กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14

สธ.เผยผู้ป่วยทางจิตแต่ละปีไม่น้อยกว่า1.5 ล้าน เร่ง“ทีมหมอครอบครัว”ช่วยแก้ เน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์ 
 
         กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 12 เน้น “สุขภาพจิตสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์” รองรับผู้ป่วยสุขภาพจิตปีละไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านราย เร่งนำทีมหมอครอบครัวร่วมช่วยแก้ปัญหา เน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์ มั่นใจผลสำเร็จการรักษาสูงขึ้น
วันนี้ (15 มิถุนายน 2558) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด “สุขภาพจิตสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์” จัดโดยกรมสุขภาพจิต ระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2558 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ทักษะและเผยแพร่ผลงานวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการภาครัฐและเอกชนด้านสุขภาพจิต สุขภาพจิตเด็ก วิกฤตสุขภาพจิต ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจาก 19 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไน กัมพูชา แคนาดา จีน อังกฤษ ฟินแลนด์ เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนาม และประเทศไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น แต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านราย  ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคจิต มีบางส่วนไม่ไปรับบริการเพราะอายที่ต้องพบจิตแพทย์ อีกทั้งสังคมยังมีอคติต่อผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ขาดความรู้ความเข้าใจว่าสามารถรักษาหายได้ กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ ได้ผลักดันพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เน้นเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา อยู่ร่วมบ้าน ร่วมชุมชนและสังคมได้อย่างปลอดภัย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โรงพยาบาลเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชหรือเตียงฉุกเฉินผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 จากเดิมร้อยละ 58 ผู้ป่วยจิตเวชรับยารักษาต่อเนื่องได้ที่คลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงบริการรักษาร้อยละ 42 โรคซึมเศร้าร้อยละ 38 และผู้ป่วยติดสารเสพติดที่ได้รับการรักษาและไม่กลับไปติดซ้ำร้อยละ 80
        จากนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” ซึ่งจะเพิ่มเป็น 60,000 ทีมในปลายปีนี้ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ จะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตครัวเรือนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เสมือนเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติของครอบครัว ที่สำคัญคือ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่ามีที่พึ่งยามเจ็บป่วย ซึ่งจะทำงานร่วมกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันเยี่ยมให้กำลังใจ รักษาพยาบาลทั้งสุขภาพกายและใจ รวมทั้งจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสุขภาพจิตและจิตเวชมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีกำลังใจ เห็นคุณค่าในตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณค่า มั่นใจว่าจะทำให้ผู้ป่วยทุกราย ทุกครอบครัว ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง กินยาต่อเนื่อง ผลสำเร็จการรักษาสูงขึ้น ประชาชนทุกคนมั่นใจความปลอดภัย        
        นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมวิชาการสุขภาพจิตฯ ครั้งนี้ เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพจิตระดับนานาชาติ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สมศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันปกป้องการถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ได้โดย 1.รณรงค์สร้างความตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ และยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ รวมทั้งไม่ลิดรอนสิทธิของผู้อื่น  ใช้ชีวิตทุกช่วงวัยอย่างมีคุณค่าและมีความสุข 2.พัฒนาหรือผลักดันนโยบายและกฎหมายที่จำเป็นในการคุ้มครองสิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และบังคับใช้อย่างจริงจัง 3.สร้างกลไกการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานในรูปแบบเครือข่ายบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร และ 4.เพิ่มศักยภาพและบูรณาการความร่วมมือด้านสุขภาพจิต เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งระดับชาติและนานาชาติ
การประชุมวิชาการปีนี้ กรมสุขภาพจิตได้มอบรางวัลสุขภาพจิต  (Mental Health Award) และรางวัลเกียรติยศ ให้กับบุคคลและหน่วยงานที่มีผลงานด้านสุขภาพจิตดีเด่น โดยรางวัล Mental Health Award ได้แก่ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ ศ.นพ.ประสพ รัตนากร (ด้านสังคม) ประเภทบุคคล ได้แก่ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ประเภทองค์กร ได้แก่ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ นพ.อุดม ลักษณวิจารณ์ (ด้านชุมชน) ประเภทบุคคล ได้แก่ พญ.ทับทิม ชาติวัฒนธรรม รพ.เบตง จ.ยะลา, นางพัชรี  คำธิตา รพ.แม่ทา จ.ลำพูน, นางสาวณัชฐกานต์ เหมือนตา รพ.สต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ, นางจินตนา รุ่งเรืองวงศ์ อสม. จ.สระแก้ว และรางวัลประเภทองค์กร ได้แก่ รพ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีเวทีการอภิปรายและการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ เช่น “Public Mental Health : An Overview of Principles and Application” โดย Dr.Jonathan Campion,Director for Public Mental Health and Consultant Psychiatrist at South London and Maudsley NHS Foundation Trust ,“Promote Child Health, Prevent Toxic Stress, Invest the Future” โดย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ, “ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตระดับประเทศ พ.ศ.2556”“เข้าใจและก้าวข้ามผ่านความซับซ้อนปัญหาเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยรุ่นไทย”, “อาชญากรทางเพศ:ผู้ป่วยทางจิตหรือผู้กระทำผิด”, “สุขภาพจิตสังคมออนไลน์สังคมใหม่ใกล้ตัว” “ช่วยหนูด้วย” เสียงเพรียก...จากเด็กปลายด้ามขวาน  ตลอดจน Workshop “พัฒนาการสมวัย เพื่อคนไทยในอนาคต” “Thai Happiness Project : 7 years lessons” และ “ Mindfulness Based Therapy and Counseling” เป็นต้น 
 

สธ.เผยผู้ป่วยทางจิตแต่ละปีไม่น้อยกว่า1.5 ล้าน เร่ง“ทีมหมอครอบครัว”ช่วยแก้ เน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์ .pdf

  View : 2.35K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 919
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,942
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,583
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,751
  Your IP : 3.144.235.195