ลูกวัยซนเลี้ยงไม่ยากหากเข้าใจ

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         “มีลูกสมัยนี้เลี้ยงยาก ทั้งซน ทั้งดื้อ พูดอะไรไม่ค่อยฟัง” ดูจะเป็นคำบอกเล่ายอดฮิตของคุณพ่อคุณแม่ ยุคไอทีไปเสียแล้ว เมื่อมีใครถามถึงลูกน้อยวัยซน...
         ฟังแล้วชวนคิดว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบกับการเลี้ยงลูกยุคใหม่จริงๆ หรือมีเหตุผลใดที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ควรรู้เพิ่มเติม ประเด็นนี้ ดร.วรนาท รักสกุลไทย หรือ “ครูป้าหนู” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย และนักจิตวิทยาด้านการพัฒนาศักยภาพเด็ก ให้ความเห็นว่า ต้องบอกว่ายุคสมัยนี้ เลี้ยงลูกได้ยากขึ้นกว่าเมื่อสมัยที่พ่อแม่เลี้ยงเรามาจริง ด้วยสาเหตุของสื่อและสิ่งเร้าต่างๆ ที่มากระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงแบนไปจากที่ควรจะเป็น โดยที่หลายครั้งคุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิด คิดว่าเทคโนโลยีช่วยเสริมพัฒนาการเด็กได้เหมือนกัน ก็เลยให้ลูกอยู่หน้าจอ ฉะนั้น เหตุที่เลี้ยงยาก จึงเป็นเพราะเหตุที่มาทั้งจากตัวเราเองและสังคม
           เลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องเตรียมตัว
          ครูป้าหนูของเด็กๆ กล่าวเพิ่มเติมว่า กับยุคสมัยที่เทคโนโลยีล้ำหน้า หลายครั้งทำให้พ่อแม่ลืมไปว่า การที่เด็กๆ ได้เล่นน้ำ ดิน ทราย สิ่งธรรมชาติ หรือการเล่นจากวัสดุที่สามารถนำมาตัดแปลงได้ เช่น ตุ๊กตาจากผ้าขนหนู ปีกซุปเปอร์แมนจากผ้าขนหนู ซึ่งเป็นการเล่นสร้างสรรค์ เสริมสร้างจินตนาการนั้น เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมแก่ลูกน้อย
          “การเป็นพ่อแม่นั้นต้องเตรียมตัว และควรรู้เท่าทันในพัฒนาการของลูกแต่ละวัย ของเล่นแพงๆ ทันสมัย ไม่ได้ตอบโจทย์ของเด็กวัย 3-5 ขวบ เพราะเด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของเขา ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นน้ำ เล่นทราย กับการให้เด็กเล่นน้ำในไอแพดโดยที่เขาไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสของจริง ความสนุกและการสร้างเสริมจินตนาการย่อมต่างกัน  พ่อแม่ควรจะต้องให้ลูกเรียนรู้จากการลงมือทำจริงๆ ให้เห็น เห็นมิติการเรียนรู้ แล้วที่สำคัญเลย เราต้องอยู่ใกล้ลูก ทิ้งไม่ได้ คำว่าใกล้ลูกก็เพื่อที่จะได้ดูว่า ลูกคิดอย่างไร ลูกมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งต่างๆ อย่างไร เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้หรือไม่”


   พัฒนาการช้า “พ่อแม่” ช่วยได้
           เด็ก 2 ขวบต้องพูดสื่อสารได้ เป็นประโยคแล้ว แต่ถ้ายังเป็นคำเดี่ยวๆ แล้วมีการวางสลับที่ เช่น ต้องการพูดว่า ปืนฉีดน้ำ แต่กลับพูดว่า น้ำฉีดปืน ตรงนี้พ่อแม่ต้องสังเกต
           “ป้าหนูเคยพบเด็กเกือบ 3 ขวบที่พูดได้ช้าเพราะ ผู้ใหญ่ไม่พยายามช่วยให้เด็กได้พูด เช่น พอเด็กชี้ไปที่แก้วนม แทนที่ผู้ใหญ่จะสอนว่า หนูลองพูดสิคะว่าต้องการดื่มนม กลายเป็นว่า เด็กชี้นม ก็เอานมมาให้กิน ซึ่งการอ่านภาษากายของลูกนั้นถูกต้องแล้ว แต่การไม่กระตุ้นให้เด็กพูดตาม พูดต่อ หรือขยายใจความว่า หนูหมายถึงนมเย็นๆ หรือหนูจะเอานมร้อนๆ อยากกินเต็มแก้ว หรือครึ่งแก้ว คำศัพท์พวกนี่ผู้ปกครองควรใช้ซักถามพูดคุยกับลูก เพื่อฝึกให้เขารู้จักคิดและโต้ตอบ”
            พัฒนาการของลูกรัก การสังเกตของพ่อแม่มีความสำคัญมาก พ่อแม่จึงไม่ควรชะล่าใจ เพราะถ้ารู้ปัญหาเร็ว ก็จะทำให้แก้ปัญหาได้เร็วด้วย
            “นิทานยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยฝึกให้เด็กสื่อสาร ใช้จินตนาการ และโต้ตอบได้ดี เด็กเล็กไม่ได้เรียนรู้เหมือนผู้ใหญ่ที่อ่านเองได้ ฟังบรรยายเข้าใจ เพราะเราโตแล้ว แต่เด็กมีลักษณะการเรียนรู้ที่พึ่งพิงผู้ใหญ่ ฉะนั้นเราจะต้องอ่านให้เขาฟัง ในเด็กปฐมวัย การที่เด็กจะถือหนังสืออ่าน ทำท่าเสมือนว่าอ่านทั้งที่ถือหนังสือหัวกลับ ก็คืออ่าน อย่างไรก็ตาม การอ่านนิทานจะมีค่าสูงสุด ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่ที่แวดล้อมรู้จักถามเด็กถึงตัวละครที่อยู่ในนั้น เช่น ชอบตัวละครตัวไหนคะ ทำไมถึงชอบ หรือแต่ละตัวมีความแตกต่างกันอย่างไร  เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ลองให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกสังเกต โอกาสที่เด็กจะคิดต่อ ก็เป็นไปไม่ได้” ป้าหนูอธิบาย

“ความซน” คือธรรมชาติของเด็ก
            วัย 3-5 ขวบ เป็นวัยเซย์โน เด็กวัยนี้จะพยายามเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีความคิด และการแสดงออกตามความต้องการขอตัวเองมากขึ้น
           “เรื่องซนเป็นเรื่องธรรมชาติ เด็กซนไม่น่ากลัว หากเด็กไม่ซน ไม่ดื้อ ไม่พูดนี่น่ากลัวกว่า เพียงแต่ซนก็ต้องมีขอบเขต ไม่ใช่เห็นอะไรแล้วรื้อ อยากจะหยิบของโดยไม่ขออนุญาติผู้ใหญ่ ก็ทำ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงควรคุยกับเด็กให้รู้ว่า พวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ควรทำ พ่อแม่ก็ต้องให้เหตุผลกับเขา ต้องเปลี่ยนความซนของลูกให้เป็นพลังทางบวก เปลี่ยนให้เขาเป็นคนที่อยากรู้ แล้วพ่อแม่ก็ทดลองเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน” ครูป้าหนูกล่าวทิ้งท้าย

ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th


  View : 2.21K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 360
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,027
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,744
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,395
  Your IP : 18.222.163.134