วันดาวน์ซินโดรมโลก สถาบันราชานุกูล ประจำปี 2562

 
“ดาวน์ดวงนี้ที่สร้างได้” 
วันจันทร์ที่  18  มีนาคม   2562
ณ ห้องประชุมทุนการกุศลสมเด็จย่า ชั้น 3 อาคารผู้ป่วยนอกใหม่ สถาบันราชานุกูล
 
รมสุขภาพจิตคาดการณ์เด็กดาวน์เกิดใหม่ลดลง 
เร่งรณรงค์ส่งเสริมศักยภาพเด็กกลุ่มอาการดาวน์ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความทัดเทียม
วันนี้ (18 มี.ค.62) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิตจัดงาน “ดาวน์ดวงนี้ที่สร้างได้” รณรงค์เนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลกประจำปี 2562 ภายใต้แคมเปญ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  "leave no one behind" เพื่อส่งเสริมการรับรู้ และเปิดโอกาสสร้างความเท่าเทียมกันในทุกด้านของสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมให้คำมั่นว่าจะไม่มีใครถูกทอดทิ้ง วันดาวน์ซินโดรมโลกตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี จึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มอาการดาวน์พร้อมกันทั่วโลก ในแต่ละนั้นปีนั้นเสียงของผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์จะดังขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้จากการแสดงความสามารถของบุคคลกลุ่มอาการดาวน์ที่พร้อมใจกันมาร่วมแสดงศักยภาพโชว์ความสามารถที่ทัดเทียมหรืออาจจะมากกว่าบุคคลปกติทั่วไปให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในความสามารถของพวกเขา 
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มอาการดาวน์  (Down syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมมาแต่กำเนิด ส่งผลต่อการพัฒนาของเด็กตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดาต่อเนื่องไปจนหลังคลอดและตลอดชีวิต เกิดขึ้นกับทารกประมาณ 1 ใน 800 คน เด็กกลุ่มอาการดาวน์ มีความบกพร่องในการเรียนรู้ การใช้ภาษาและการเคลื่อนไหวของร่างกายตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงระดับที่มาก ประเทศไทยในช่วงปี 5 ปีหลัง มีแนวโน้มพบทารกดาวน์เกิดใหม่ลดลง โดยพบประมาณ 500 คนต่อปี หรือประมาณ 1-2 คนต่อวัน อัตราความเสี่ยงของการมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมจะสูงหรือต่ำขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุของมารดาขณะตั้งครรภ์ มีประวัติมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม หรือมีความผิดปกติในโครโมโซมของพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันสามารถคัดกรองทารกที่มีความเสี่ยงต่อดาวน์ซินโดรมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มตั้งครรภ์ การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับสตรีตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างถ้วนหน้า ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เป็นนโยบายสำคัญของการสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย รัฐบาลทุ่มงบ 100 ล้าน เปิดให้บริการตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือดตรวจในกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไปครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกสิทธิ์ ช่วยให้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงข้อมูลเพื่อตัดสินใจและเตรียมความพร้อมเพิ่มขึ้น ทำให้พ่อแม่ได้รับทราบภาวะของทารกที่จะเกิดมาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ 
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล เผยว่า ถึงแม้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับอาการดาวน์ซินโดรมจะมีพัฒนาการล่าช้า มีระดับความสามารถในการเรียนรู้ที่ลดลง ระดับของสติปัญญาจะอยู่ในขั้นบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง คือมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50 มีปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยกว่าเด็กปกติ  แต่คุณค่าต่อสังคมของเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้น้อยลงเลย เนื่องจากเด็กกลุ่มอาการดาวน์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาและสามารถพัฒนาจนดูแลช่วยเหลือตนเองได้  ได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  อีกทั้งเด็กกลุ่มอาการดาวน์เองเป็นเด็กที่มีความน่ารักในตัว อารมณ์ดีและเป็นมิตร ซึ่งเด็กกลุ่มอาการดาวน์จำนวนมากยังขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จากข้อมูลการฟื้นฟูสมรรถภาพปี 2561 ทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ Early intervention เพียง 22,681 คน 49,218 ครั้ง ข้อมูลจากระบบลงทะเบียนเด็กพิการแต่กำเนิดพบว่าเด็กกลุ่มอาการดาวน์ในเขต กทม. เพียงร้อยละ 10-15 ของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ทั้งประเทศ ส่วนอีก 85% อยู่นอกเขต กทม. สะท้อนให้เห็นว่าการส่งเสริมสุขภาพและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กกลุ่มนี้ยังขาดความครอบคลุม ระบบสาธารณสุขต้องรองรับจุดนี้  ทางสถาบันราชานุกูลจึงได้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มอาการดาวน์เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูและบำบัดรักษา
 
นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กกลุ่มอาการดาวน์ขาดโอกาสเข้ารับการศึกษาทั้งในโรงเรียนการศึกษาพิเศษหรือโรงเรียนร่วม พบว่ามีเด็กบกพร่องทางสติปัญญาที่อยู่ในวัยศึกษาจำนวน 50,000 คน แต่มีนักเรียนบกพร่องทางสติปัญญาที่อยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษและเรียนร่วมปี 2560  มีเพียง 26,250 คน หรือคิดเป็นอัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบร้อยละ 50 ในขณะที่อัตราการเข้าเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 80.3 
การพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มอาการดาวน์เพื่อให้ดำรงชีวิตอิสระได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เด็กกลุ่มอาการดาวน์ช่วงอายุแรกเกิด – 5 ปี สามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ จากการที่ผู้ปกครองนำมารับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุน้อย ๆ (ไม่เกินขวบปีแรก) ร่วมกับการที่ผู้ปกครอง มีความรู้ในการดูแลสุขภาพและให้ส่งเสริมพัฒนาการลูกเองได้ที่บ้านอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาต้องให้การสนับสนุนในศักยภาพของเด็กแต่ละคนเท่าที่จะเป็นไปได้
  สามารถเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้เรื่องดาวน์ซินโดรมได้ที่ www.rajanukul.go.th 
 
ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพเด็กกลุ่มอาการดาวน์ได้ที่นี่ค่ะ

กำหนดการ วันดาวน์ซินโดรมโลก สถาบันราชานุกูล ประจำปี 2562.pdf
แผ่นพับดาวน์ซินโดรม.pdf
แผ่นพับภาวะบกพร่องทางสติปัญญา.pdf
คู่มือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ.pdf
แผ่นพับแนวทางการดูแลด้านโภชนาการสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา.pdf
แผ่นพับสอนหนูให้พูดได้.pdf
แผ่นพับโรคในช่องปาก.pdf
คู่มือก้าวไปพร้อมกันกับดาวน์ซินโดรม.pdf
การดูแลเด็กที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิด.pdf
แนวทางเบื้องต้นในการดูแลเด็กชัก.pdf
press releaseวันดาวน์ซินโดรมโลก 2562.pdf

  View : 10.49K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 191
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,364
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,299
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 877,467
  Your IP : 173.252.83.113