ปลูกฝังลูกมีทักษะ เรื่อง ความปลอดภัย

รวบรวบข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
           กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับเด็กหญิงวัย 11 ปี จากจังหวัดตรัง ที่ได้หายตัวไปจากบ้านตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนเกิดกระแสผู้คนในโลกออนไลน์ช่วยการแชร์ภาพเพื่อช่วยกันตามหา แต่สุดท้ายก็พบว่าน้องได้ถูกฆาตกรรมและพบศพอยู่ภายในท่อระบายน้ำ ข่าวในท่วงทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเหลือเกินในระยะหลัง และเด็กก็ตกเป็นเหยื่ออีกแล้ว โดยเฉพาะเด็กสาวที่ตกเป็นเป้าหมายมากกว่า
          บทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่กลายมาเป็นอุทาหรณ์ซ้ำๆ สร้างความสั่นสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมอย่างมาก แต่มันจะกลายเป็นกระแสอยู่พักหนึ่งแล้วค่อยๆ เงียบไป จนกว่าจะเกิดเหตุคล้ายๆ กันกับเหยื่อรายต่อไป จึงจะถูกหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้งเราวนเวียนซ้ำซากกับปัญหาเดิมๆ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหามายาวนานเหลือเกิน !!
          กรณีที่เกิดขึ้นควรจะต้องกระตุกสังคมแรงๆ ได้แล้ว เพื่อที่จะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กกับมาตรการความปลอดภัยในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา เรื่องความปลอดภัยในสังคมยังอยู่ในมาตรฐานที่ต่ำมาก
          ในขณะที่พ่อแม่เองก็ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น ควรฝึกให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องทักษะความปลอดภัยในชีวิตอย่างรอบด้าน อย่าคิดว่าเรื่องที่เป็นข่าวต่างๆ ไม่มีวันเกิดขึ้นกับลูกตัวเอง แต่ควรจะคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับลูกหรือครอบครัวของเราก็ได้ เพราะจะทำให้เราเพิ่มความระมัดระวัง และฝึกให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการป้องกันตัวเอง หรือมีทักษะเรื่องความปลอดภัย ที่สามารถเอาตัวรอดจากภัยร้ายที่เกิดขึ้นได้ด้วย
          ภัยร้ายที่มักเกิดขึ้นกับเด็กในระยะหลังนอกจากอุบัติเหตุหรือความประมาทของผู้ใหญ่แล้ว ภัยร้ายที่ระยะหลังเกิดขึ้นบ่อยมากคือ การลักพาตัว การล่อลวง การละเมิดทางเพศ ฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มาก และเตรียมความพร้อมให้ลูกรู้จักวิธีเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดเหตุ
          กรณีที่ลูกเล็ก พ่อแม่ไม่ควรปล่อยลูกให้อยู่ตามลำพัง หรือคลาดสายตาเด็ดขาด เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าจำเป็นต้องไปในที่ชุมชนให้จูงมือลูกไว้ไม่ให้หลุดจากกัน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ขวบ และโปรดอย่าคิดว่าแค่แป๊บเดียว เพราะส่วนใหญ่ที่เด็กหลงหรือหายก็เพราะคำว่าแป๊บเดียวนี่แหละ กรณีที่ลูกโตแล้ว หรืออยู่ระดับประถมแล้ว พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักการช่วยเหลือตัวเองเมื่อพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย


6 วิธี ปลูกฝังให้ลูกมีทักษะเรื่องความปลอดภัย
          ประการแรก ให้รู้จักความปลอดภัยระหว่างการอยู่กับพ่อแม่และการอยู่กับผู้อื่นมีความแตกต่างกัน ต้องให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่ออยู่กับผู้อื่น ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวมากขึ้น แม้จะรู้จักก็ตาม เพราะปัจจุบันนี้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น และพบว่าผู้ก่อเหตุมักเป็นผู้ใกล้ชิด หรือผู้ที่เด็กไว้วางใจ สิ่งที่พ่อแม่ควรปลูกฝังลูกคือ มีโอกาสเกิดเหตุร้ายได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นลูกต้องไม่ประมาท
          ประการที่สอง ไม่ให้รับของจากคนแปลกหน้าเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นของเล่น ขนม เกม เงิน หรือของโปรดของลูก ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาคนร้ายมักใช้วิธีนี้หลอกเด็กแล้วได้ผล ฉะนั้น ต้องย้ำกับลูกว่าถ้าอยากได้อะไรก็ตาม ลูกต้องมาขออนุญาตพ่อแม่ก่อนรับของจากคนอื่นทุกครั้ง รวมถึงต้องไม่ออกไปไหนกับคนแปลกหน้าเด็ดขาด หรือแม้แต่ไปกับคนรู้จักหรือใกล้ชิดก็ต้องขออนุญาตพ่อแม่ก่อนเช่นกัน
          ประการที่สาม ต้องจำเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถขอความช่วยเหลือได้มากกว่า 2 คน รวมไปถึงสถานที่ตั้งของบ้านและบริเวณใกล้เคียง ฝึกให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต เช่น ระหว่างเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนต้องผ่านสถานที่ใดบ้าง บริเวณไหนเป็นบริเวณเปลี่ยว บริเวณไหนเป็นบริเวณอันตรายก็ต้องสอนให้ลูกสังเกตเป็นด้วย
          ประการที่สี่ ฝึกการวางแผนสำหรับการขอความช่วยเหลือ พ่อแม่อาจสมมติสถานการณ์หรือยกตัวอย่างสถานการณ์จริง และนำมาพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือทุกที่ที่พวกเขาไป ฝึกให้ลูกมีการวางแผนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง สอนให้ลูกใช้เสียงและร่างกายในการเดินหนีจากคนแปลกหน้า หรือการใช้น้ำเสียงที่สามารถสร้างความสนใจแก่ผู้คนแถวนั้น หรือตะโกนขอความช่วยเหลือดังๆ “ช่วยด้วย” วิธีนี้จะทำให้มิจฉาชีพเดินหนีทันที
          ประการที่ห้า ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้า เช่น มีคนมาถามว่ารอคุณพ่อคุณแม่อยู่เหรอจ๊ะ หนูชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน เดี๋ยวไปส่งให้ไหม ต้องบอกลูกว่าต้องไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนอื่นเด็ดขาด ต้องคิดก่อนทุกครั้งที่มีคนเข้ามาทัก อย่าให้ข้อมูล และหากพ่อแม่มีการนัดหมายกับลูก ก็ต้องย้ำว่าพ่อแม่จะเป็นผู้มารับเอง จะไม่ให้คนอื่นมารับแทนเด็ดขาด
          ประการที่หก ต้องสอนให้ลูกรู้จักการป้องกันตัวเองในภาวะฉุกเฉิน พ่อแม่อาจให้ลูกเรียนทักษะการป้องกันตัวไว้บ้าง โดยเฉพาะลูกสาว อย่าคิดว่าเป็นเด็กผู้หญิงไม่ควรเรียนเรื่องเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม เด็กผู้หญิงควรมีทักษะเรื่องความปลอดภัย และสอนให้รู้จักจุดสำคัญหรือจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามที่จะสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ เช่น ถ้าลูกกำลังจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็ให้ลูกรู้ว่าควรจะกำจัดจุดอ่อนของเพศชายตรงไหน ถึงจะเอาตัวรอดได้
          ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าภัยร้ายมีอยู่รอบตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ การตระหนักถึงความสำคัญ รวมไปถึงการเตรียมตัวและรู้วิธีป้องกันภัยเป็นเรื่องจำเป็นมากในยุคนี้ค่ะ
 
 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์


  View : 4.88K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.19.56.45