สธ. ผนึกพลัง 84 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์ คุ้มครองเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกม

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย 84 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์ คุ้มครองเด็กและเยาวชน จากโรคติดเกม ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคทางจิตเวช คาดการณ์ มีเด็กเสี่ยงติดเกม ประมาณ 2 ล้านคน ป้องกันด้วยหลัก 3 ต้อง 3 ไม่ หากสงสัยทำแบบทดสอบได้ที่ www.thaiteentraining.com

วันนี้ (31ต.ค.2561) ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี” พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายเด็กและเยาวชน สภาวิชาชีพ ราชวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ 84 องค์กร ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกมอย่างเป็นรูปธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1-7 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกม   แต่พอดี” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนจากโรคติดเกม (Gaming disorder) องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา การงานอาชีพ และ สังคม โดยทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของความเจ็บป่วยทางจิตจากพฤติกรรมเสพติดเกมนับพันล้านคน สำหรับประเทศไทย คาดการณ์มีเด็กติดเกมและมีปัญหาเสี่ยงต่อการติดเกม ประมาณ 2 ล้านคน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนที่เล่นเกมจนเกินพอดี ขาดวินัยในตนเอง ไม่สามารถควบคุมตนเอง ไม่รู้เท่าทัน จะนำไปสู่การติดเกม เป็นปัญหาพฤติกรรมเสพติดในทางสมอง มีลักษณะคล้ายกับ “ติดสารเสพติด” เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรม ขอย้ำว่า ไม่ได้ห้ามเด็กเล่นเกม แต่เด็กที่เล่นเกมมีความเสี่ยง “ติดเกม” จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันคุ้มครอง ป้องกันและแก้ไขไม่ให้อนาคตของชาติต้องเสพติดเกม โดยเน้นการป้องกัน เริ่มต้นจากครอบครัว ด้วยหลัก 3 ต้อง 3 ไม่” 3 ต้อง ได้แก่ ต้อง กำหนดเวลาเล่น เล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน ต้อง ตกลงโปรแกรมให้กับลูก เลือกประเภทเกมให้ลูก เช่น เกมบริหารสมอง บอร์ดเกม ต้อง เล่นกับลูกบ้าง เล่นเกมพร้อมกับลูก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และให้คำแนะนำแก่ลูก และ 3 ไม่ ได้แก่ ไม่ เป็นตัวอย่างที่ผิด เช่น เล่นเกมรุนแรง เล่นเกมมากเกินไป ไม่ เล่นในเวลาครอบครัวเช่น เวลา ทานข้าว หรือออกไปเที่ยว ไม่ ใช้ในห้องนอน เพราะจะควบคุมการเล่นของลูกไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องกำหนดขอบเขตเหล่านี้ในครอบครัว ที่สำคัญ ห้ามเด็ดขาดในการใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์จอใสต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงเด็กก่อนอายุ 5 ขวบ เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการช้า พูดช้า เด็กจะก้าวร้าวรุนแรง โมโหร้าย ชอบเอาชนะตามมาได้

สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนมาตรการเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกม 4 ข้อ ได้แก่ 1.ป้องกันและควบคุมการบริโภคเกมที่มีผลต่อสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน 2.สนับสนุนให้มีมาตรการกำกับดูแลการแข่งขันวีดีโอเกมและ E-SPORT ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม 3.สร้างความตระหนักถึงผลเสียและเรียนรู้การใช้อย่างเหมาะสมแก่เด็ก ครอบครัวและครู และ 4.สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตขึ้นเป็นคนไทย 4.0  ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศและดูแลสังคมต่อไป

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกม เป็นปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่พบบ่อย ในอายุระหว่าง 6 - 18 ปี มีความสัมพันธ์กับชนิดของเกมประเภทต่อสู้ออนไลน์แบบมีผู้ลงแข่งเป็นทีมเป็นหลัก และเกิดโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน โรคติดสารเสพติด โรคจิต และโรคลมชัก โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นจะใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชม. ต่อวันและเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1 - 4  เกมสลับกันไป ซึ่งเกินระดับความปลอดภัยในการเล่นเกม 9 ชั่วโมง     ต่อสัปดาห์ เด็กมักแสดงอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวเมื่อให้เลิกเล่น และมักไม่ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนเองซึ่งเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ได้แก่  ปัญหาการเรียน สอบตก ไม่ยอมไปโรงเรียน ซ้ำชั้น  เรียนไม่จบ จากการเล่นนานเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป  พฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศ ผ่านการแชทในห้องเกม ปัญหาการเติมเงิน การซื้อขายและการพนัน พฤติกรรมก้าวร้าวทางวาจา เช่น การด่าทอด้วยภาษาหยาบคาย และก้าวร้าวทางกายเช่น การทุบตีคนอื่น อาละวาดทำลายของ คุกคามคนใกล้ชิด รังแกกันทางสื่อสังคมออนไลน์ ใช้สารเสพติด และฆ่าตัวตาย  พฤติกรรมการกระทำความผิด ลักขโมยเงิน ย่องเบา เพื่อให้ได้ smartphone การข่มขู่เพื่อให้ได้เงินและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในวัยรุ่น เป็นต้น

          นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า กิจกรรมในวันนี้ นอกจากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว ยังได้มีการเสวนา ติดเกม : ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่นในยุค 4.0 กิจกรรม Workshop การส่งเสริมป้องกันด้วยกระบวนการ MIDL (Media Information & Digital Literacy) และการจัดรูปแบบการเรียนรู้ ในหัวข้อ ผลกระทบต่อสมอง พัฒนาการ และปัญหาพฤติกรรมจากโรคติดเกมและการรักษา ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายนเนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2561 “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี” โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคติดเกม” ป้องกันก่อนแก้ไข สำรวจใจตนเองและทักษะในการ     เล่นเกมด้วยสมองส่วนคิดคือ การเล่นเกมสร้างสรรค์ นานพอประมาณ สนุกแบบพอดี รู้หน้าที่ รู้จักเวลา รู้กาลเทศะ และอยู่ในขอบเขตของสิ่งบันเทิงที่ปลอดภัยต่อตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตวัยรุ่น ทั้งนี้ สามารถทำแบบทดสอบการติดเกม ได้ที่ www.thaiteentraining.com หรือขอรับบริการปรึกษา ได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

********************* 31 ตุลาคม 2561

 

  View : 1.87K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 44.200.191.146