กลุ่มโรคสำคัญ > กลุ่มโรคที่ส่งผลต่อพัฒนาการ

กลุ่มอาการแองเจิลแมน (Angelman Syndrome)

1. เด็กกลุ่มอาการแองเจิลแมนมีความผิดปกติจำเพาะที่พบ ได้แก่ พัฒนาการล่าช้าหรือสติปัญญาบกพร่องอย่างมาก สามารถสังเกตได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน มักไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูด มีปัญหาการเดินและทรงตัว มีลักษณะนิสัยจำเพาะ ได้แก่ ยิ้มง่าย หัวเราะบ่อย ตื่นเต้นง่าย ชอบยกแขนและสะบัดมือเวลาตื่นเต้นหรือดีใจ และอยู่ไม่นิ่ง
2. เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการแสดงออกหรือการทำงานที่ผิดปกติของพันธุกรรมบริเวณแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 ที่ได้รับจากมารดา (บริเวณเดียวกับกลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่)
3. โดยทั่วไปแล้วโอกาสเกิดซ้ำในบุตรคนถัดไปน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่มีบางกรณีที่โอกาสเกิดซ้ำสูง จึงมีความจำเป็นที่เด็กต้องได้รับการตรวจพันธุกรรม เพื่อทราบกลไกการเกิดโรค
4. ยังไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะหรือทำให้หายขาด ดังนั้น การรักษา เน้นไปที่การดูแลรักษาตามความผิดปกติที่พบ เช่น การกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการ ทำกายภาพบำบัด การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการชัก



กลุ่มอาการแองเจิลแมนคืออะไร

กลุ่มอาการแองเจิลแมนเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ความชุกของโรคประมาณ 1 ต่อ 12,000 ถึง 1 ต่อ 24,000 ทารกเกิดมีชีพ โดยทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของสมอง อาการของโรคแบ่งตามความบ่อยที่พบในผู้ป่วย ได้แก่

1.พบในผู้ป่วยทุกราย 

พัฒนาการช้าหรือสติปัญญาบกพร่องซึ่งมักอยู่ในระดับรุนแรง โดยมักเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน

มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เช่น เดินเซ ขาสั่นเวลาเดิน เดินลำบาก ไม่มั่นคง

ยิ้ม หัวเราะบ่อย อารมณ์ดี ตื่นเต้นง่าย มักสะบัดมือ ยกแขนเวลาตื่นเต้น อยู่ไม่นิ่ง โดยมักสังเกตเห็นความผิดปกติหลังอายุ 1 ปี

มีปัญหาด้านการพูดสื่อสาร โดยมักจะไม่สามารถพูดสื่อสารหรือพูดเป็นคำเดี่ยว

2.พบในผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 

มีการเจริญเติบโตของศีรษะจากการวัดเส้นรอบศีรษะน้อย มีศีรษะเล็ก สังเกตเห็นได้ก่อนอายุ 2 ปี โดยช่วงแรกคลอดมักมีขนาดเส้นรอบศีรษะอยู่ในเกณฑ์ปกติ

มีภาวะชัก ซึ่งมักมีอาการชักครั้งแรกก่อนอายุ 3 ปี

มีลักษณะคลื่นชักจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่จำเพาะกับโรค ซึ่งอาจตรวจพบก่อนมีอาการชัก

3.พบได้ร้อยละ 20-80 

ลักษณะศีรษะด้านหลังแบน

ลิ้นคับปากหรือชอบแลบลิ้น มีปัญหาเรื่องการดูดกลืน

มีปัญหาเกี่ยวกับการกินหรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำในช่วงวัยทารก

คางยื่น ปากกว้าง หรือฟันห่าง น้ำลายไหลบ่อย ชอบเคี้ยวปาก

ตาเข

มีสีผิว/นัยตา/ผม อ่อนกว่าคนในครอบครัว

มีการตอบสนองของกล้ามเนื้อ (reflex) ไว

มีท่าทางยกแขน งอศอก กางขาเวลาเดิน

มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนน้อย ตื่นบ่อย

มีพฤติกรรมการรับประทานสิ่งที่ไม่ใช่ของกิน

ชอบเล่นน้ำหรือวัสดุที่เป็นคลื่น/มีรอยยับ เช่น กระดาษทิชชู่ หรือพลาสติกบางชนิด

กระดูกสันหลังคด

มีภาวะท้องผูก

ขี้ร้อน

มีภาวะอ้วนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการแสดงออกของยีนบริเวณแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 ซึ่งปกติจะมีการแสดงออกเฉพาะโครโมโซมที่ได้รับมาจากมารดา หรือเกิดจากความผิดปกติของยีน UBE3A ที่ได้รับมากจากมารดา โดยความผิดปกติที่ทำให้ยีนบริเวณดังกล่าวไม่แสดงออก ได้แก่

1.มีการขาดหายไปของชิ้นส่วนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 บริเวณ 15q11.2-q13 (พบได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย)

2.ได้รับชิ้นส่วนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 ทั้ง 2 ข้างมาจากบิดา ซึ่งไม่มีการแสดงออกของยีนบริเวณดังกล่าว

3.ความผิดปกติของบริเวณที่ควบคุมการแสดงออกของยีนบนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 ทำให้ไม่มีการแสดงออกของยีนบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแองเจิลแมนประมาณร้อยละ 10 ตรวจไม่พบความผิดปกติทางพันธุกรรมตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งอาจเกิดจาก

1.เป็นโรคอื่นที่มีอาการเหมือนกลุ่มอาการแองเจิลแมน

2.เกิดจากความผิดปกติในยีน UBE3A แต่ยังไม่มีการค้นพบในปัจจุบัน

3.เกิดจากกลไกการเกิดโรคที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของยีน UBE3A


สามารถให้การวินิจฉัยโดยใช้อาการที่พบในผู้ป่วยดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยสามารถวินิจฉัยได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่พบในผู้ป่วยทุกราย หรือพบความผิดปกติของพันธุกรรม โดยมีเทคนิคการตรวจหลายวิธี เช่น

1. การตรวจดูการแสดงออกของพันธุกรรมบริเวณแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 (Methylation-specific PCR) ซึ่งผู้ป่วยจะตรวจไม่พบการแสดงออกของพันธุกรรมบริเวณ 15q11.2-q13 ที่ได้รับมาจากมารดา

2. การตรวจหาการขาดหายไปของพันธุกรรมบริเวณแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 โดยใช้สารเรืองแสง (Fluorescence in situ hybridization analysis of 15q11.2-q13) 

3. SNP microarray สามารถตรวจหาการขาดหายไปของพันธุกรรมบริเวณ 15q11.2-q13 และตรวจหาความผิดปกติกรณีผู้ป่วยได้รับโครโมโซมคู่ที่ 15 มาจากบิดาทั้ง 2 ข้าง (paternal uniparental disomy)

4. MS-MLPA สามารถตรวจหาการขาดหายไปของพันธุกรรมบริเวณ 15q11.2-q13 

5. การตรวจหาความผิดปกติในยีน UBE3A โดยวิธี sequence analysis


ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาความผิดปกติพันธุกรรมที่พบในโรคนี้ให้หายขาด การรักษาจึงเน้นการดูแล รักษา ฟื้นฟูความผิดปกติที่พบ ได้แก่

1. อาการรับประทานอาหารได้น้อยในช่วงทารกจากปัญหาการดูดกลืน อาจพิจารณาใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น จุกนมชนิดพิเศษ (Nuk nipple หรือ Haberman nipple) หรือวิธีช่วยในการรับประทานนมอื่นๆ 

2. ให้การส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กที่มีพัฒนาการช้า โดยแนะนำให้เริ่มฝึกกระตุ้นพัฒนาการให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

3. รักษาภาวะลมชักโดยการใช้ยากันชัก ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทในเด็ก

4. รักษาพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งโดยใช้การปรับพฤติกรรมร่วมกับให้ยาปรับพฤติกรรม และจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม (การรักษาโดยวิธีใดวิธีหนึ่งมักไม่ค่อยได้ผล)

5. ปรับสิ่งแวดล้อมในห้องนอนให้เงียบ สงบ เหมาะสำหรับการนอนหลับ เพื่อลดการตื่นกลางดึกของผู้ป่วย หากไม่ได้ผลอาจพิจารณาใช้ยานอนหลับตามความเห็นแพทย์

6. ทำกายภาพบำบัดในรายที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวหรือไม่สามารถเดินได้

7. ตรวจประเมินสายตาและการมองเห็นโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ

8. รักษาภาวะกรดไหลย้อนและท้องผูก ด้วยการปรับอาหารและพิจารณาให้ยากรณีอาการรุนแรงหรือปรับพฤติกรรมไม่ได้ผล

9. ตรวจประเมินภาวะกระดูกสันหลังคดเป็นระยะโดยการตรวจร่างกายและพิจารณาตรวจภาพรังสีกระดูกสันหลัง

1. กลุ่มอาการแองเจิลแมน มีความผิดปกติหลายระบบ จึงจำเป็นต้องได้รับการติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่องโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อดูแลรักษาและป้องกันความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจตามมา

2. โดยทั่วไปเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ โอกาสเกิดซ้ำในบุตรคนถัดไปน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่มีบางกรณี เช่น ความผิดปกติจากการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างโครโมโซม (translocation) หรือมีความผิดปกติในยีน UBE3A ที่ได้รับจากมารดา จะมีโอกาสเกิดซ้ำในครรภ์ถัดไปสูงสุดได้ถึงร้อยละ 50 ดังนั้นหากพบความผิดปกติลักษณะดังกล่าว แนะนำให้ปรึกษาสูติแพทย์ เพื่อเจาะน้ำคร่ำตรวจพันธุกรรมของทารกในครรภ์ (prenatal genetic testing) หรือพิจารณาตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (preimplantation genetic testing)

3. เนื่องจากผู้ป่วยทุกรายมีพัฒนาการช้า จึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินและกระตุ้นพัฒนาการ โดยควรเริ่มให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน 3 ขวบปีแรก ซึ่งจะทำให้แนวโน้มพัฒนาการดีกว่า ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการหลังอายุ 3 ปี


1. Dagli AI, Mathews J, Williams CA. Angelman Syndrome. 1998 Sep 15 [Updated 2021 Apr 22]. In: Adam MP, Feldman J, Mirzaa GM, et al., editors. GeneReviews® [Internet]. Seattle (WA): University of Washington, Seattle; 1993-2024.

2. Williams CA, Beaudet AL, Clayton-Smith J, Knoll JH, Kyllerman M, Laan LA, Magenis RE, Moncla A, Schinzel AA, Summers JA, Wagstaff J. Angelman syndrome 2005: updated consensus for diagnostic criteria. Am J Med Genet A. 2006;140:413–18. PubMed PMID: 16470747.

3. Bramswig NC, Buiting K, Bechtel N, Horsthemke B, Rostasy K, Wieczorek D. Angelman syndrome-affected individual with a numerically normal karyotype and isodisomic paternal uniparental disomy of chromosome 15 due to maternal Robertsonian translocation (14;15) by monosomy rescue. Cytogenet Genome Res. 2018;156:9–13. PubMed PMID: 30016768.



ผู้เขียน นพ. ธรรมกมล อัครธรรม
Update : 20 ก.ย. 2567

 วันนี้ 65
 เมื่อวาน 1,127
 สัปดาห์นี้ 1,241
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 25,176
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 874,344
  Your IP : 18.118.24.176