กรมสุขภาพจิต ชี้ “ป่วยซึมเศร้า” ต้องรักษาต่อเนื่อง ช่วยป้องกันป่วยซ้ำ

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
        พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน ว่า เป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เรามักจะเห็นข่าวปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกาย เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งหลายกรณีสาเหตุเกิดจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมักถูกมองข้าม ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย พบประมาณ 350 ล้านคนทั่วโลก โดยมีความชุกอยู่ที่ ร้อยละ 2-10  ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย สำหรับประเทศไทย โรคซึมเศร้าเป็นอันดับที่ 3 ในผู้หญิง และเป็นอันดับ 8 ในผู้ชาย โดยในปี 2557 ได้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงถึง 12 ล้านคน พบมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า  6 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย  6 แสนคน  ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า  5 แสนคน การแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า จึงมุ่งไปที่การเข้าถึงบริการ มีการส่งเสริมสร้างความเข้าใจ ลดอคติ และป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่หรือเมื่อป่วยแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ       ลดระยะเวลาการเจ็บป่วยให้สั้นที่สุด ป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ลดอัตราการฆ่าตัวตาย
        รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า โรคซึมเศร้า รักษาได้ แต่ถ้าเป็นมากๆ แล้วไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ต่อเนื่องจะมีแนวโน้มสู่การฆ่าตัวตายได้สูง วิธีการรักษา จะประกอบไปด้วย 1.การรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ในรายที่อาการมาก เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย  2. การรักษาด้วยยา และ 3. การรักษาด้วยจิตบำบัด ซึ่งจะเป็นการปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิต ทั้งนี้ โรคซึมเศร้า เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1.ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรม หรือโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ สารเสพติดต่างๆ และ 2.ปัจจัยด้านจิตสังคมและอุปนิสัยต่างๆ เช่น มองตนเองในแง่ลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น ความตึงเครียดในครอบครัว การเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ความผิดหวัง ชีวิตโดดเดี่ยว สูญเสียคนที่รัก ตกงาน หย่าร้าง เป็นต้น อาการสำคัญของโรคนี้ คือ อารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่บอกว่าเศร้า แต่จะบอกว่ารู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จิตใจไม่สดชื่นเหมือนเดิม ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นเกือบทั้งวัน และเป็นติดต่อกันเกือบทุกวัน นานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ประกอบกับ อาจมีความคิดอยากตาย ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 60  ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยอาจแค่รู้สึกเบื่อชีวิต แต่เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะรู้สึกอยากตาย และต่อมาจะคิดถึงการฆ่าตัวตาย เริ่มมีการวางแผน จนถึงการกระทำการฆ่าตัวตายในที่สุด
       รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อสังเกตตนเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดว่าเข้าข่ายซึมเศร้าหรือไม่ โดย ให้สังเกตถึงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 1.มักจะมีความคิดไปในทางลบตลอดเวลา รู้สึกสิ้นหวังมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ จนทำให้มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย 2.มักไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก รู้สึกอ่อนเพลีย การทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง 3. มักจะมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวล อยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น 4. นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายนอนมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม รวมทั้ง มีอาการทางกาย รักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสามารถพบอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วยได้
 
       หากลองตรวจสอบตัวเองและคนใกล้ชิดแล้ว พบว่า ในช่วง  1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอาการดังกล่าว ต้องพยายามระมัดระวังความคิด เตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังรุนแรงให้หาทางระบายความคิดและความรู้สึกของตัวเองออกมากับคนใกล้ชิดที่ไว้ใจและมั่นใจว่าจะช่วยเหลือได้ หรือพบจิตแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ต้องอย่ามองว่าสิ่งที่ผู้ป่วยคิดเป็นความคิดแง่ลบที่สร้างขึ้นมาเอง มองโลกในแง่ร้ายเอง แต่ควรเปิดใจรับฟังและพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เพราะโรคนี้จะส่งผลรุนแรง แต่อาการอาจดูเหมือนคนมีอารมณ์วิตกกังวลธรรมดา ดังนั้น จึงควรช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดย รับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความเข้าใจ อดทน และห่วงใย ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงตลอดจนความหวัง ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรืองานอดิเรกที่เคยให้ความสนุกสนาน อย่ากล่าวโทษว่าแกล้งทำ หรือขี้เกียจ หรือ เป็นการเรียกร้องความสนใจ รวมทั้งสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี  24 ชั่วโมง หรือรีบพาพบจิตแพทย์ ขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าว     
 

  View : 3.13K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.221.154.151