นมแม่แก้อาการโคลิก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี 

         ลูกเลี้ยงยาก ท้องอืดบ่อย ร้องไห้โยเยนาน ๆ มีอาการแหวะนม เป็น 4 อาการที่พบมากในเด็กเล็กที่คุณแม่กว่าร้อยละ 50 กำลังประสบปัญหาอยู่ อาการเหล่านี้เรียกว่า “โคลิก”
         คุณแม่มักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาลูกเลี้ยงยาก ร้องไห้งอแงนาน ๆ มีอาการ ท้องอืด และแหวะนม จากการศึกษาพบว่า หากไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค สาเหตุหลักนั้นมาจากลำไส้และนํ้าย่อยในระบบย่อยอาหารของเด็กยังเติบโต ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ต้องทานนมเป็นอาหารหลักในปริมาณมาก เนื่องจากในนมผงมีส่วนผสมของโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีจำนวนโมเลกุลสายยาว ทำให้ย่อยได้ยาก และคาร์โบไฮเดรตที่จะถูกย่อยกลายเป็นนํ้าตาลแล็กโทส แต่เด็กที่ยังเล็กอยู่จะมีระบบการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์ การย่อยและดูดซึมสารอาหารจึงทำได้ช้า ทำให้ทั้งโปรตีนและแล็กโทสส่วนที่ไม่สามารถดูดซึม ถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อย ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เด็กจึงเกิดอาการท้องอืด บางคนอาจจะมีอาการท้องผูก ร่วมด้วย หรือในบางรายอาจเกิดอาการท้องเสียได้ ส่งผลให้เด็กรู้สึกไม่สบายท้อง ร้องไห้งอแงนาน ๆ มากกว่า 3 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน อารมณ์หงุดหงิด ไม่ยอมรับประทานนม และแหวะนมได้ หากปล่อยอาการดังกล่าวทิ้งไว้ ก็จะส่งผลต่อด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกน้อยในระยะยาวได้ เพราะในช่วงอายุ 3 ขวบปีแรกเป็นช่วงที่สมองเด็กมีการเติบโตและพัฒนารวดเร็วที่สุด
          การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการให้ลูกได้ดื่มนมแม่ เพราะนมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุด และในนํ้านมแม่นั้นมีโปรตีนและแล็กโทสในปริมาณที่พอเหมาะกับระบบการย่อยในเด็กเล็ก แต่ในกรณีที่ลูกไม่สามารถดื่มนมแม่ได้ ก็ควรเลือกนมผงสูตรย่อยง่าย ซึ่งเป็นสูตรที่โปรตีนถูกย่อยบางส่วนแล้ว ใส่แล็กโทสในปริมาณที่เหมาะสมต่อระบบย่อยของเด็กเล็ก และที่ขาดไม่ได้คุณแม่ควรพิจารณาถึงสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองที่มีอยู่ในนม ได้แก่ ดีเอชเอ (DHA) และ เออาร์เอ (ARA) สารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของลูกให้เติบโตสมวัย
         อย่างไรก็ตาม อยากให้คุณแม่สังเกตอาการลูกด้วยว่า หากเปลี่ยนนมแล้วอาการลูกยังไม่ดีขึ้น ลูกยังร้องไห้งอแงมากขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรงขึ้น ท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูกเลือด เลี้ยงไม่โต ให้ระวังการติดเชื้อเรื้อรัง จึงควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายได้.


รศ.นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


  View : 3.00K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,417
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 6,269
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 42,986
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 835,637
  Your IP : 3.141.198.147