stroke, n.d.)
สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อการเกิดพัฒนาการในช่วงแรกเริ่มของชีวิต เช่น การถูกทอดทิ้ง การไม่ได้รับการสนุนทางจิตสังคม ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดควาบกพร่องทางการเรียนรู้ได้ในเด็กที่มีปัจจัยเปราะบางอื่นๆ ตามด้านบนอยู่แล้ว (National Center for Learning Disabilities, 2014)
กลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ (specific learning disorder) หมายถึง กลุ่มโรคที่มีความบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถอ่านหนังสือ เขียนสะกดคำและคำนวณ หรือทำได้บ้างแต่แตกต่างจากเด็กที่อายุเท่ากันอย่างชัดเจนในช่วงการเรียนภาคบังคับ โดยจิตแพทย์จะใช้การเกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ ตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ฉบับที่ 5 (Diagnostic and statistical manual of mental disorders : DSM-5 (5th ed.) (American Psychiatric & American Psychiatric Association, 2013) ดังต่อไปนี้ร่วมกับผลทดสอบความสามารถในการอ่าน เขียน หรือคำนวณที่พบว่าแตกต่างอย่างชัดเจนจากเด็กอื่นที่อายุเท่ากันหรือแตกต่างกัน > 2 ชั้นเรียน (วินัดดา ปิยะศิลป์, 2558) โดยการวินิจฉัยนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กเข้าสู้ระบบการศึกษาตามมาตรฐานแล้วเท่านั้น
มีความยากลำบากในการเรียนและใช้ทักษะการเรียน อย่างน้อย 1 ข้อต่อไปนี้ หลังจากการให้ความช่วยเหลือตามปกติย่างเติมที่แล้ว เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
อ่านหนังสือผิดพลาดหรืออ่านช้า/มีความลำบากในการอ่าน เช่น อ่านผิดพลาด อ่านได้ช้า อ่านด้วยการเดาคำ มีปัญหาในการผสมคำ
มีความลำบากในการเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน เช่น อ่านได้ถูกต้องแต่เรียงลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ หรือไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่อ่าน
มีความลำบากในการสะกดคำ เช่น เติมคำใหม่ อ่านข้าม เอาพยัญชนะหรือสระอื่นมาแทน
มีความลำบากในการเขียนหนังสือ เช่น วางรูปประโยคผิดพลาด สะกดคำผิด มีปัญหาในการเขียนเรียงความ/แสดงความคิดออกมาในรูปแบบการเขียน
มีความลำบากเกี่ยวกับการเรียงตัวเลขตามลำดับ ความหมายของตัวเลข การคิดคำนวณ เช่น ไม่เข้าใจความหมายของตัวเลข ค่า ของตัวเลข ความสัมพันธ์ การนับเลขด้วยนิ้ว การทดเลข การบวก ลบ คูณ หาร
มีความลำบากเกี่ยวกับการใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เช่น มีปัญหาในการนำหลักการคิดคำนวณไปใช้พิสูจน์หรือไปแก้ปัญหาในชีวิตจริง
ทักษะการเรียนบกพร่อง มีความแตกต่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถกับเด็กที่อายุเท่ากัน และมีผลกระทบต่อการเรียน การทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
ความยากลำบากเหล่านี้ปรากฏในช่วงเด็กวัยเรียน แต่อาจแสดงอาการชัดเจนเมื่อถึงช่วงที่ต้องใช้ความสามารถด้านการเรียนเต็มที่ หรือภายใต้สถานการณ์กดดันที่เกินขีดความสามารถของเด็ก เช่น ในห้องสอบ ในการทำรายงานเร่งด่วน
ความยากลำบากเหล่านี้ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่น เช่น กลุ่มบกพร่องทางสติปัญญา ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการได้ยิน ความผิดปกติในระบบประสาทหรือด้านจิตใจ หรือปัจจัยจิตสังคมอื่นๆ เช่น การขาดความชำนาญในภาษาที่ใช้เรียนใช้สอน การสอน/แนะนำในการเรียนที่ไม่เพียงพอ
หมายเหตุ Specific learning disorder เป็นชื่อเรียกทางการแพทย์ใช้ในการวินิจฉัยที่พัฒนาขึ้นมาภายหลัง ซึ่งมักหมายรวมไปถึงโรคแอลดี (LD : “learning disorder.” หรือ “Learning disability”) ซึ่งนิยมใช้กันทั่วไปมาก่อนหน้านี้
ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจไม่ตระหนักว่าแท้จริงแล้ว เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ส่วนมากนั้นมีความฉลาดเทียบเท่ากับเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน เพียงแต่พวกเขามีวิธีที่แตกต่างในกระบวนการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนเฉพาะทางที่เหมาะสมในแต่ละราย เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาตนได้ตามศักยภาพสูงสุดที่พวกเขามี การช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ไม่สามารถออกแบบให้ ทุกคนด้วยวิธีการสำเร็จรูปเพียงรูปแบบเดียวได้ แต่ต้องออกแบบการช่วยเหลือเฉพาะบุคคลตามความสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญพบว่ายิ่งเด็กเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เขาสามารถปรับกลยุทธ์ในการเรียนรู้ให้ทันและประสบความสำเร็จในด้านการเรียนได้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปได้เร็วขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นหลังจากที่เด็กได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้แล้ว จึงควรให้ความช่วยเหลือแบบบูรณาการ และมองปัญหาอย่างรอบด้าน โดยอาศัยความร่วมมือกันแบบไตรภาคี คือทั้งทางครอบครัว ทางการแพทย์ และทางการศึกษา ดังต่อไปนี้ (ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, 2561; Penesetti, 2018)
การช่วยเหลือครอบครัว
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลช่วยเหลือเด็ก บุคคลในครอบครัวควรปรับเจตคติให้ถูกทาง และมีความเข้าใจว่าเด็กกำลังมีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าคำตำหนิติเตียน ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญควรให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้สำหรับผู้ปกครอง และแนะนำให้ค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อจำกัดของเด็ก และมีทักษะเบื้องต้นในการช่วยเหลือด้านการเรียนรู้สำหรับเด็ก คอยประคับประคองเสริมสร้างกำลังใจ ค้นหาจุดเด่นในด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาชดเชยในจุดที่บกพร่อง และเข้าใจจุดมุ่งหมายของการรักษาเพื่อให้เด็กมีโอกาสในการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพที่มี
การช่วยเหลือด้านจิตใจ
เป็นการช่วยเหลือที่การรับรู้ของเด็กต่อตนเองเป็นหลัก โดยการสร้างกำลังใจในการเรียนรู้ต่อไป และมีความภาคภูมิใจร่วมกับการเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหา การควบคุมตนเอง และการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม ซึ่งได้ด้วยการ เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกซึ่งอารมณ์และความคิด การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ร่วมถึงให้เด็กฝึกฝนและแสดงความสามารถในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น เล่นกีฬา วาดรูป ร้องเพลง เต้น เล่นดนตรี ทำขนม ทำอาหาร แก้ปัญหาเชาวน์ ฯลฯ โดยเริ่มต้นตามความสนใจของเด็กก่อน ฝึกให้เด็กทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ จนสำเร็จได้ด้วยตนเอง ชื่นชมและให้คำชมเชยเป็นระยะในความสามารถด้านที่เด็กมีการพัฒนาขึ้น และที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องมีความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเด็กด้วย
การช่วยเหลือด้านการเรียนรู้
เพื่อให้เด็กมีความรู้และพัฒนาทักษะที่ใช้ในการเรียน และหาวิธีการเรียนรู้อื่นเข้ามาเสริมหรือทดแทนควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะทักษะด้านที่เด็กมีความบกพร่องเป็นหลัก สิ่งที่จำเป็นอันดับแรก คือ การสอนเสริมพิเศษแบบตัวต่อตัว หรือกลุ่มเล็กๆ ในทักษะการเรียนด้านที่เด็กบกพร่อง มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความเป็นไปของเด็กระหว่างคุณพ่อคุณแม่และคุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจสภาพของปัญหาและร่วมมือกันแก้ไข ถ้าไม่มีเวลาหรือโอกาสพบปะกันโดยตรง อาจใช้การเขียนในสมุดการบ้านของเด็กเพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบ หรือมีสมุดไว้เขียนสื่อสารระหว่างกัน ที่สำคัญควรมีการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล เนื่องจากสภาพปัญหา และวิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ในการจัดทำแผนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งครู แพทย์ พ่อแม่ ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ กลวิธี การประเมิน และบริการพิเศษที่ควรได้รับ
การใช้สื่อเทคโนโลยี
ด้วยวิทยาการในปัจจุบัน ทำให้มีการออกแบบอุปกรณ์ สื่อการสอน และสิ่งอำนวยประโยชน์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้โดยเฉพาะ เช่น เน้นให้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และมีการทบทวนการเรียนด้วยวิธีการใหม่ๆ แทนการทำแบบฝึกหัดซ้ำๆ เด็กที่มีปัญหาด้านการอ่านอาจใช้เครื่องอัดเสียงช่วย ปัญหาด้านการเขียนอาจใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพิมพ์แทนการเขียนด้วยลายมือ ปัญหาด้านคำนวณอาจใช้เครื่องคิดเลขช่วย รวมถึงการสร้างรูปแบบโปรแกรมในการเรียนและการทดสอบผลการเรียนที่เอื้อให้กับเด็กกลุ่มนี้ เช่น การเพิ่มเวลาให้ในการทำงานด้านการอ่าน การเขียนหรือการคำนวณ
คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล (American Academy of Pediatrics, 2020; Australian Psychological Society, 2021)
มุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะที่เด็กทำได้ดี และช่วยให้แด็กเรียนรู้ที่จะใช้ความสามารถนั้น ซึ่งอาจไม่ใช่ทักษะทางวิชาการ แต่อาจเป็นกีฬา ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ รวมถึงให้แน่ใจว่าเราชื่นชมเด็กหรือให้รางวัลบ่อยครั้ง เมื่อเด็กมีความพยายามหรือทำสิ่งใดก็ตามสำเร็จแม้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย
พัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากการที่เด็กมีความลำบากในการเรียนรู้มากกว่าคนทั่วไปอาจทำให้อาจเกิดความรู้สึกเศร้า โกรธเคือง ท้อแท้ ได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงให้ความรักและการสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ
การมองหากิจกรรมให้เด็กทำโดยมุ่งเน้นที่การสร้างความมั่นใจในตนเอง การสร้างมิตรภาพและความสนุกสนาน
การสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้มีสิ่งเร้าหรืออุปสรรคน้อยที่สุด ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ร่วมกันการใช้กลยุทธ์ในการเรียนรู้อื่นๆ ร่วม เช่น แบ่งย่อยงานหรือการบ้านเป็นขั้นเล็กๆ จะได้ผลกว่าการมอบหมายงานเป็นชิ้นใหญ่ในครั้งเดียว การวางแผนการเรียนโดยเฉพาะทักษะที่เด็กมีความบกพร่องให้เป็นระบบระเบียบ ให้เวลาและโอกาสเพียงพอแก่เด็กในการค่อยๆ พัฒนาทักษะนั้น การให้ดูตัวอย่างและให้เด็กพูดทบทวนในสิ่งที่เขาเข้าใจด้วย
ไม่กดดันมากเกินไปในทักษะด้านที่เด็กมีปัญหา เช่น ไม่คาดหวังให้เด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่านสามารถอ่านบทความหน้าชั้นเรียนออกมาดัง ๆ
ปรึกษาร่วมกับโรงเรียนในการให้ทางเลือกแก่เด็กในการทำการบ้านหรือปฏิบัติกิจกรรมที่เด็กมีความบกพร่อง เช่น หากเด็กมีความบกพร่องในการอ่าน สามารถให้คุณครูทบทวนคำสั่งกับเด็กด้วยการพูดชี้แจงแทนการให้เด็กอ่านคำสั่ง/การบ้านเองจากบนกระดาน หรือในกระดาษที่แจกเป็นการบ้าน
หลีกเลี่ยงการใช้คำติเตียนว่าเด็กนั้นโง่หรือขี้เกียจ เนื่องจากการที่เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้นั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น
เข้าร่วมหรือศึกษาข้อมูลเฉพาะทางของกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนกันทางจิตใจ และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
ช่วยเด็กในการวางแผนอนาคตทั้งทางการเรียนและการทำงานที่เหมาะสม โดยเน้นย้ำว่าเขามีความสามารถเทียบเท่าคนอื่นได้ แม้จะมีความแตกต่างในการเรียนรู้จากคนอื่น
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). คู่มือการดูแลสุขภาพจิตเด็ก กลุ่มปัญหาการเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ:
พรอสเพอรัสพลัส.
ภาสุรี แสงศุภวานิช ศรีเพ็ญ ตันติเวสส คัคนางค์ โตสงวน จันทนา พัฒนเภสัช วรรณภา เล็กอุทัย
จุฑามาส วรโชติกาจร และคณะ. (2554). รายงานวิจัยการคัดกรองโรคสมาธิสั้นและความบกพร่องด้านการเรียนในโรงเรียน. นนทบุรี: บริษัทเดอะกราฟิโกซิสเต็มส์ จำกัด.
วินัดดา ปิยะศิลป์. (2558). Specific Learning Disorder: SLD. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2564, จาก
http://110.164.147.155/kmhealth_new/Documment/psychiatry/children/P.1.1.3.pdf
วันดี นิงสานนท์ วินัดดา ปิยะศิลป์ สุมิตร สุตราและคณะ. (2552). สุขภาวะของเด็กและวัยรุ่นไทย.
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. กทม :บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด.
Altarac, M., & Saroha, E. (2007). Lifetime prevalence of learning disability among US
children. Pediatrics, 119(1), 77-83.
American Academy of Pediatrics. (2020). Learning Disabilities & Differences: What Parents
Need To Know. Retrieved May 23, 2021, from
https://www.healthychildren.org/English/health -issues/conditions/learning-disabilities/Pages/Learning-Disabilities-What-Parents-Need-To-Know.aspx
American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and Statistical Manual for Mental
Disorders, 5th edition. Washington, DC: Author.
Australian Psychological Society. (2021). Specific Learning Disorders. Retrieved May 23, 2021,
from https://www.psychology.org.au/for-the-public/Psychology-topics/Understanding-specific-learning-disorders.
National Center for Learning Disabilities. (2014). The state of learning disabilities: Facts,
trends and emerging issues (3rd ed.). New York: National Center for Learning Disabilities.
National Institute of Neurological Disorders and Stroke. (n.d.). Dyslexia information
page. Retrieved May 23, 2021, from https://www.ninds.nih.gov/Disorders/All-Disorders/Dyslexia-Information-Page
Penesetti, D. (2018). What Is Specific Learning Disorder. Retrieved May 23, 2021, from
https://www.psychiatry.org/patients-families/specific-learning-disorder/what-is-specific-learning-disorder
Sahoo, M. K., Biswas, H., & Padhy, S. K. (2015). Psychological co-morbidity in children with
specific learning disorders. Journal of family medicine and primary care, 4(1), 21.
Somale, A., Kondekar, S., Rathi, S., & Iyer, N. (2016). Neurodevelopmental comorbidity profile
in specific learning disorders. International Journal of Contemporary Pediatrics, 3(2), 355-361.
ผู้เขียน สุชารัตน์ ลิมปะนพรัตน์ (บรรณาธิการ : แพทย์หญิงชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ และดร.จันทนี มุ่งเขตกลาง )
Update : 28 มิ.ย. 2564