"5 อย่า 3 ควร" เมื่อเห็นคนไลฟ์สด ทำร้ายตัวเอง

กรมสุขภาพจิต ห่วงการยั่วยุ ในโลกโซเชี่ยล แนะ 5 อย่า 3 ควร เมื่อพบเห็นบุคคล ไลฟ์สด ทำร้ายตัวเอง
       น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง กรณีมีการถ่ายทอดสด (Live) การทำร้ายตัวเอง แล้วมีการแชร์กันออกไป ว่า สิ่งที่น่าห่วง ที่มักพบบ่อยครั้ง คือ การแสดงความคิดเห็น หรือคอมเม้นท์แบบยั่วยุ  ท้าทาย ซึ่งขอย้ำว่า การส่งสัญญาณก่อนทำร้ายตนเองทางโลกโซเชี่ยล ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ และคลิปวีดีโอ อาทิ การตัดพ้อหรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ลาก่อน ครั้งนี้จะเป็นโพสต์สุดท้าย คงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว อโหสิกรรมให้ด้วย หรือใช้ข้อความบ่งบอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยู่ไม่ได้จริงๆ ถึงเวลาแล้ว ชีวิตมันสั้นนัก หรือพูดถึงความเจ็บปวดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมทั้งโพสต์ถึงการเป็นภาระของผู้อื่น หรือรู้สึกผิด บางรายมีการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ทำร้ายตัวเอง สัญญาณเหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือน   ที่สำคัญที่สุด ที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้
       ดังนั้น จึงอย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น จำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือทันที เพราะการปรากฏตัวในโลกโซเชี่ยล เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่า เขาอาจยังมีความลังเลอยู่ เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในจังหวะนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตนี้ได้ ด้วยการประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้
       ทุกคนในโลกโซเชี่ยล สามารถช่วยได้ โดยยึดหลัก 5 อย่า 3 ควร  โดย  5 อย่า ได้แก่  1.อย่าท้าทาย  ไม่สื่อความหมายต่างๆ เช่น “ทำเลย”“กล้าทำหรือเปล่า” เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เขาทำ 2.อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย ตำหนิ ด่าว่า เช่น  “โง่” “บ้า” หรือตำหนิอื่นๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสทำมากยิ่งขึ้น 3.อย่านิ่งเฉยการนิ่งเสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม 4.อย่าแชร์ หรือบอกต่อหรือเผยแพร่ข้อความ หรือภาพการทำร้ายตนเองของบุคคลนั้น
      เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นที่คิดจะทำร้ายตนเองเกิดการเลียนแบบได้ เข้าใจผิดว่า เป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว และยิ่งหากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การทำร้ายตนเองเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย และ 5. อย่าติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต
      ส่วนสิ่งที่ควรทำ 3 ควร ได้แก่ 1.ควรห้าม หรือขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะโดยทั่วไปผู้ที่คิดทำร้ายตนเอง     ส่วนใหญ่จะลังเลใจ 2.ควรชวนคุย ประวิงเวลาให้มีโอกาสทบทวน โดยการถามถึงความทุกข์ รับฟัง และไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว คิดถึงคนที่รักและเป็นห่วง แนะทางออกอื่นๆ และ 3.ควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดเขาที่สุดขณะนั้น หรือ   สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร 191  สมาคมสมาริตันส์ หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว 
 
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
 

  View : 1.59K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.188.40.207