ปอดบวมในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
       "โรคปอดบวม" หรือบางคนเรียกว่าปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ หรือปอดชื้น เป็นการติดเชื้อของถุงลมซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุดของระบบทางเดินหายใจ
      โรคปอดบวมมักพบตามหลังไข้หวัดที่หลายคนอาจใช้คำว่า "หวัดลงปอด" พบได้บ่อยในเด็กสองวัยคือ ช่วงอายุ 3 เดือน-2 ขวบ และเมื่อเด็กเข้าโรงเรียน ช่วงแรกเป็นช่วงที่ร่างกายของเด็กไม่แข็งแรงนักเนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ส่งผ่านรกมายังเด็กตั้งแต่แรกคลอดค่อยๆ ลดต่ำลงจนถึงระดับต่ำสุดเมื่อเด็กอายุ 3-4 เดือน ทำให้เด็กเริ่มป่วยเป็นไข้และเป็นหวัดได้บ่อย กว่าเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอในการป้องกันโรคได้ต้องรอจนถึงอายุประมาณขวบครึ่งถึงสองขวบซึ่งจะทำให้เด็กเจ็บป่วยลดลง ส่วนช่วงที่สองเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของเด็กมีความสมบูรณ์ แต่สิ่งแวดล้อมที่สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนมีเชื้อโรคอยู่รอบตัว ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องป่วยจากการเป็นหวัดบ่อยๆ กว่าร่างกายของเด็กจะปรับตัวและไม่ค่อยเจ็บป่วยอาจต้องรอจนกว่าเด็กจะเติบโตถึงวัยประถม เมื่อเด็กป่วยเป็นไข้หวัดมีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามไปยังถุงลมและทำให้เกิดโรคปอดบวมได้หากสุขภาพของเด็กอ่อนแอหรือเชื้อโรคมีความรุนแรง
         อะไรคือสาเหตุของโรคปอดบวมในเด็ก โรคปอดบวมในเด็กมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียมักเข้ามาซ้ำเติมภายหลัง เช่น หลังติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจมีเชื้อแบคทีเรียไอพีดีตามมา กรณีที่เด็กมีอาการไอเป็นเวลานานเกินสองสัปดาห์ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาการดังกล่าวอาจมีสาเหตุจากเชื้อโรคที่ไม่ธรรมดาอย่างเชื้อมัยโคพลาสม่า เชื้อไอกรน หรือแม้แต่เชื้อวัณโรค ซึ่งต้องการการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์

    heart รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคปอดบวม
          เด็กที่เป็นโรคปอดบวมมักมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน จากนั้นจะมีอาการไอมาก มีเสมหะ ไข้สูงขึ้น และหายใจติดขัด หายใจเร็ว หายใจแรง หรือหายใจเหนื่อยหอบตามมา ซึ่งหากเด็กมีอาการหายใจเหนื่อยหอบไม่ควรดูแลรักษาเองที่บ้าน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเพื่อการรักษาที่เหมาะสม
 
       heartดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรคปอดบวมได้อย่างไร   
           การดูรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวม หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ดูแลรักษาที่บ้านได้ โดยแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ กินยาตามอาการ ได้แก่ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงยาลดน้ำมูก เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียว ส่งผลให้เด็กไอเพิ่มขึ้น แพทย์จะนัดเด็กมาติดตามอาการเป็นระยะๆ จนอาการหายเป็นปกติ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาล
กรณีที่รับผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคปอดบวมไว้รักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ พ่นยาขยายหลอดลม ให้ยาปฏิชีวนะกรณีสาเหตุของโรคอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก ยกเว้นกรณีโรคปอดบวมเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อของยาโอเซตามีเวียร์

        heartทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคปอดบวม
             โรคปอดบวมสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ชุมชนซึ่งมีผู้คนและเด็กจำนวนมากโดยไม่จำเป็น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ผู้ที่มีอาการของไข้หวัดควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และปิดปากเวลาไอจาม ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้
             เด็กที่เป็นไข้หวัดควรได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสม โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวลดไข้ และกินยาตามอาการ เพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะโรคปอดบวม
              เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไอพีดี วัคซีนหัด วัคซีนไอกรน

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ โครงการจุฬาคิดส์คลับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


  View : 5.72K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


1