ตาขี้เกียจต้องแก้ก่อน 6 ขวบ

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

เด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ ส่งผลให้พัฒนาการทางสมองที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ถูกขัดขวาง ทำให้มองเห็นไม่ชัดมีพฤติกรรมต่างจากเด็กคนอื่น หากไม่ได้รับการตรวจสายตาและแก้ไขก่อน 6 ขวบเด็กมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิด “โรคตาขี้เกียจ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้  พญ.กัลยา ตีระวัฒนานนท์ จักษุแพทย์ รพ.สมุทรปราการ  เจ้าของโครงการวิจัย ’การพัฒนาระบบคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและประกอบแว่นสายตาสำหรับเด็กก่อนวัยประถมศึกษาและประถมศึกษาในประเทศไทย“ กล่าวว่า   เมื่อสายตามองเห็นจะแปรภาพที่สมองว่าเห็นอะไร ถ้ากระบวนการนี้ถูกขัดขวางตั้งแต่เด็กจะทำให้สมองไม่พัฒนา ทำให้มองเห็นไม่ชัด หรือมองไม่เห็น แล้วแต่ว่าสายตาผิดปกติมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเด็กได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติก่อน 6 ขวบ  ให้ใส่แว่นตาตั้งแต่ตอนนี้ การมองเห็นชัดเจนสมองก็พัฒนาไปตามปกติ  โตขึ้นมาใส่แว่น แต่ถ้าสายตาผิดปกติไม่แก้ไข พอโตขึ้นมาใส่แว่นก็ไม่ชัด เพราะเลยจุดที่พัฒนาไปแล้ว

“โรคตาขี้เกียจ” เป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ที่พบบ่อยมักเป็นข้างเดียว  เด็กที่เกิดมามีสายตาผิดปกติ ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง เด็กจะไม่รู้ตัว  ลืมตาขึ้นมาเขาเห็นภาพแบบนั้น จะไม่ทราบว่า การมองเห็นที่ชัดเจนเป็นอย่างไร ในเด็กที่สายตาดีข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งมองไม่ชัด เขาจะใช้อยู่ข้างเดียว อีกข้างหนึ่งไม่ได้ใช้ ดังนั้นถ้าไม่รักษาปล่อยให้เลย 6 ขวบไปแล้ว สายตาข้างนั้นก็ไม่ถูกพัฒนาทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าสายตาขี้เกียจ เมื่อโตขึ้นจะขอกลับมาแก้ไขไม่ได้แล้ว ถ้าจะแก้ไขระยะเวลาที่ดีที่สุดคือ ก่อน 6 ขวบ  ถามว่าหลัง 6 ขวบแก้ไขได้หรือไม่ แก้ได้ แต่ยาก อย่างไรก็ตามสายตาขี้เกียจไม่ได้เกิดขึ้นทุกคนที่สายตาผิดปกติ เกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น

อุบัติการณ์สายตาขี้เกียจในประเทศไทยและต่างประเทศพบได้ประมาณ 1-2%  แต่โครงการวิจัยที่ดำเนินการใน 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ลำพูน นครพนม สุราษฎร์ธานี ด้วยการคัดกรองเด็กชั้นอนุบาล 1 จนถึง ป.6  จำนวน 5,461 คน พบเด็กสายตาผิดปกติทุกชนิดต้องใส่แว่น 226 คน คิดเป็น  4.1% ในจำนวนนี้เป็นสายตาขี้เกียจประมาณ 0.7% ตาเขซ่อนเร้น หรือ ตาส่อนก็พบมากขึ้น คือ ยังไม่เขจริงแต่ในอนาคตเด็กมีโอกาสตาเขได้มาก  ดูด้วยตาเปล่าไม่รู้ ต้องตรวจคัดกรองจะรู้เลยว่ามีตาเขซ่อนเร้น ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่า เด็กใช้สายตาในระยะใกล้ค่อนข้างเยอะ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต การใช้แต่สายตาใกล้ทำให้กล้ามเนื้อถูกใช้เยอะไม่แข็งแรง อาจทำให้เด็กตาเหล่ได้ โดยเด็กตาเหล่กล้ามเนื้อตาไม่ดีก็เจอเยอะ นอกนั้นก็เป็นโรคตาทั่ว ๆ ไป

“เด็กชั้นอนุบาล 1 ถึง ป.6 ในขณะนี้มีประมาณ 8-9 ล้านคน ถ้าทั่วประเทศมีเด็ก 4.1% ที่มีปัญหาสายตาผิดปกติจำเป็นต้องใส่แว่น คิดเป็นเด็กประมาณกว่า 3 แสนคนที่จะเสียโอกาสได้รับการแก้ไข เด็กก็เรียนรู้เรื่อง ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ดูเป็นคนปกติ ไม่ถูกครู หรือผู้ปกครองว่า เป็นเด็กดื้อ หรือเด็กโง่ เพราะเด็กบางคนไม่สามารถเรียนได้ เพราะมองไม่เห็น ไม่ใช่ว่าเขาสมองไม่ดี  แต่เพราะเขามองไม่เห็นก็ไม่อยากเรียน  โตขึ้นแทนที่จะได้ทำงานที่ดี ก็ขาดโอกาสตรงนี้ไปทำให้สูญเสียโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะเด็กตาขี้เกียจไปแล้ว ถ้าสายตาขี้เกียจข้างเดียว เด็กจะสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพบางอย่าง เช่น นักบิน หรืออาชีพต้องใช้สายตา เช่น จักษุแพทย์ ส่วนสายตาขี้เกียจทั้ง 2 ข้างก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ เพราะเหมือนเป็นคนที่มีความพิการทางสายตามองอะไรก็ไม่ชัด มองอะไรก็เบลอ อย่างบางคนมารักษามาตอน ม.ปลายหรือมหาวิทยาลัยเป็นตาขี้เกียจไปแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้

พฤติกรรมเด็กที่มีสายตาผิดปกติมีวิธีสังเกตดังนี้ เวลาอ่านหนังสือเด็กอาจยกมาเกือบชิดใบหน้า โดยปกติจะห่างจากใบหน้าประมาณ 1 ฟุต เวลาดูทีวีไม่นั่งดูอาจเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ เด็กบางคนซุ่มซ่าม เหมือนกับว่าเล่นอะไรแล้วหกล้มไปชนอะไรต่าง ๆ เด็กบางคนเขียนตัวหนังสือเอียง ส่วนตาเขซ่อนเร้นสังเกตยาก มีคนเข้าใจผิดว่าโตขึ้นค่อยมารักษา ดังนั้นขอแนะนำให้มารักษาตั้งแต่เด็กไม่ต้องรอตอนโต อย่างไรก็ตามจากโครงการวิจัยได้ไปพูดคุยกับผู้ปกครองเด็ก ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าเด็กมีสายตาผิดปกติ เพราะไม่เคยแสดงพฤติกรรมให้เห็นมาก่อน อีกทั้งเวลาเด็กมีปัญหาตาผิดปกติข้างเดียวจะไม่ได้รับการวินิจฉัยเนื่องจากไม่เคยทดลองปิดตาอีกข้างหนึ่งแล้วใช้ตาเพียงข้างเดียว  ดังนั้นหากพ่อแม่ หรือครูที่โรงเรียนช่วยคัดกรองเด็กส่งต่อไปให้จักษุแพทย์ก็จะช่วยเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติได้.

นวพรรษ บุญชาญ รายงาน

ขอขอบคุณที่มา http://www.dailynews.co.th/article/1490/182142


  View : 7.04K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.140.185.147