ทำอย่างไรเมื่อลูกกลัวหมอฟัน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

           ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะพาเด็กมาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการปวดฟันเท่านั้น ทำให้เด็กเจอแต่ประสบการณ์อันเจ็บปวดทรมาน ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่บางท่านก็ยังขยาดเมื่อเจอกับตัวเอง และเมื่อต้องมาพบทันตแพทย์ ก็ยังพบกับการรักษาที่ยุ่งยาก
          ทั้งการฉีดยา การถอนฟัน และการรักษารากฟัน คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง จึงเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่มีความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์ และทัศนคติที่ดีของเด็กต่อการพบทันตแพทย์ คุณผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองควรปฏิบัติ ดังนี้
          1. พาเด็กมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องฟัน คือ อย่างช้าที่สุด 6 เดือน หลังฟันซี่แรกขึ้น หรือ 1 ปีหลังคลอด เพื่อรับการตรวจและให้คำแนะนำในการดูแลป้องกัน เมื่อเด็กมีสุขภาพฟันที่ดี ก็จะไม่ต้องพบกับการรักษาที่ยุ่งยาก เด็กก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อการพบทันตแพทย์
          2. ก่อนพาเด็กมาพบกับทันตแพทย์ ควรพูดแต่สิ่งดีๆ เช่น “คุณหมอจะช่วยทำให้ลูกฟันสวยและแข็งแรง” ไม่พูดข่มขู่ให้เด็กกลัว เช่น “ดื้อนัก เดี๋ยวให้หมอฉีดยานะ”
   ทำอย่างไรไม่ให้ลูกกลัวหมอฟัน
          3. เมื่อพาลูกมาพบทันตแพทย์
              3.1 ถ้าเด็กให้ความร่วมมือดี ทันตแพทย์จะอนุญาตให้ผู้ปกครองนั่งอยู่ด้วย แต่เป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ไม่ควรช่วยทันตแพทย์พูดกับลูก เพื่อให้ทันตแพทย์ได้สื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง
              3.2 ถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ทันตแพทย์จำเป็นต้องแยกผู้ปกครองกับเด็ก เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก
          4. หลังทำฟันเสร็จควรให้คำชมแก่เด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เช่น “หนูเก่งมากจ้ะ ฟันหนูสวยมาก” ไม่ควรถามเกี่ยวกับความเจ็บปวด เช่น “เจ็บไหมลูก?” “เห็นไหม แม่บอกแล้วว่าคุณหมอทำไม่เจ็บ” เด็กบางคนได้ยินคำพูดแบบนี้ร้องไห้ทันที เพื่อเรียกร้องความสนใจ
เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ เด็กๆ ก็จะไม่กลัวหมอฟันอีกต่อไป
          ขอขอบคุณคุณพ่อ คุณแม่ที่ใส่ใจต่อฟันซี่น้อยๆ ของลูกคุณนะคะ
 
  ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ  โดย ทันตแพทย์หญิงนันทนา ศรีอุดมพร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

 


  View : 1.75K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.230.162.238