รู้ใช้สื่อเป็นสร้างประโยชน์แก่เด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
อิทธิพล
          เนื้อหาของสื่อมีหลายรูปแบบ
          1. มีประโยชน์ทั้งในแง่การศึกษา จริยธรรม มารยาททางสังคม ให้เหมาะสมกับวัยผู้ชม จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
          2. เนื้อหาของรายการหรือเกมที่สร้างความสนุกสนาน ทำให้ผู้ชมหรือผู้เล่นเกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลาย
          3. เน้นความก้าวร้าว รุนแรง อนาจารทางเพศ หรือน่ากลัวขยะแขยง
          4. เน้นการโฆษณา เน้นบทบาทในการเป็นผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์มากกว่าเปิดรับสื่ออื่น เด็กหลายคนวิ่งเข้าใส่ชั้นขายขนม มากกว่าจะวิ่งไปที่ชั้นขายหนังสือ เพียงเพราะเคยเห็นโฆษณาขนมแบบนั้นในโทรทัศน์ จึงเห็นได้ว่าเด็กจึงเป็นผู้ได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาง่ายที่สุด
          สื่อมีอิทธิพลส่งผลต่อพฤติกรรมแค่ในระยะสั้นหรือส่งผลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้นในระยะยาวยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ และความคิดของเด็กที่กำลังเติบโต
         ด้านพฤติกรรม ในเด็กที่มีแนวโน้มหรือนิสัยค่อนข้างก้าวร้าวหรือควบคุมตนเองไม่ดีอยู่แล้ว ก็จะเลียนแบบความก้าวร้าวในโทรทัศน์ได้ง่าย เมื่อเคยชินกับพฤติกรรมก้าวร้าว ก็จะนำความก้าวร้าวเข้ามาเป็นวิธีที่จะใช้แก้ปัญหาในชีวิต ถึงแม้ว่าพฤติกรรมไม่ก้าวร้าวเพิ่มขึ้นแต่เด็กอาจเกิดเจตคติแง่ลบกับสังคมได้ การชมภาพหรือเล่มเกมที่รุนแรงยังไปลดอารมณ์ในด้านดี เช่น ความสงสาร ความอ่อนโยนในตัวเด็ก ชินชาและขาดความสนใจที่จะไปช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า อาจทำให้กลายเป็นคนที่อันตรายต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม
           ด้านอารมณ์ ในเด็กที่ขี้กลัวก็อาจคิดว่าตนเองจะเป็นเหมือนเหยื่อที่ถูกทำร้ายในโทรทัศน์ ไปเร้าความรู้สึกกลัวให้เพิ่มขึ้น
           ด้านความคิด รายการที่แสดงรายละเอียดภาพการตายของคน ในเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจความหมายของความตายดีพอ จะเข้าใจความหมายของความตายอย่างคลาดเคลื่อน คิดว่าตายแล้วกลับมาฟื้นใหม่ได้ หรือเล่นซ้ำ ๆ เกี่ยวกับเรื่องตาย ความที่เด็กยังแยกความเป็นจริงออกจากจินตนาการไม่ดีนักอาจเลียนแบบทำให้เกิดอันตรายได้
           ข้อแนะนำ
           การจัดสภาพแวดล้อม

          1. วางตำแหน่งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในห้องนั่งเล่น หรือห้องรวมที่ทุกคนสามารถเข้าไปหาความเพลิดเพลินร่วมกันได้ ไม่ควรตั้งไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด เพื่อพ่อแม่สามารถติดตามได้ และเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กเก็บตัว แอบเล่นหรือแอบดูคนเดียวในห้องหรือทั้งคืนโดยไม่พักผ่อนพอเพียง
          2. วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้ในตำแหน่งที่เด็กเห็นชัดเจน เพื่อความสะดวกในการควบคุมเวลาปิด-เปิด สื่อ
          3. จัดมุมสำหรับอ่านหนังสือ หรือทำการบ้านเป็นสัดส่วนเฉพาะ แยกจากมุมดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์หรือเกม
บทบาทพ่อแม่
          1. เข้าใจลักษณะของลูก ถ้ามีแนวโน้มก้าวร้าวอยู่เดิม ควรเก็บแผ่นภาพยนตร์หรือเกมที่จะเสริมความก้าวร้าวรุนแรงออกไป
          2. กำหนดเวลาดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมเป็นเวลาของ ครอบครัว เพื่อจะได้พูดคุยถึงสิ่งที่ดูหรือเล่นพร้อมชี้แนะแก้ไขการรับรู้ของเด็กต่อรายการหรือเกมเหล่านั้นให้ถูกต้อง สอนผ่านการแสดงออกของตัวละคร พฤติกรรม อารมณ์ การใช้คำพูด ค่านิยมของสังคมที่ปรากฏในรายการหรือเกมว่าเหมาะสมหรือไม่ ให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ ในเรื่องที่เขาดูหรือเล่น ฝึกสมองให้คิดไตร่ตรองความเหมาะสม อะไรที่ ควรนำมาใช้เป็นแบบอย่างในชีวิตจริงหรือควรประยุกต์มาใช้อย่างไร ช่วยเด็กวิเคราะห์แยกแยะ เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโทรทัศน์หรือในเกมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงว่าแตกต่างกันอย่างไร ช่วยให้เด็กคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในรายการหรือเกมโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง โดยเน้นว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาที่สังคมยอมรับ
           3. กำหนดเวลาในการเล่นหรือการดูโทรทัศน์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องเตือนบ่อย แต่คงกติกาให้แน่นอน ชัดเจน เช่น วันละ 1 ชั่วโมง เวลา 19.00 ถึง 20.00 น. หลังทำการบ้านเสร็จ รวมทั้งกำหนดข้อตกลงด้วยว่า หากไม่ทำตามกฎที่กำหนดไว้ จะมีมาตรการอย่างไร เช่น หักเวลาในวันถัดไป
           4. พ่อแม่ต้องยึดข้อตกลงอย่างหนักแน่นและฝึกสม่ำเสมอ กฎดังกล่าวใช้กับทุกคนในบ้านเพื่อให้เด็กไม่เกิดการสับสนหรือคิดว่าผู้ใหญ่ไม่ยุติธรรม ถ้าการเริ่มกำหนดกฎระเบียบหรือจะมาฝึกวินัยเมื่อเด็ก ติดทีวีหรือเกม ไปแล้วนั้นจะทำได้ยาก
           5. อย่าให้ดูรายการหรือเล่นเกมที่มีความรุนแรงก้าวร้าว มีเรื่องเพศ หรือมีเนื้อหาที่ตึงเครียดมากเกินไป โดยบอกอย่างหนักแน่นว่าคุณไม่ต้องการให้ดูหรือเล่น ถ้าเด็กไม่เชื่อฟัง ก็ควรจะปิดหรือเปลี่ยนช่องเอง หรือริบแผ่นเกมที่ไม่เหมาะสมไว้ ขณะเดียวกันควรชี้แนะถึงสิ่งที่เด็กควรดูรายการอะไรหรือเล่นเกมใดได้บ้าง
           6. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก โดยไม่นั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมเสียเองตลอดเวลา หรือออกกฎให้ลูกเลิกชมหรือเลิกเล่น แล้วตนเองมาเล่นต่อเสียเองก็อาจทำให้เด็กสงสัยหรือต่อต้านในการฝึกวินัยดังกล่าวได้
           7. จัดหากิจกรรมอื่นที่น่าสนใจสำหรับทั้งครอบครัว ทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ ช่วยลดพฤติกรรมติดสื่อ และเพิ่มความสนิทสนมภายในครอบครัว เช่น หมากรุก เล่นกีฬา ทำขนมทำอาหาร ประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ ซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุดในบ้าน ไปทัศนศึกษา ไปค่าย เป็นต้น
           8. งดดูโทรทัศน์เป็นครั้งคราว โดยตั้งเป็น “คืนปลอดโทรทัศน์” โดยจัดให้มีกิจกรรมอื่น สนุก ที่ทุกคนได้ร่วมสนุกด้วยกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์หรือเกม
           9. ส่งเสริมความรับผิดชอบของเด็ก โดยจัดกระบวนการทำงาน เช่น วางแผนทำงานในความรับผิดชอบ ได้แก่ ทำการบ้าน ทบทวนบทเรียนก่อนการดูโทรทัศน์หรือเล่นเกม ส่งเสริมให้ทำงานทีละอย่าง เพื่อจะได้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำเพื่อให้งานมีคุณภาพ ไม่ควรอนุญาตให้ทำการบ้านไปดูโทรทัศน์ไปพร้อมกัน
 
 
      ที่มา : ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย


  View : 5.11K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.145.186.173