กรมสุขภาพจิตห่วงเยาวชนไทย กระทำผิดจากการป่วยทางจิตเวชมากขึ้น

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
       กรมสุขภาพจิตเผยผู้ติดยาและป่วยทางจิตเข้าไม่ถึงบริการ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง หวั่นเป็นชนวนกระทำผิดซ้ำ ย้ำเด็กและเยาวชนไทยน่าห่วงสุด คาดแนวโน้มเด็กกระทำผิดจากการป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น ...
      เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.57 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 43 ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในวันที่ 16 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ว่า ปัญหาการกระทำความผิดรุนแรง ที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิต หรือผู้ป่วยนิติจิตเวชนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ การมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการรักษาได้น้อยและไม่ต่อเนื่อง ตลอดจนขาดการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งเป็นเหตุให้ก่อคดีซ้ำได้
       ทั้งนี้ในปี 2556 โรงพยาบาลและสถาบันสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยนิติจิตเวช จำนวน 3,549 ราย (สถาบันกัลยาณ์ฯ 1,671 ราย หน่วยงานอื่นๆ 1,878 ราย) จากคดียาเสพติดมากที่สุด รองลงมา คือ คดีทำร้ายร่างกายและคดีลักทรัพย์ และป่วยด้วยโรคจิตเภทมากที่สุด
      อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่น่าห่วง ซึ่งจากข้อมูลสถิติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า ในรอบ 5 ปี (ปี 2552-2556) เด็กและเยาวชนไทย อายุ 10-18 ปี ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 30,000 คดีต่อปี ล่าสุด ปี 2556 พบ  37,433 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มี 34,276 คดี โดยในจำนวนนี้ มีจำนวนคดีที่เป็นการกระทำผิดซ้ำ ในปี  2555 ร้อยละ 19.98 (6,849 คดี) และร้อยละ 12.99 (4,864 คดี) ในปี 2556 กล่าวคือ ทุก 5-7 คดี จะมีการกระทำผิดซ้ำ 1 คดี คดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภทยาบ้า หรือแอมเฟตามีน ยังคงเป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยมากที่สุด และเป็นคดีที่กระทำผิดซ้ำมากที่สุดอีกด้วย
     นอกจากนี้ ในจำนวนคดีที่กระทำผิดทั้งหมด ในปี 2553-2554 พบว่า มีสาเหตุมาจากการป่วยทางจิต ประมาณร้อยละ 0.17 (75 คดี) และร้อยละ 0.09 (32 คดี) ตามลำดับ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทย มีอาการป่วยทางจิต และส่งผลให้เกิดการกระทำผิดอื่นๆ ตามมา ซึ่งคาดว่า สถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดจากการป่วยทางจิตอาจมีจำนวนมากกว่านี้ และที่เห็นว่ายังมีจำนวนน้อย อาจเป็นเพราะการกระทำผิดไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากคู่กรณีเห็นว่าผู้กระทำผิดเป็นเด็กและป่วยทางจิต รวมทั้งการมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการรักษา จึงทำให้ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยทางจิต
    อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตมีนโยบายในการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศ ที่มีความเป็นเลิศในงานบริการและวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวช การก้าวสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) ด้านนิติจิตเวช ในระดับประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนในระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับท้องถิ่น ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จึงได้เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงบริการครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัย ตลอดจนลดจำนวนการกระทำผิดซ้ำในเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ต้องขังทั่วประเทศ ผ่านระบบเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต และกรุงเทพมหานคร
    ทางด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2556) สถาบันได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมมากกว่า 40,000 รายต่อปี (46,483 ราย, 41,257 ราย และ 40,110 ราย ตามลำดับ) ทั้งนี้ ได้ให้บริการนิติจิตเวชกับผู้ป่วยนอก ทั้งที่มารับบริการที่สถาบันฯ และในเรือนจำ รวมทั้งผู้ป่วยที่รับไว้ในโรงพยาบาล มากกว่า 1,500 รายต่อปี (1,779 ราย, 1,521 ราย และ 1,671 ราย ตามลำดับ) ด้วยความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมากที่สุด และในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้รับผู้ป่วยไว้รักษา จำนวน 1,595 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยนิติจิตเวช 140 ราย ผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป 1,115 ราย ผู้ป่วยติดสารเสพติด 218 ราย และผู้ป่วยติดสุรา 122 ราย ซึ่งโรคจิตเภท ยังคงเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด ทั้งในผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยนิติจิตเวช.


ไทยรัฐ


  View : 3.86K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 723
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,896
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,831
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 877,999
  Your IP : 193.186.4.155