
โรคลมชัก (Epilepsy)
อาการชัก คือ อาการที่เกิดจากภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของการทำงานของเซลล์สมอง โดยมีการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมๆกันจากสมองจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้งหมด
ลมชักตามคำนิยามจาก International League Against Epilepsy (ILAE) ที่กล่าวไว้ในปี ค.ศ.2014 หมายถึงผู้ป่วยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.มีอาการชักที่ไม่พบปัจจัยกระตุ้นมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป และอาการชักนั้นห่างกันมากกว่า 24 ชั่วโมง
2.มีอาการชักเพียงครั้งเดียว แต่มีความเสี่ยงของการชักซ้ำใน 10 ปีข้างหน้ามากกว่าร้อยละ 60 เช่น ผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อในสมอง หรือมีโรคหลอดเลือดสมอง
3.การวินิจฉัยเข้าได้กับกลุ่มโรคลมชัก (epileptic syndrome)
อาการของโรคลมชัก อาการของโรคลมชักมีได้หลากหลาย อาจแบ่งได้เป็น
1.อาการเตือน (aura) พบในผู้ป่วยบางราย เป็นอาการแรกของอาการชัก ผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกผิดปกติโดยยังรู้สึกตัวและจำอาการนั้นได้ มักเหมือนเดิมในผู้ป่วยรายเดียวกัน อาการแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งในสมองที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาการชัก เช่น มีอาการชา เจ็บ ปวดเฉพาะส่วนของร่างกาย, การมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงไฟ จุดสี, ได้กลิ่นที่ไม่น่าพึงพอใจ, การรับรสที่ผิดปกติ, ปั่นป่วนท้อง, ได้ยินเสียงผิดปกติ, ความผิดปกติทางด้านอารมณ์หรือการรับรู้เกี่ยวกับความทรงจำ, ใจสั่น หรือขนลุก ซึ่งระยะเวลาของอาการนำมักไม่เกิน 10 นาที และตามมาด้วยอาการชัก
2.อาการชัก โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยที่ไม่มีอาการเตือน มีลักษณะเป็นๆหายๆ ส่วนมากมักไม่เลือกเวลาเกิด ยกเว้นอาการชักบางชนิดในเด็กที่เกิดในช่วงเวลาจำเพาะ เช่น เวลานอนหลับ หรือหลังตื่นนอนใหม่ๆ ระยะเวลาของอาการชักโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 นาที มักไม่เกิน 5 นาทีและหยุดเอง (หากเกิน 5 นาทีมักไม่หยุดเอง จำเป็นต้องให้ยาเพื่อหยุดอาการชัก) ลักษณะอาการชักเป็นได้หลายแบบ เช่น
1) อาการด้านการเคลื่อนไหว อาจมีการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทั้งตัว ศีรษะบิดไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีการเคลื่อนไหวหรือพฤติกรรมซ้ำๆโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เคียวปาก เลียริมฝีปาก หยิบจับสิ่งของ คลำเสื้อผ้า
2) ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ตอบสนองขณะมีอาการชัก
3) มีการสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยอาจจะมีอาการล้มลงทันที ขณะที่กำลังทำกิจกรรมอยู่
4) บางราย โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจพบอาการโอบเข้าหรือกางออกของแขนขาคล้ายผวา พร้อมกับผงกศีรษะซ้ำเป็นชุดๆ
5) มีการหยุดนิ่ง ขณะกำลังกิจกรรมต่างๆอยู่ บางรายอาจมีการกระพริบตา เคี้ยวปาก หยิบจับส่วนต่างๆของร่างกายซ้ำๆ
6) หัวเราะซ้ำๆโดยไม่ทราบสาเหตุ
3.อาการหลังชัก (postictal symptoms) เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากอาการชักจนกระทั่งผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติดังเดิม มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือชักเฉพาะที่แบบไม่รู้สติ ผู้ป่วยมักมีอาการหลังชัก ได้แก่ ซึม หลับ สับสน ปวดศีรษะ หรือคล้ายมีอาการทางจิตอยู่ชั่วขณะหนึ่ง บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงหรือไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติแบบชั่วคราว
สาเหตุของโรคลมชัก แบ่งได้เป็น 6 สาเหตุ ได้แก่
1.ความผิดปกติทางโครงสร้างของสมอง (structural)
2.ความผิดปกติของพันธุกรรม (genetics)
3.การติดเชื้อในสมอง (infection)
4.การสะสมหรือขาดสารบางชนิดในสมอง (metabolic)
5.ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (immune)
6.ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (unknown)
การรักษา
1.การรักษาด้วยยากันชัก โดยต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีการตรวจติดตามเป็นระยะ เพื่อประเมินผลการรักษาและผลข้างเคียงจากยากันชัก
2.การผ่าตัด พิจารณาในผู้ป่วยที่ดื้อต่อยากันชัก (ได้รับยากันชัก 2 ชนิด แต่ยังไม่สามารถคุมอาการชักได้) หรือมีสาเหตุมาจากโครงสร้างสมองผิดปกติที่สามารถผ่าตัดได้
3.การรักษาด้วยการปรับอาหาร (ketogenic diet) ซึ่งต้องดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4.หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการชัก ได้แก่
1) การอดนอน
2) การดื่มแอลกอฮอล์
3) แสงกระพริบ
4) เสียงดัง
5) ความเครียดทางร่างกาย เช่น ไข้ หรือความเครียดทางจิตใจที่รุนแรง
การดูแลเบื้องต้น เมื่อมีอาการชัก
1. ดูแลความปลอดภัยโดยรอบบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการชัก และจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อผู้ป่วย เช่น นำสิ่งของมีคมหรือวัตถุอันตรายออกห่างจากผู้ป่วย นำผู้ป่วยไปอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเท คลายเสื้อผ้าให้หลวมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น
2. จับเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมีอาการชัก อาจทำการบันทึกวีดีโอขณะมีอาการชักหากสามารถทำได้ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ผู้รักษา
3. กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติให้จัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคง (recovery position) เพื่อป้องกันการสำลัก ห้ามนำสิ่งของใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เนื่องจากเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
4. รีบนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาโรคลมชักสำหรับแพทย์ โดย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ (ฉบับสมบูรณ์ 2564)
ผู้เขียน นายแพทย์ธรรมกมล อัครธรรม
Update : 20 พ.ค. 2568