สธ.ห่วงวัยรุ่นติดLINEขั้นหนัก หวั่นเป็นสังคมก้มหน้า

     เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์   

     สธ. ห่วงวัยรุ่นติดไลน์ขั้นหนัก ชี้ทำพฤติกรรมแข็งกระด้าง ขาดทักษะในการเผชิญหน้า หวั่นเป็นสังคมก้มหน้า พบร้อยละ 51 ตื่นนอนเล่นทันที
            วันนี้ (25 สิงหาคม 2556) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าตนรู้สึกห่วงใยถึงพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้สื่อสารพูดคุยอย่างมาก โดยล่าสุดผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ     6 ปีขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในเขต กทม. โดยผลสำรวจระบุว่า
              เขต กทม. มีการใช้มากที่สุดถึงร้อยละ 84
              ภาคกลางร้อยละ 75
              ภาคเหนือร้อยละ 68
              ภาคใต้ร้อยละ 67
              ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 64
            ทั้งนี้ นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า การเล่นไลน์นั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งผลดีอาจจะสร้างความสะดวกในการสื่อสาร สามารถส่งได้ทั้งภาพและเสียง อีกทั้งประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรนศัพท์ แต่ส่วนผลเสียที่น่าห่วงนั้น ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ และผู้ปกครองไม่ชี้แนะ หรือควบคุมการใช้งานอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า ซึ่งจะทำให้การสื่อสารแบบเผชิญหน้าลดน้องลง และอาจจะเป็นนิสัยที่ติดต่อต่อไป ในส่วนของผู้ใหญ่ก็มีผลกระทบเช่นกัน ซึ่งหากผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง หรือขาดความระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุหรือจราจรเพิ่มขึ้น
            ขณะที่ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นไลน์ที่เด็กนิยมเล่นกันนั้น บางคนเล่นทุกวัน จนทำให้เด็กสูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันที่ควรจะเป็น เช่นเรื่องสัมพันธภาพ การวางตัว การใช้ชีวิตในห้องเรียน การทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการที่สำคัญของวัยรุ่น และการเล่นจนติดเป็นนิสัยนั้น จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง โดยล่าสุดผลสำรวจระบุว่า วัยรุ่นร้อยละ 51 ตื่นมาเล่นทันที อีกร้อยละ 35 เล่นก่อนนอนทุกวัน
            นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ปกครองควรวางกติกาการเล่นให้กับเด็ก ทั้งกำหนดเวลาในการเล่น ไม่ให้มีการใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่น เวลาเรียนหรือก่อนนอน หากทำไม่ได้ก็ต้องลงโทษเพื่อการเรียนรู้ เช่น งดค่าโทรศัพท์ ค่าเติมเงิน และค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
            อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้เปิดให้บริการปรึกษาแก่เด็กและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดเกม โดยสามารถขอคำปรึกษาได้ที่  โทรศัพท์ หมายเลข 02-248-8990 หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 สำหรับ 24 ชั่วโมงให้บริการทั่วประเทศ

   ฐานเศรษฐกิจ


  View : 2.35K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 821
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,994
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,929
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 878,097
  Your IP : 18.222.111.44