รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า ช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมานี้ เรามักจะพบหรือได้ยินคำว่า “ออทิสติก” เพิ่มมากขึ้น และมากขึ้นทุกปี เรื่องเดียวกันนี้เคยมีคนตั้งคำถามไปยังสถาบันต่าง ๆ ที่วิจัยออทิสติกของสหรัฐเพื่อให้ได้คำตอบว่า ถ้าพันธุกรรมเป็นตัวทำให้เกิดออทิสติกจริง ทำไมเราจึงพบพ่อแม่ที่เป็นออทิสติกน้อย มาก ในขณะเดียวกันเรากลับพบลูกเป็นเด็กออทิสติก มากขึ้น
ถึงแม้ว่าสาเหตุของออทิสติกจะยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกเริ่มมองข้ามสาเหตุแล้วไปมองถึงวิธีการดูแลรักษาแทนนั้น สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือเมื่อเรารับรู้ว่าออทิสติกเกิดจากอะไรได้บ้างแล้ว ความรู้สึกตระหนักเพื่อจะป้องกันก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ และมหาวิทยาลัยอลาบามา-เบอร์มิงแฮม
ในสหรัฐได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของออทิสติกที่เชื่อว่าเป็นเพราะสมองทารกเกิดการอักเสบอันเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคทำงานบกพร่อง ซึ่งนี่ไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดออทิสติกค่ะ อีกงานวิจัยหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายคืองานวิจัยที่ทำ โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เดวิส ของสหรัฐ ได้ทำงานวิจัยในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อม (ที่นอกจากควันพิษจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังรวมไปถึงยาฆ่าแมลง เชื้อไวรัส และสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในบ้าน) กับออทิสติก โดยเฉพาะที่รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรออทิสติก มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ (และมีการเพิ่มขึ้นของออทิสติกเป็น 7 เท่าภายในระยะเวลา 15 ปี) ในวารสารระบาดวิทยาของสหรัฐยังระบุด้วยว่าในปี ค.ศ. 2006 รัฐแคลิฟอร์เนียมีประชากรออทิสติกใหม่เพิ่มขึ้น 3,000 ราย และเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1990 ซึ่งมีประชากรออทิสติกเพียง 205 รายเท่านั้น แน่นอนว่าคำถามเช่นการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำขึ้นทำให้จำนวนเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ การวินิจฉัยที่แม่นยำทำให้สามารถกรองเคสที่เด็กมีอาการกึ่งออทิสติกได้ดีมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้ถึงครึ่งของจำนวน 3,000 คนแต่อย่างใด และนั่นไม่ได้เป็นคำตอบที่ว่าทำไมอัตราประชากรออทิสติกจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่านักวิจัยจะยอมรับว่า พันธุกรรมในแง่ของการเกิดการกลายพันธุ์ในยีนส่งผลต่อการเกิดออทิสติก แต่ก็ยอมรับว่าเปอร์เซ็นต์ของพันธุกรรมที่ส่งผลนั้นค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ เช่น เมื่อ 20 ปีก่อน นักวิจัยเชื่อว่า พันธุกรรมส่งผลถึง 70% อันเนื่องมาจากการทำงานวิจัยในแฝดที่เป็น
ออทิสติกทั้งคู่ จนในปัจจุบันพันธุกรรมส่งผลต่อการเป็นออทิสติกเพียงแค่ 20-30% เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ตามกฎของเมนเดลแล้ว พันธุกรรมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลารวดเร็วเช่นนี้ได้ ส่วนที่เหลือคือปัจจัยภายนอกที่รวมเรียกว่าสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการที่สารเคมีเป็นอันตรายต่อเซลล์สมองมีมานานมากกว่าศตวรรษ รวมถึงงานวิจัยที่ว่าสารเคมีเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคทางระบบประสาทซึ่งรวมถึงออทิสติก แต่การใช้สารเคมีเหล่านี้ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันพบว่า สารเคมีในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีถึง 8,000 กว่าชนิด และเกินครึ่งเป็นสารเคมีที่ได้รับการปรับสูตรและดัดแปลงทางเคมีอย่างที่ไม่มีมาก่อนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เชื่อหรือไม่ว่า เราพบสารเคมีเหล่านี้รอบตัว ไม่ว่าจะอยู่ในอากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรากิน หรือแม้แต่น้ำที่ดื่มเข้าไป มีการคาดการณ์ไว้ว่า เราใช้ยาฆ่าแมลงกันถึงปีละ 2 ล้านกิโลกรัมในอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูปอาหาร รวมถึงในครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสารพิษต่อระบบประสาทแทบทั้งสิ้น
ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม นอกจากเรื่องของยาฆ่าแมลง เชื้อไวรัส และสารเคมีในบ้านแล้ว นักวิจัยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า การที่คุณแม่ตั้งครรภ์สัมผัส (ทั้งทางจมูก ปาก และผิวหนัง) มลพิษต่าง ๆ ทั้งสารโลหะหนัก เช่น สารปรอท สาร PCBs (ที่ใช้เป็นส่วนผสมของกาว พลาสติก น้ำมันหล่อลื่น หม้อแปลงไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรม) จะทำให้สมองของทารกในครรภ์มีพัฒนาการบกพร่อง ในขณะที่สารจำพวกสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย แชมพูฆ่าเหาฆ่าเห็บ ก็มีส่วนประกอบที่ทำร้ายเซลล์สมองได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไปเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายให้มีความสามารถในการต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ น้อยลง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดออทิสติกในเด็กได้เช่นเดียวกัน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐได้ประกาศถึงการใช้สารเคมีต่างๆ ว่า “ปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่ต่ำ” แต่ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่นั้นไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยสำหรับเด็กหรือแม้แต่ทารก ยิ่งสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกทำลายจากสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้ง่ายมากขึ้นค่ะ งานวิจัยช่วงหลัง ๆ จึงแสดงถึงความสามารถของโลหะหนักที่ส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์มารดาได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การพบค่าสารปรอทที่รกซึ่งมีค่าสูงกว่าในเลือดของแม่ที่ตั้งครรภ์เสียอีก หรือแม้แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ทำงานในไร่ที่ใช้สารเคมีพบว่าเด็กมีภาวะการจำรูปภาพและการรับรู้โลกรอบตัวบกพร่อง (visuospatial deficits)
ในขณะเดียวกัน สำหรับเด็กทารกที่เพิ่งลืมตาดูโลก ในช่วงแรกก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Blood-brain barrier (BBB) ซึ่งเป็นเกราะป้องกันสารเคมีต่าง ๆ ไม่ให้เข้าทำลายสมองได้ง่ายดายขึ้นนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกเป็นช่วงที่สำคัญมากในการที่จะละเว้นไม่ให้ทารกสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ เนื่องจากทารกมีความไวมากกว่าปกติ รวมถึงยังไม่มีความสามารถในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ได้ เราจึงพบเด็กที่มีพัฒนาการถดถอยลงเนื่องจากสัมผัสกับสารเคมีเมื่อหลัง 6 เดือน ถึง 1 ปีนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นไปได้คุณแม่จึงไม่ควรใช้อุปกรณ์การทำความสะอาดในครัวเรือน หลีกเลี่ยงการสูดดมมลพิษต่าง ๆ รวมทั้งกินอาหารที่ปลอดสารเคมีจะดีที่สุดนั่นเองค่ะ
อาจจะถึงเวลาแล้วที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตื่นตัวให้มากขึ้น เมื่อจะเลือกซื้อหรือเลือกใช้สิ่งของต่าง ๆ กับลูกน้อย เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เราในวันนี้อาจไม่เคยได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ลูกของเราเขาเกิดมาพร้อมกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ส่งผลต่อเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย คราวนี้คงขึ้นอยู่กับว่า คุณพ่อคุณแม่จะเลือกสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้ลูกนั่นเองค่ะ ต้นเดือนหน้ามาพบกับเรื่องระบบภูมิคุ้มกันโรคกับออทิสติก เรื่องที่คุณแม่นมผงควรต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอะไร และเป็นไปได้อย่างไร
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งความรักนี้ ทางทีมงานหมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพและบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขอให้ความรักที่ไม่จำเพาะแต่ความรักของคู่รัก หากยังหมายถึงความรักระหว่างพ่อแม่-ลูก ความรักฉันเพื่อน และความรักแด่เพื่อนร่วมโลก จงเบ่งบานในใจของผู้อ่านทุก ๆ คนนะคะ.
อาจารย์ ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ
ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล