งานแถลงข่าว สร้าง IQ ดี EQ เด่น ให้เด็กไทย

    กรมสุขภาพจิตชี้ การส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ (IQ,EQ) ของเด็กสามารถสร้างเสริมได้จากการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยทารก พร้อมมอบของขวัญสำคัญ ช่วยพัฒนาทักษะการคิด การใช้ภาษา และการพัฒนาอารมณ์ เด็กไทยก่อนสายเกินแก้
      นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาระดับสติปัญญาเด็กไทย(IQ) ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุด ผลการสำรวจระดับสติปัญญาในปี พ.ศ. 2554  พบว่า มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 98.59  (ค่าเฉลี่ยปกติ 90 – 109)  ซึ่งถือว่าเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ในปี 2555 พบว่า เด็กไทยมีทักษะทางด้านการคิดและการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดังเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์การเรียนคณิตศาสตร์ การอ่านและวิทยาศาสตร์ มีคะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD ขณะที่ คะแนนความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เฉลี่ยในระดับประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มีค่าคะแนนอยู่ที่ 45.12 จากค่าคะแนนปกติ 50-100
     อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า คนเราจะเกิดมามีความสามารถฉลาดหลักแหลม หรือเป็นคนที่ขาดความสามารถนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดยังคงเป็น “สมอง” ซึ่งพัฒนาการทางสมองเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก จึงจำเป็นต้องพัฒนาสมองของเด็ก สร้างเสริมความรู้ประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวัยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสมอง พ่อแม่ ครู หรือผู้ปกครองเด็ก จึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการคิด การใช้ภาษา และอารมณ์ให้ถูกต้องตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดทำชุดสื่อเทคโนโลยี “ส่งเสริมคิดคณิต...พัฒนาการอ่านเพิ่มศักยภาพเด็กไทย” ตลอดจน พัฒนาเทคโนโลยีสร้างเสริมทักษะชีวิตและทักษะสังคม (Social Story) รวมทั้งพัฒนาแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ 15ข้อ เพื่อให้ครู/ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก และพ่อแม่ได้ใช้ในการสังเกตทักษะทางอารมณ์ของเด็ก เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักอารมณ์ตนเอง อดทนรอได้ มีน้ำใจ รู้จักยอมรับผิด กระตือรือร้น สนใจใฝ่รู้ ปรับตัวได้ มีความพอใจ และมีความสนุกสนานร่าเริงตามวัยของเด็ก
 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ในการส่งเสริมและพัฒนา IQ EQ เด็กไทย จำเป็นต้องพัฒนาทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการคิด การใช้ภาษา และทักษะด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิต โดยต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วัยทารก การฝึกทักษะด้านการคิด ผู้ปกครองสามารถฝึกทักษะให้แก่เด็กด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (Pre maths skill) โดยผ่านการเล่น หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่สนุกสนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยงดู เช่น การเล่นนับสิ่งของ การจัดกลุ่มสิ่งของที่เหมือนกันหรือแยกกลุ่มสิ่งของที่ต่างกัน หรือการดูนาฬิกา ที่จะช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจจำนวน ตัวเลข รูปร่างและขนาดสิ่งของต่างๆ ได้ ส่วนการฝึกทักษะการใช้ภาษา สามารถฝึกได้โดย ผ่านกระบวนการพูดคุย การอ่าน หรือใช้เรื่องเล่า (Social Story) สำหรับการฝึกทักษะด้านอารมณ์  พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู/ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กรวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีจิตอาสา ทำสาธารณประโยชน์ ตลอดจนสังเกตทักษะด้านอารมณ์ของเด็กได้จากแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ 15 ข้อ  ซึ่งมาจากแนวคิดการพัฒนาเด็กใน 3 ด้าน คือ ด้านดี ด้านเก่งและด้านสุข เพื่อนำไปใช้พัฒนาและส่งเสริมทักษะทางอารมณ์ในเด็กต่อไป
      

           พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดสื่อเทคโนโลยี “ส่งเสริมคิดคณิต...พัฒนาการอ่านเพิ่มศักยภาพเด็กไทย” ประกอบด้วย แอนิเมชั่น แผ่นพับและสื่อการสอนถึงรายละเอียดของการฝึกทักษะด้านคณิตศาสตร์  ส่วนเทคโนโลยีสร้างเสริมทักษะชีวิตและทักษะสังคม (Social Story) จะเป็นสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบหนังสือนิทาน มีเนื้อหาที่รวบรวมมาจากสถานการณ์ที่เด็กจะต้องเผชิญจริงในสังคม ที่ช่วยส่งเสริมด้านความเข้าใจภาษาแบบง่ายๆ ชัดเจน น่าสนใจเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ที่สามารถใช้ส่งเสริมความเฉลียวฉลาดได้ ทั้งในเด็กปกติ และในเด็กที่มีความล่าช้าทางสติปัญญา ภาษาและสังคม ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดได้ที่  www.rajanukul.go.th  และในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมสวนสนุกสำหรับเด็ก...คนพิเศษ ได้ที่สถาบันราชานุกูล ในวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2557 ตั้งแต่เวลา 08.00-     15.00 น. ฟรี ตลอดงาน

 


  View : 3.52K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 354
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,527
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,462
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 877,630
  Your IP : 3.12.34.211