กรมสุขภาพจิตแนะวิธีดูแลสุขภาพใจ ไม่ให้เครียด ไม่ร้อนตามสภาพอากาศ โดยให้ยึดหลักคิดบวก มองโลกในแง่ดี มองปัญหาว่าเป็นประโยชน์ เลี่ยงการการปะทะ ป้องกันปัญหาบานปลาย โดยหลักปฏิบัติอุณหภูมิใจง่ายๆ เพียง 7 ข้อ อาทิ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้พอ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว งดสารเสพติด รวมท้งเหล้า เนื่องจากจะทำให้ขาดสติ และกระตุ้นความเครียดเพิ่มมากขึ้น
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศ ที่ร้อนอบอ้าวในขณะนี้ว่า มีความเป็นห่วงปัญหาสุขภาพจิตประชาชนแม้ว่าอากาศร้อนไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตก็ตาม แต่จะมีผลทางอ้อม โดยเป็นตัวกระตุ้นหรือเพิ่มความเครียดในใจได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเครียดการเงิน การงาน หรือครอบครัว หรือปัญหาส่วนตัว หากไม่มีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เมื่อเจอสภาพอากาศที่ร้อนเข้าไปอีก อาจเพิ่มความเครียดให้สูงขึ้น อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย อาจเกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ปัญหาเล็กๆ ลุกลามบานปลาย รุนแรงได้ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า วิธีการดูแลสุขภาพใจหน้าร้อนนี้ ขอให้ประชาชนอย่าร้อนใจตาม ขอแนะนำให้ ตั้งสติ ให้คิดถึงสังคมส่วนรวม ประการสำคัญที่สุดคือให้ปรับที่ความคิดตัวเอง คือมองโลกในแง่บวก หรือคิดบวก มองปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะเล็กๆน้อยๆ ก็ตามให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง เพื่อเพิ่มความรอบคอบให้ตัวเอง จะทำให้เราไม่ยึดติดหรือโต้ตอบด้วยอารมณ์ที่ขาดสติได้ หรือให้ยึดสุภาษิตว่าตบมือข้างเดียวไม่ดังก็ได้ และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเราจะต้องไม่ไปจุดประกายหรือทำสิ่งใดที่ทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดีกับคนอื่นด้วย เพื่อป้องกันการเกิดกระทบกระทั่งเผชิญหน้ากัน นอกจากนี้ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเการมึนเมาจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ จะทำให้ขาดสติ ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ทั้งนี้หากประชาชนไม่สบายใจ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ทางด้านนายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า การใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศร้อน แนะนำให้ประชาชนปรับตัว ปรับใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง โดยไม่เอาสุขภาพจิตของตนเองไปผูกติดกับอุณหภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราได้ โดยมีหลักปฏิบัติเพื่อดับร้อนอุณหภูมิใจ 7 วิธี ดังนี้ 1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง 2.ออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละครึ่งชั่วโมง 3.พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง 4.ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 5.ทำกิจกรรมกับครอบครัว เช่นดูหนัง ฟังเพลง หรือไปเที่ยวพักผ่อน โดยวางแผนการเดินทางล่วงหน้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยผ่อนคลายความเครียดลง 6.หลีกเลี่ยงการปะทะกัน และ 7. ห้ามใช้สารเสพติดทุกชนิด หรือห้ามดื่มสุรา ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นความเครียดและส่งกระทบต่อความรุนแรงได้
********************* 16 เมษายน 2561