กรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจคนกทม. พบป่วยจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 5 แสนคน เร่งพัฒนาระบบดูแลใจ

กรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจระดับชาติล่าสุดในปี 2556 พบคนในกทม.อายุ18 ปีขึ้นไป ร้อยละ 11.5 ป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิต คาดว่ามีประมาณ 520,000 คน เร่งพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพใจ เล็งพัฒนาประธานชุมชนในพื้นที่กทม. กว่า 2,000 ชุมชน เป็นผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชนเป็นพลังเครือข่ายป้องกันการป่วยร่วมกับอสส.พร้อมวิจัยพัฒนาโปรแกรมบริหารใจสร้างสุขให้ผู้สูงวัยในกทม.ผลทดลองใช้ในปี 2560 พบว่าได้ผลดี คะแนนความสุขพุ่งขึ้นชัดเจน    

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะนี้   ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่นในกทม.ประชาชนที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์จำนวน  5.6 ล้านกว่าคน แต่สภาพความเป็นจริงคาดว่าจะมีประมาณ 10 ล้านคน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น จะส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะการเผชิญกับความเครียดกับสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ  การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน ผลการสำรวจกรมสุขภาพจิตครั้งล่าสุดในปี 2556 พบว่าประชาชนในกทม.อายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน

ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับกทม. จัดระบบบริการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ส่วนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาเพื่อให้ประชาชนในกทม.ทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพจิตดี และมีภูมิต้านทานปัญหาสุขภาพจิต  มีศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ซึ่งตั้งอยู่ที่ชุมชนวัดม่วงแค เขตบางรัก เป็นหน่วยงานหลักประสานความร่วมมือสนับสนุนวิชาการความรู้ต่างๆแก่หน่วยงานเครือข่ายในกทม.และที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการวิจัยหารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นชุมชนเมือง ที่มักไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจ พูดคุยกับคนรอบข้างหรือเพื่อนบ้านเหมือนในชนบท  ยุทธศาสตร์สำคัญจะเน้นสร้างความเข้มแข็งชุมชนที่มี 2,068 ชุมชน ซึ่งมีสภาพหลากหลายทั้งชุมชนแออัด  คอนโดมีเนียม บ้านจัดสรร  โดยวางแผนพัฒนาศักยภาพแกนนำภาคประชาชนในชุมชน 2 กลุ่ม คือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข(อสส.)ของกทม.ที่มีอยู่แล้ว ต่อยอดให้เป็นอสส.เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนเช่นเดียวกับที่อสม.ทุกจังหวัด และกลุ่มที่ 2 คือประธานชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่และชุมชนดีที่สุด จะจัดอบรมให้ความรู้เป็นกรณีพิเศษ พัฒนาให้เป็นประธานชุมชนเชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชนด้วย  ได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 จัดทำหลักสูตรเป็นการเฉพาะแล้ว อาจใช้เป็นต้นแบบพัฒนาสุขภาพจิตในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นๆในอนาคตได้ด้วย

ทางด้านนายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาศูนย์ฯได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาเป็นเทคโนโลยีสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุในพื้นที่กทม. ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 9 แสนกว่าคน หรือร้อยละ18 ของประชากรทั้งหมด  มากเป็นอันดับ2 รองจากวัยแรงงาน  ร้อยละ 92 ยังช่วยเหลือตนเองได้ดีไปไหนมาไหนได้  โดยผู้สูงอายุร้อยละ 61 เคยรู้สึกเบื่อหน่าย วิตกกังวล เครียด  มีภาวะซึมเสร้าติดต่อกันเป็นสัปดาห์ และส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 97 จะอยู่บ้าน  ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุที่มี 354 ชมรม เนื่องจากชมรมขาดกิจกรรมจูงใจ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

นายแพทย์ทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า   โปรแกรมส่งเสริมความสุขที่วิจัยครั้งนี้  ออกแบบให้สอดคล้องวิถีชีวิตผู้สูงอายุชุมชนเมือง เรียกว่าเอมบีแคท ( Mindfulness-based Cognitive Behavior and Acceptance Therapy:MBCAT ) เป็นการประยุกต์การฝึกสติร่วมกับกิจกรรมการสร้างสุข 5 มิติ  มี  8 กิจกรรม ผลการทดลองใช้ในชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ใน 8 พื้นที่ได้แก่ ราชปรารภ,บางซื่อ,บางเขน ,บุคคโล,วัดไผ่ตัน,ทับเจริญ,ล้อม-พิมเสน-ฟักอุดม ,และบมจ.ธนาคารนครหลวงไทย  มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการ 235 คน ใช้เวลา 8 สัปดาห์ 8 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมงและให้ไปฝึกสติต่อที่บ้าน  จากการประเมินผลพบว่าให้ผลดี ผู้สูงอายุมีความสุขเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเข้าร่วมกิจกรรม  แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ 1.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความสุขในระดับที่น้อยกว่าคนทั่วไป ลดจากร้อยละ 43        เหลือเพียงร้อยละ 10   , 2.กลุ่มที่มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 49 และ 3 .กลุ่มที่มีความสุขมากกว่าคนทั่วไป เพิ่มจากเดิมที่มีร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 41    ซึ่งในปี 2561 นี้ ได้ขยายใช้โปรแกรมนี้ในชมรมผู้สูงอายุ 273 ชมรม และจะครอบคลุมทั้งหมดดำเนินการร่วมกับกทม. และชมรมผู้สูงอายุทุกชุมชน 

  ทั้งนี้ กิจกรรมตามโปรแกรมที่จัดขึ้นใน 8 สัปดาห์   สัปดาห์ที่1.เน้นการเริ่มความสุข โดยฝึกกระบวนการหายใจเพื่อสร้างสติและสมาธิ และการละเล่นพื้นบ้าน  เช่น มอญซ่อนผ้า  สัปดาห์ที่ 2 การสร้างสุขที่ได้ปล่อยวางคือสุขสงบ มีการทำสมาธิ การออกกำลังกาย 7 วัน 7 ท่า  สัปดาห์ที่ 3 เป็นการสร้างสุขที่ใจทำให้เกิดสุขสบาย  เน้นการฝึกการสนทนากับตนเอง การออกกำลังกายด้วยโยคะสติ   สัปดาห์ที่ 4 ฝึกการสร้างสุขจากจินตนาการ โดยทำสมาธิและฝึกสติ สัปดาห์ที่ 5 ฝีกการบริหารสมอง เน้นฝึกการบริหารสมองทั้ง 2 ซีก 2 ท่าในเวลาเดียวกัน และฝึกการพับกระดาษด้วยเท้า สัปดาห์ที่ 6 ฝึกการสร้างคุณค่าความภาคภูมิใจให้ตนเอง ด้วยกิจกรรมวาดภาพทบทวนชีวิตตนเองตั้งแต่เกิด ถึงปัจจุบันและเป้าหมายชีวิตที่ต้องการ สัปดาห์ที่ 7 ฝึกด้านการสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน กิจกรรมหัวเราะบำบัด และสัปดาห์ที่ 8  กำหนดสุขภาพกายและใจที่คาดหวัง โดยนำการฝึกสติ 14 จังหวะตามแนวคิดหลวงพ่อเทียน มาใช้ 

                             ******************      6 พฤษภาคม 2561 

 

 

 

  View : 3.12K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,347
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,318
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 24,725
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,376
  Your IP : 40.77.167.12