คุณภาพอาหารในโรงเรียน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
           เปิดเทอมแล้วพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ต้องใส่ใจดูแลเรื่องอาหารให้เด็กทั้งที่บ้าน และโรงเรียน ที่บ้านนั้น ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และ/หรือผู้ดูแลเด็ก ส่วนที่โรงเรียน ปฏิเสธไม่ได้ที่ครูต้องให้ความสำคัญซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ต้องทำ เพราะอาหารและโภชนาการเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่เพียงจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนของเด็กโดยตรง
           มีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่า เด็กวัยเรียนที่ได้รับอาหารเช้า อาหารกลางวัน อย่างมีคุณภาพและเพียงพอ จะมีประสิทธิภาพการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินหรือกินแบบขาดคุณภาพ
           เด็กวัยเรียน 6-11 ปี มากกว่าร้อยละ 30 ไม่ได้กินอาหารมื้อเช้า ที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ บางพื้นที่ในเขตเมือง เด็กเกือบครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า หรือได้กินแต่กินไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิงมีสูงถึงร้อยละ 52 ที่ละเลยอาหารเช้า สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไม่ได้กินอาหารเช้า คือ ผู้ปกครองไม่กระตุ้นและไม่ให้ความสำคัญในการจัดการอาหารเช้า การบอกว่าไม่มีเวลาและข้อจำกัดต่างๆ จึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นข้ออ้าง จนทำให้เด็กเคยชินกับการไม่ได้กินอาหารเช้า ในที่สุดเด็กก็เข้าไปนั่งหลับและขาดสมาธิในห้องเรียน
           หากพ่อแม่ให้ความสำคัญกับอาหารเช้า มั่นใจว่าลูกจะได้กินอาหารเช้าอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม การจัดการอาหารเช้าขึ้นกับบริบทของแต่ละครอบครัว อาทิ เตรียมอาหารมื้อเช้าบางส่วนไว้ตั้งแต่หลังกินข้าวมื้อเย็นให้ลูกกินที่บ้านหรือบนรถหรือห่อไปกินที่โรงเรียน บางครอบครัวที่ไม่มีครัว หรือทำกับข้าวไม่เป็น หรือไม่มีเวลา หรือขี้เกียจ อาจแวะซื้อจากร้านอาหารที่เป็นทางผ่านไปโรงเรียนลูก หรือให้เงินลูกแล้วกำชับให้ไปซื้อกินที่โรงเรียน
ตัวอย่างอาหารเช้าของลูกที่มีคุณภาพ คือ ข้าว แกงจืดตำลึงหมูสับ ไข่ต้ม นม และแอปเปิลครึ่งลูก หรือข้าวเหนียวหมูปิ้ง ฝรั่งครึ่งลูก นม หรือข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มหรือโจ๊กใส่ไข่ ตามด้วยนม และผลไม้ ฯลฯ ซึ่งต้องครบ 5 หมู่ ที่ขาดไม่ได้คือ ผัก ต้องพยายามให้กินทุกเช้า ถ้าไม่ได้ให้เพิ่มผลไม้ให้มากขึ้น และดื่มนมรสจืดทุกเช้า การจัดการอาหารเช้าให้ลูก คือ ภารกิจจำเป็นยิ่งของผู้ปกครอง หากละเลยเท่ากับทำลายอนาคตลูกแบบไม่ได้ตั้งใจ
           สำหรับอาหารมื้อกลางวันที่โรงเรียน เป็นอีกมื้อที่ชี้ชะตาอนาคตเด็กได้ ถ้าเด็กไม่ได้กินอาหารเช้า หรือกินแบบไม่มีคุณภาพ เด็กจะทนหิวเพื่อรออาหารมื้อกลางวัน แต่เด็กบางคนอาจโชคร้ายหากอาหารมื้อกลางวันเป็นอาหารที่ไม่มีคุณภาพ และกินไม่อิ่ม ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารพร่องไป 2 มื้อ ติดกันใน 1 วัน ถ้าเป็นแบบนี้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ อะไรจะเกิดขึ้นกับสมองและร่างกายเด็ก ช่วยจินตนาการเอาเอง
           เป็นความโชคดีของเด็กไทย ที่เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายได้เพิ่มค่าอาหารกลางวันในโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก จากหัวละ 13 บาท เป็น 20 บาท โดยการจัดสรรงบผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายฝ่ายดีใจโมทนาสาธุกันใหญ่ เพียงคิดว่า จะทำให้เด็กได้กินอิ่มอย่างมีคุณภาพ แต่จากการออกไปติดตามงานหลังขึ้นค่าอาหารกลางวัน โดย สพฐ. และกรมอนามัย พบความจริงหลายประการที่ทำให้การขึ้นค่าอาหารกลางวันเป็น 20 บาทต่อหัว ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ยังพบปัญหาสารพัดโดยเฉพาะคุณภาพอาหาร และการบริหารจัดการ
            รายละเอียดจะเป็นอย่างไร และเราจะช่วยกันหาทางออกเรื่องอาหารกลางวันเด็กให้มีความคุ้มค่าอย่างไร ติดตามต่อสัปดาห์หน้าครับ

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์

 


  View : 1.98K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 342
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,009
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,726
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,377
  Your IP : 3.21.159.223