วัคซีนหัวใจสำคัญป้องกันโรคติดเชื้อในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         ปลายปี 2558 เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี จะมีการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเสรี และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ตามมา นักวิชาการทางด้านการแพทย์มีความวิตกกว่าการเคลื่อนย้ายของประชากรจะเป็นสาเหตุและอาจทำให้เกิดอุบัติการณ์โรคระบาดหรือโรคติดเชื้อใหม่ๆ ได้ หากไม่มีวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากพอ 
          ขณะที่ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า โรคติดเชื้อในเด็กยังคงเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มประเทศในอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น วัณโรค คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน หัด หัดเยอรมัน ซึ่งในอดีตโรคต่างๆ เหล่านี้นับเป็นสาเหตุการตายของเด็กจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคติดเชื้อเหล่านี้ได้ด้วยวัคซีน
          ซึ่งจะเห็นว่าวัคซีนเป็นอาวุธอันหนึ่งที่สามารถจะต่อสู้กับโรคติดเชื้อต่างๆ สามารถป้องกันและควบคุมหลายโรคให้อยู่ในความสงบได้มากพอสมควรนอกจากนี้จะเห็นว่าการฉีดวัคซีนเป็นหัวใจอันหนึ่งของการควบคุมโรคในเด็ก ซึ่งความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน นอกจากวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กได้แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคต่างๆ เหล่านี้ในผู้ใหญ่ได้ด้วย
         รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี อธิบายเพิ่มเติมถึงโรคติดเชื้อในประเทศไทยด้วยว่ามี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่มีเป็นประจำกับโรคอุบัติใหม่กลุ่มโรคที่มีเป็นประจำ ยกตัวอย่าง เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดตลอดปี และจะระบาดสูงขึ้นในช่วงหน้าฝน เพราะอากาศชื่นทำให้เชื้อโรคอยู่ได้นาน และเป็นจังวหะเปิดภาคเรียนของเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นตัวการนำเชื้อและแพร่เชื้อ และโรคอื่นเช่นๆ โรคระบบทางเดินหายใจ
          "อีกหนึ่งโรคที่ตามมาในหน้าฝน คือ โรคที่นำโดยยุง เช่น โรคไข้เลือดออก ที่มีการแพร่ระบาดในทุกปีจะเห็นว่าบางปีสูงขึ้น บางปีระบาดน้อยลงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหลายอย่างและการเปลี่ยนสายพันธุ์ รวมทั้งโรคที่มีตลอดปีอยู่แล้ว เช่น โรคมือเท้าปาก ไข้หวัด โรคท้องร่วงในหน้าร้อน เป็นต้น"
          ส่วนโรคอุบัติใหม่ คือ โรคใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราเคยเจอปัญหาเรื่องไข้หวัดนก ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่หายไปไหน ยังพบในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ส่วนบ้านเราถือว่ามีการควบคุมได้ ดี ทั้งภาคปศุสัตว์ทำงานดีมาก ไข้หวัดนกจึงห่างหายไป 7-8 ปีแล้ว และอีโบลาที่เป็นโรคอุบัติใหม่ในต่างประเทศและห่างไกลเรามากก็จริง แต่ก็ยังต้องศึกษาว่ามาเชื้อโรคเหล่านี้จะสามารถเดินทางมาได้ยังไงบ้างเพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีระบบในการเตรียมตัวกับโรคอุบัติใหม่ซึ่งเป็นโรคที่คาดการณ์ยาก
        รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี บอกอีกว่า สิ่งที่น่าวิตกเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปีนี้ คือการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสนำพาเชื้อโรค หรือโรคจากแห่งหนึ่งไปยังแห่งหนึ่งได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมองว่าความร่วมมือร่วมใจในกลุ่มประเทศสมาชิกจะช่วยในการป้องกันเชื้อโรคก็ถือเป็นหัวใจส่วนหนึ่งด้วย เพื่อช่วยให้คนที่อยู่ในภูมิภาคนี้มีสุขภาพที่แข็งแรง
         เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่อง "การป้องกันโรคด้วยวัคซีนใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน" โดยนายกสมาคมกุมารแพทย์หรือผู้แทนของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนได้พูดถึงโครงสร้างการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติในประเทศของตนว่า ได้เริ่มต้นโครงการตั้งแต่เมื่อไหร่ มีพัฒนาการอย่างไร พบว่าวัคซีนที่นำเข้ามาใช้ในโครงการความครอบคลุมในการให้วัคซีน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของแต่ละประเทศ อาจมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ
1.  ประเทศอาจมีโรคติดเชื้อบางชนิดสูง วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคเหล่านั้นก็จะมีความจำเป็นมาก
2. ประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
3. ลักษณะภูมิประเทศ และการกระจายตัวของประชากรจะส่งผลต่อความครอบคลุมของวัคซีนในประเทศนั้นๆ
4. มีเชื้ออุบัติใหม่ทำให้แต่ละประเทศต้องคิดค้นและหาวิธีนำวัคซีนใหม่ๆ เข้ามาใช้ในโครงการ ถ้าโรคนั้นมีผลกระทบต่อประชากรภายในประเทศ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น
5. ราคาของวัคซีนหากวัคซีนนั้นมีราคาแพง การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กทุกคนในประเทศอาจมีข้อจำกัด
         ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการร่วมมือเป็นเครือข่ายคือ เมื่อเกิดโรคจะมีการส่งสัญญาณถึงกันเพื่อจะได้เรียนรู้และหาแนวทางในการป้องกันร่วมกันอย่างทันท่วงที
 
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก


 


  View : 1.59K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

24 เม.ย. 2556

 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.191.236.174