ของเล่น กับ เด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

     “ของเล่น” กับ “เด็ก” เป็นของคู่กัน เด็กบางคนมีของเล่นเยอะแยะเต็มบ้าน  แต่หลายคนมีของเล่นนับชิ้นได้หรือแทบจะไม่มีเลย ของเล่นมีความสำคัญอย่างไรกับเด็ก แล้วการที่เด็กคนหนึ่งมีของเล่นมากมายมันดีหรือไม่ดีอย่างไร  ไปฟังคำตอบกัน
     พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ของเล่นเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากกว่าเล่น มันเป็นสื่อที่ทำให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจ มีทัศนคติ เจตคติรวมถึงมีทักษะหลากหลาย ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจของเล่นจะเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด สามารถเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก ที่เล่นของเล่นร่วมกันได้
      ของเล่นไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นที่ราคาแพงขายตามท้องตลาด สามารถเป็นของเล่นที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จากฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ สมมุติว่ามีกระดาษอยู่แผ่นหนึ่ง เพียงแค่กระดาษเปล่า ๆ สามารถแปลงเป็นของเล่นได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการฉีกกระดาษจาก 1 แผ่นเป็น 2 แผ่น พับได้ ร่อนได้ ลอยน้ำได้ สิ่งเหล่านี้มันง่ายเหลือเกินที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เพียงแต่ว่าจุดกำเนิดจากไอเดียของพ่อแม่จะมีมากน้อยแค่ไหน มีประสบการณ์จากการพัฒนาตรงนี้มากน้อยแค่ไหน
       นอกเหนือจากของเล่นที่ประดิษฐ์เอง ยังมีของเล่นที่วางขายตามท้องตลาด ซึ่งจะมีความพิเศษ โดดเด่น ดึงดูด ทั้งสีสัน รูปแบบ พร้อมใช้ ไม่ต้องมาเสียเวลาประดิษฐ์ ถ้าซื้อมาอย่างไรแล้วให้ลูกเล่นตามนั้นก็คงเกิดประโยชน์ เพราะของเล่นดังกล่าวสามารถพลิกแพลงได้ เพิ่มเสริมเติมแต่งสติปัญญาลูกได้
      มีการวิจัยพบว่า ในช่วง 3 ขวบเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเล่นของเล่นไม่แตกต่างกัน จะมาเห็นชัดคือหลัง 3 ขวบขึ้นไป เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าหนูเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชาย เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปพบว่า ตรงนี้ถูกนำเสนอโดยคนเลี้ยงดู  เช่น เกิดมาเป็นเด็กผู้หญิงต้องสีชมพู พ่อแม่จัดให้ หนูเป็นผู้ชายต้องสีฟ้า ก็พ่อแม่ แขกเหรื่อทั้งหลายจัดให้ พอเริ่มโตขึ้นมาอีกนิดจะเล่นของนุ่มนิ่ม พ่อแม่ก็เอาตุ๊กตาให้กับหนู ในขณะที่เด็กผู้ชายพ่อแม่ก็เอาของเล่นแมน ๆ ให้ เป็นของเล่นที่ฝึกกล้ามเนื้อ  พละกำลัง ความก้าวร้าวรุนแรง  ซึ่งความก้าวร้าวรุนแรงที่แฝงมาในรูปแบบของเล่น เช่น ปืน ดาบ นอกจากนี้เด็กอาจจะซึมซับจากสื่อที่บริโภคด้วย
       ถามว่าดาบ และปืนเป็นของที่ห้ามเล่นหรือไม่ ก็ไม่ได้ห้ามเล่น แต่มีข้อระวังสูง ถ้าเด็กเล่น ต้องสอนให้เด็กได้รับความรู้จากปืนและดาบ เช่น ดาบทำให้เกิดอันตรายอย่างไร  ให้เด็กรู้ว่าสิ่งนี้นำมาซึ่งความเจ็บปวด  อันตราย แต่สามารถป้องกันได้ ต้องใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา ก็เป็นการสอนที่สอดคล้องเหมาะสม
       การแต่งเติมความเป็นเพศอะไร เล่นอะไร  นอกจากสิ่งแวดล้อม การถูกปลูกฝัง ต้นแบบแล้ว  ยังมีประเด็นธรรมชาติบางอย่างเกี่ยวข้องด้วย จะเห็นได้จากเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ตรงกับเพศกำเนิด  เช่น เด็กผู้ชายที่มีความอยากเป็นผู้หญิงแต่ตัวเป็นผู้ชาย เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่วัยเด็กอาจถูกนำเสนอของเล่นผิดเพศ ไม่ตรงกับเพศ แต่ก็มีแบบหนึ่งเกิดมาพ่อแม่ใส่ความเป็นแมนให้เล่นปืนเล่นดาบ แต่หนูไม่ชอบเล่นดาบชอบเล่นตุ๊กตา ตรงนี้เป็นสัญชาตญาณหรือความต้องการจากความเป็นธรรมชาติแห่งเพศของเขา ปัจจัยตรงนี้ยังแยกยากว่ามาจากยีนหรือมาจากที่เขาเห็นผู้หญิงแล้วอยากเป็นผู้หญิงแล้วสังเกตว่าผู้หญิงเล่นอะไร  เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงเห็นผู้ชายแล้วอยากเป็นผู้ชาย ก็เล่นแบบผู้ชายไม่ชอบเล่นตุ๊กตา
        โดยภาพรวม 3 ขวบเด็กรู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย 6 ขวบ จะหนักแน่นว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  และมีแนวโน้มเด็กจะเลือกของเล่นของตัวเอง  มีรสนิยมของฉันเอง พ่อแม่เลือกอะไรให้ก็จะแสดงความถูกใจหรือไม่ถูกใจ และเรียกร้องจะเอาโน่นเอานี่ตามใจตัวเอง
        ของเล่นมีประโยชน์แต่ทุกอย่างต้องมีความเหมาะสม  ถ้าของเล่นเต็มบ้านแล้วใช้ได้ดีทุกอย่างคงไม่มีอะไร แต่ถ้าของเล่นเต็มบ้านที่เกิดจากความไม่รู้จักพอ เนื่องจากความไม่มีวินัย พ่อแม่และลูกไม่สามารถสื่อสารกันให้ลงตัวได้ ก็จะเป็นปัญหา
        ของเล่นที่มีมากเกินไปว่ากันง่าย ๆ เลย จะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดความวอกแวก  สะท้อนว่าเด็กมีปัญหาการควบคุมตัวเอง เพราะซื้อตามความอยากของตัวเอง สัมพันธ์กับการตอบสนองที่มากเกินไปของพ่อแม่ เด็กจะมีสมาธิกับการเล่นของเล่นน้อยลง เพราะตัวหารเยอะและอาจเป็นการไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่เกิดการพัฒนา เช่น ซื้อรถก็ซื้อเป็นสิบเป็นร้อยคันมีแต่รถเป็นของเล่น ดังนั้นต้องย้ำกับพ่อแม่ว่าอย่าตามใจลูก ต้องเปลี่ยนจากรถเป็นอย่างอื่นด้วย  นอกจากนี้อาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับคนอื่นน้อยลงด้วย เพราะมีของเล่นหลายชิ้น  แต่ถ้าของเล่นมีน้อยชิ้น เด็กจะมีสมาธิจดจ่อกับของเล่นนั้นว่าจะนำมาเล่นแบบอื่นได้หรือไม่ เอามาหมุนได้หรือไม่
       ตัวหมอเคยเจอเด็กทะเลาะกัน เด็กรวยกับรวยมาก ๆ มาเจอกัน เด็กคนหนึ่งบอกว่าของเล่นบ้านเราเยอะมากเลย ที่บ้านมีภูเขาของเล่น  เด็กอีกคนหนึ่งก็บอกว่า สู้บ้านเราไม่ได้ บ้านเรามีห้องของเล่น เปิดประตูแล้วเจอของเล่นเต็มห้องเลย เด็กที่มีของเล่นเป็นภูเขาก็โกรธโมโหมากทุบตีเด็กที่มีห้องของเล่น 1 ที  กลายเป็นว่านี่คือการประชันขันแข่งจากการที่ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง ตรงนี้เป็นปัญหามากกว่าเป็นประโยชน์
       ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรสปอยเด็กเกินไป ของเล่นที่ซื้อให้ลูกควรหลากหลายชนิด แต่ละชิ้นควรถูกปลุกเร้าให้เด็กเล่นได้หลากหลายรูปแบบ วิธีที่สำคัญที่จะทำให้ลูกได้ประโยชน์จากของเล่นมากที่สุดคือ พ่อแม่เล่นกับเขาบนตัวของเล่นนั้น ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ขณะเดียวกันจะทำให้เด็กเห็นความคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์ของพ่อแม่ด้วย.


นวพรรษ บุญชาญ


  View : 7.50K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,961
 เมื่อวาน 1,949
 สัปดาห์นี้ 3,959
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 23,366
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 816,017
  Your IP : 49.230.208.122