รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
ประสบการณ์หลากหลายที่เราเรียนรู้ในอดีตอาจไม่สามารถนำมาใช้กับลูกในปัจจุบันได้ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา วันนี้ผู้เขียนขอเขียนเรื่อง เทคนิคการเป็นผู้ปกครองที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเลี้ยงดูลูกให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังนี้
1. เชื่อมความสัมพันธ์ ข้อนี้เป็นข้อที่มีความสำคัญมากให้เราใช้เวลาทุก ๆ วินาทีกับลูกให้เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับลูกแต่ละคนใช้เวลา 10 นาทีสำหรับลูกคนหนึ่ง และใช้เวลาอีก 10 นาทีกับลูกอีกคน เพื่อที่เราจะทราบความเป็นไปในชีวิตลูก เลือกทำกิจกรรมที่ชอบด้วยกันโดยผลัดกันเลือก เช่น วันนี้คุณแม่คุณพ่ออาจจะเลือกว่าจะทำอะไรดี และพรุ่งนี้ให้ลูกเป็นคนเลือกบ้าง สังเกตว่าลูกต้องการอะไร ข้อสำคัญให้เราปิดเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เพื่อที่เราจะใช้เวลากับลูกอย่างเต็มที่โดยที่ไม่มีสิ่งใดมารบกวน
2. ควบคุมอารมณ์ของตัวเองก่อน ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไรให้เราเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ เช่น ลูกอาจจะได้คะแนนไม่ดีที่โรงเรียนหรือลูกร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ยอมทานอาหารเย็น ให้เราควบคุมอารมณ์ก่อนเข้าไปจัดการกับปัญหา ใช้วิธีหายใจลึก ๆ หรือหากทำได้ให้เดินออกจากสถานการณ์ปัญหานั้นก่อนเพื่อเราจะสงบและกลับมาจัดการกับปัญหานั้นได้โดยไม่ผิดพลาด
3. สร้างความสัมพันธ์และจัดขอบเขตให้กับลูก อย่าตะโกนดุว่าลูกข้ามห้องหรือบอกให้ลูกทำความสะอาดเก็บข้าวของจากห้องครัว แต่ให้ใช้วิธีการนั่งลงในระดับสายตาของลูก สนใจดูว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ อย่าเร่งลูกหรือให้เก็บกิจกรรมต่าง ๆตามตารางเวลาที่กำหนดมากเกินไป พูดคุยและชื่นชมกับผลงานของลูก ใช้ช่วงเวลานอนเป็นเวลาพูดคุยถึงสิ่งที่ดีงามที่ลูกทำ เพื่อที่ครั้งต่อไปลูกจะให้ความร่วมมือในการเก็บข้าวของเป็นอย่างดี
4. อย่าปิดโอกาสการพูดคุยกับลูก เมื่อลูกบ่นว่าไม่ชอบคณิตศาสตร์เลย หรือไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่ส่วนใหญ่มักไม่เปิดโอกาสให้ลูกพูด และพูดตัดบทว่าอย่างไรก็ต้องไปโรงเรียน หรือคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญอย่างไรก็ต้องเรียน เพราะลูกอาจกำลังเผชิญกับอะไรที่มากกว่าการไม่ชอบ เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง คุณครูดุ เป็นต้น เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา เพราะนั่นเรากำลังเปิดประตูให้ลูกพูดและระบายสิ่งต่าง ๆ ภายในออกมา ทำให้เรารู้สาเหตุของปัญหาที่ทำให้ลูกมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
5. ให้โอกาสลูกร้องไห้ ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ปกครองคือช่วยให้ลูกที่จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ นั่นหมายถึงว่าบางครั้งจำเป็นที่จะต้องออกมาในรูปของการร้องไห้ ผู้ปกครองหลายท่านคิดว่าการร้องไห้คือการแสดงความอ่อนแอ หรือพยายามรีบเข้าไปปลอบในทันทีเพื่อให้ลูกสงบ แต่ในทางตรงกันข้าม สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดหรือความโกรธ พยายามเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของลูก หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือช่วยให้ลูกแสดงความรู้สึกกลัวหรือเมื่อลูกล้มเหลวลูกสามารถที่จะกลับเข้ามาในอ้อมแขนที่อบอุ่นและปลอดภัยของคุณพ่อคุณแม่ได้เสมอ พูดที่เป็นกำลังใจ อาจพูดว่าแม่เห็นลูกหงุดหงิดและเศร้าใจมีอะไรให้แม่ช่วยไหม
6. ใช้เวลาส่วนมากกับการหัวเราะกับลูก การหัวเราะในทุก ๆ วัน เป็นยาหอมที่ดีและใช้เวลากอดลูก เพราะในแต่ละวันลูกต้องไปเผชิญสิ่งต่าง ๆ มากมาย ให้เราหัวเราะกับลูก ลูกจะรู้สึกปลอดภัยและเป็นกำลังให้ลูกนำไปต่อสู้กับปัญหา
7. หลีกเลี่ยงการต่อสู้เพื่อเอาชนะ เราในฐานะผู้ปกครองอาจจะได้รับการสอนว่าผู้ปกครองต้องถูกเสมอ และลูกต้องเชื่อฟังทุกอย่างที่เราพูด ถ้าเราบอกลูกว่าให้มาเดี๋ยวนี้ลูกต้องมาเดี๋ยวนี้ แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าแสดงอำนาจว่าเราเป็นหัวหน้าและเราต้องควบคุมทุกคน ตัวอย่างเช่น ลูกมักจะบ่นว่ายังไม่หิวเวลารับประทานอาหารเย็นให้สังเกตว่าลูกพูดความจริงหรือไม่ ลูกอาจจะไม่ได้หิวจริงๆและจะทานเมื่อหิวในเวลาต่อมา คุณพ่อคุณแม่ควรให้เกียรติและอย่าบังคับให้ลูกกิน เพราะลูกจะเบื่อและพาลไม่ยอมกินอาหารได้ การที่ลูกทานอาหารเย็นขณะที่เราเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เคารพการตัดสินใจและให้โอกาสลูกได้แสดงความคิดเห็น
8. อย่าคิดว่าลูกไม่ชอบเรา เวลาลูกดูไม่มีความสุขและไม่ค่อยอยากคุยกับเรา ให้พยายามหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา อย่าดุว่าลูก และคิดว่าลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง แต่ในทางกลับกัน พูดกับลูกว่าแม่เห็นว่าลูกหงุดหงิดใจลูกอยากจะคุยกับแม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นไหมมันเป็นการเปิดประตูสำหรับการพูดคุยกับลูกที่ดี
9. สอนให้ลูกเรียนรู้การมีวินัยกับตนเอง การมีวินัยจะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่ลูกจะเรียนรู้ว่า เราอาจต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างออกไปเพื่อสิ่งที่ความสำคัญมากกว่า เมื่อเราต้องการประสบความสำเร็จ เราต้องพยายามและเรียนรู้ ต้องผ่านจุดที่ยาก เช่น เมื่อลูกเล่นต่อรางรถไฟหรือการต่อภาพต่อ ต้องใช้สมาธิและเวลา ลูกอาจหงุดหงิดใจบ้าง ให้เราเสริมกำลังใจกับลูกที่จะแก้ปัญหาและทำงานเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้
10. อย่าขัดจังหวะเวลาทำงานของลูก กฎข้อนี้อาจจะทำได้ยากในบางกรณี แต่การเล่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อพัฒนาการของลูก ลูกจะได้รับการพัฒนาทางอารมณ์ สังคม ร่างกาย และสติปัญญาในเวลาเดียวกัน ถ้าลูกใช้เวลาเล่นกับของบางอย่างเป็นเวลานาน มีทั้งสมาธิและความตั้งใจที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองจนสำเร็จ
การเลี้ยงลูกให้ดีและมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี การรู้จักควบคุมอารมณ์ที่เหมาะสม และรวมถึงการใช้เวลาการดูแลเอาใจใส่ลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องให้โอกาสลูกได้เป็นตามที่เขาอยากเป็น ยอมรับและเคารพในกฎกติกา ไม่ยากเกินไปค่ะ เป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวเสมอ
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ