กรมสุขภาพจิต แนะ 4 เรื่องสอนลูกช่วงม็อบ

          เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล
  กรมสุขภาพจิตแนะ 4 เรื่องควรสอนลูกช่วงสถานการณ์การเมืองรุนแรง เน้นใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกแบบผ่อนคลาย ย้ำอย่าพาลูกไปชุมนุม
       นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนทุกเพศทุกวัย หลายครอบครัวรับข้อมูลข่าวสารด้านการเมืองเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเด็กในครอบครัวที่อาจได้รับข้อมูลผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ พร้อมกับพ่อ แม่ หรือการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียกับกลุ่มเพื่อน หรือได้ยินคนในครอบครัวพูดคุยกันเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง     ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตว่า      ความขัดแย้งทางการเมืองจะจบลงเร็วหรือยืดเยื้อยาวนานต่อไปอีก พ่อแม่ควรใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะสอนลูกให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนี้
        1. สังเกตความสนใจของลูกต่อข่าวสารที่เกิดขึ้นและเข้าไปร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกเพื่อรับรู้มุมมองอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์บ้านเมือง
        2. หากความคิดเห็นของลูกมุ่งไปทางใดทางหนึ่งซึ่งอาจไม่ตรงใจพ่อ แม่ ควรยอมรับมุมมองของลูกที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและให้โอกาสลูกได้อธิบายเสนอความคิดเห็น และหาข้อมูลในประเด็นที่ลูกสนใจ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในระบอบประชาธิปไตย
        3. หามุมด้านบวกของเหตุการณ์ เพื่อสร้างแนวคิดด้านการเมืองที่เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและเคารพในความคิดเห็น และ
        4. ปรับคำพูดที่ใช้กับลูกให้เหมาะสมกับวัย ถ้าเป็นเด็กเล็ก ควรใช้กิจกรรม เช่น การอ่านหนังสือ เล่นบัตรคำ ที่จะช่วยให้เข้าใจง่ายๆ
          “พ่อ แม่ ควรคำนึงถึงการใช้เวลาร่วมกับลูกด้วยความผ่อนคลายดูแลลูกในกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรนำลูกที่อายุน้อยเข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูก เช่น การติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย การทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงร้อนจัดในตอนกลางวันและหนาวตอนกลางคืน การกินนอนของเด็กไม่เป็นปกติ จะทำให้เด็กอ่อนแอและมีความกดดันต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อลูก ทั้งนี้ หากอยู่ในที่ชุมนุมแล้วเกิดความเจ็บป่วย เด็กไม่สบาย หรือพ่อ แม่มีอาการทางกาย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขนขานอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้องแน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย อาการทางใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี สามารถรับบริการได้ที่จุดบริการด้านการแพทย์ หรือโทร.ปรึกษาบริการ 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

                                                  ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์


  View : 1.83K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 955
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,978
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,619
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,787
  Your IP : 52.14.7.103