รณรงค์ตระหนักรู้ออทิสซึมโลก 2 เมษายน

กรมสุขภาพจิต แนะ เข้าใจ ยอมรับ เด็กออทิสติก รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก โรคออทิสติกเป็นโรคทางจิตเวชในเด็กที่กรมสุขภาพจิตมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการฯ มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง พบได้ทั้งคนจนและคนรวย ในเด็กไทยอายุไม่เกิน 5 ขวบ จะพบเด็กออทิสติกหรือกลุ่มอาการออทิซึมสเปกตรัม 1 คนต่อเด็ก 161 คน เด็กออทิสติกแต่ละคนมีระดับความรุนแรงของโรคที่ไม่เท่ากัน ความผิดปกติของเด็กออทิสติกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเด็ก และจะเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อเด็กออทิสติกมีอายุมากขึ้น จะต้องได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติ และบำบัดรักษากระตุ้นพัฒนาการ และการปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐาน 
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า  เด็กออทิสติกมีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษา และ พฤติกรรม ผู้ปกครองสามารถสังเกตพบอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ปี สัญญาณเตือน ได้แก่ “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” กล่าวคือ ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น  ด้านภาษา เช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน  ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ และ ด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบมองวัตถุที่หมุนตลอดเวลา เช่น พัดลมหรือของเล่นที่หมุนๆ เป็นต้น ออทิสติกเป็นโรคที่มีความหลากหลายทางอาการมาก เด็กบางคนดูก็รู้ว่าเป็น แต่บางคนดูไม่ค่อยชัด หลายครั้งก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนในการพบครั้งแรก ต้องอาศัยการเฝ้าติดตามอาการและพฤติกรรมหลายๆ ครั้งเพื่อให้แน่ใจ และหาข้อมูลจากหลายที่ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กที่เด็กเข้าไปเรียน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นโรคกับความผิดปกติเป็นเส้นบางๆ ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ยิ่งเห็นมากจะยิ่งเข้าใจโรคมากขึ้น 
โรคนี้สามารถรักษาได้ พามาตรวจเร็ว ผลการรักษาก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เนื่องจากสมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไข จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี หากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย ตลอดจน การเปิดใจยอมรับของครอบครัวที่ไม่มองเด็กออทิสติกว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัว และสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กออทิสติกมีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น การเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ ย่อมช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข เด็กออทิสติกหลายคนสามารถพัฒนาได้จากไม่พูดหรือพูดภาษาที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ จนสามารถสื่อสารได้ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี ไม่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป พ่อแม่ผู้ปกครอง แพทย์ ครู รวมทั้งพวกเราทุกคนในสังคม จึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการที่จะช่วยชูพลังใจ เติมความสดใส เพิ่มความหวังให้กับพวกเขาได้ ทั้งนี้ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอดจนรับการคัดกรองได้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว 
***********2 เม.ย.2560
 
ในวันที่ 3 เมษายน 2560  เวลา 09.00 น. แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "พลังแห่งความสุข พัฒนาลูกออทิสติก" เนื่องในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น "วันออทิสติกโลก" เพื่อส่งเสริมพลังของครอบครัวในการดูแลเด็กออทิสติก โดยมีแพทย์หญิงชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นผู้กล่าวรายงาน
ซึ่งภายในงานจัดให้มีฐานกิจกรรมพัฒนาลูกออทิสติกต่างๆที่ช่วยส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้แก่เด็กออทิสติกจากทีมสหวิชาชีพ ณ ห้องประชุมวิชาการชิน โสภณพนิช อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 4 สถาบันราชานุกูล


ออทิสติก.pdf
press release วันออทิสติกโลก2560.pdf

  View : 6.11K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.145.166.7