สเปเชียลโอลิมปิคไทย กอลิซาโน่ และยูนิเซฟ จับมือ สธ. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าขยายพื้นที่ดูแลเด็กบกพร่องทางสติปัญญาครอบคลุมทั่วประเทศ

    วันนี้ (1 ธ.ค.58) ที่ รร.แอมบาสซาเดอร์ กทม. คณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  โดย สถาบันราชานุกูล จัดสัมมนา “โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Special Olympic Thailand Healthy Communities Project)” ภายใต้ทุนสนับสนุน จาก มูลนิธิ กอลิซาโน่ และ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย โดยมี แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดงาน เผย ประเทศไทย เป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ได้รับเลือกให้แสดงผลงานดีเด่น ในที่ประชุมนานาชาติ ของ สเปเชียลโอลิมปิคสากล (Special Olympic International) ที่กรุงลอสแอนเจลิส ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 6 โรงเรียน 6 จังหวัด ใน กทม. ลพบุรี สุพรรณบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี และภูเก็ต พบ โรคลมชักเป็นโรคประจำตัวเรื้อรังในเด็กมากที่สุด ในขณะที่โรคออทิสติก เป็นโรคทางจิตเวชที่พบในเด็กส่วนใหญ่ รองลงมา คือ โรคสมาธิสั้น ขณะที่กลุ่มอาการดาวน์ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากที่สุด พบมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2557 พร้อมเดินหน้าขยายพื้นที่วางระบบดูแลสุขภาพเด็กบกพร่องทางสติปัญญาให้เกิดความยั่งยืน ด้วยโมเดล “โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ให้ครบ 20 แห่งทั่วประเทศ 
     แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. กล่าวว่า ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ถือเป็น 1 ในความพิการ  7 ประเภท ที่พบ ร้อยละ 1.3 ของประชากร หรือประมาณ 1 ล้านคนในประเทศไทย แต่มีการขึ้นทะเบียนผู้พิการเพียง 114,237 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 11.42 ของจำนวนผู้พิการทางสติปัญญาทั้งหมด โดยมีการเข้าถึงบริการเพียง ร้อยละ 6.25  ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์คนพิการปี 2552 สำนักส่งเสริมและพัฒนาคนพิการแห่งชาติ ที่ระบุว่าผู้พิการทางสติปัญญาเป็นผู้พิการที่มีความยากลำบากที่สุดในการเข้าถึงบริการทุกประเภท รวมทั้ง มีการศึกษา พบว่า บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญามักพบปัญหาสุขภาพสูงกว่าบุคคลทั่วไป เช่น โรคลมชัก โรคผิวหนัง ฯลฯ การดำเนินโครงการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพของบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งต้องประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจน ครอบครัวและสังคม องค์กรท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชน โดยการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการคัดกรอง/ประเมินและดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบระบบการคัดกรอง/ประเมินและดูแลช่วยเหลือ  ตลอดจนการส่งต่อ และสร้างเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่  เพื่อให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้รับการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ “เทียบเท่าหรือมากกว่า” ประชาชนทั่วไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีนโยบายสำคัญในการบูรณาการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต โดย ในปีงบประมาณ 2559 นี้ ได้ตั้งเป้าให้คนพิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 
       ด้าน นายพิชัย ราชภัณฑารี  ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ ได้เปิดเผยถึง ความสำคัญของโครงการในการขับเคลื่อนพัฒนาการของเด็กพิการไทย ว่า เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการทำตามความฝันและเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกที่มีศักยภาพของสังคม แต่บ่อยครั้งเราพบว่าเด็กพิการมักไม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ พวกเขาต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ มากมายในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือสิทธิที่จะมีสุขภาพอนามัยดี สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย และสิทธิที่จะได้มีส่วนร่วมในสังคม เป็นประเด็นที่ยูนิเซฟให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่ในทุกแห่งทั่วโลก  ยูนิเซฟภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับสเปเชียลโอลิมปิคไทยและสถาบันราชานุกูล ในการดำเนินโครงการตรวจสุขภาพเด็กพิการทางสติปัญญาหลายพันคนในประเทศไทย และสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และสมาชิกในชุมชน  และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กรมสุขภาพจิตได้นำโครงการนำร่องนี้ไปขยายในโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 14 แห่งในปีนี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่จากความร่วมมือกันใน 3 ปีที่ผ่านมา
        ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจาก 33 ประเทศสมาชิกของ สเปเชียลโอลิมปิคสากล (Special Olympics International)  ให้ดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อศึกษารูปแบบของการขยายการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับบุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญาในพื้นที่แตกต่างกันทั่วโลก  ซึ่งโครงการนี้ ได้รับการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา นาย บิล คลินตัน ในการประชุมใหญ่ ของ Clinton Global Initiatives เมื่อปี 2555  การดำเนินงาน และขยายผลไปสู่อีก 14 พื้นที่ของประเทศเป็นผลให้สเปเชียลโอลิมปิคไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ได้แสดงผลงานดีเด่น ให้กับที่ประชุมนานาชาติ ของ สเปเชียลโอลิมปิคสากล ที่กรุงลอสแอนเจลิส ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้  ซึ่งความสำเร็จของโครงการใน 3 ปีที่ผ่านมา ล้วนเกิดขึ้นจากความร่วมมือ และความอนุเคราะห์ขององค์กรภาคีต่างๆ จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนมา ณ ที่นี้
        ในส่วนของนโยบายและยุทธศาสตร์ในการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพื่อความยั่งยืนต่อไปนั้น  พญ.พรรณพิมล วิปุลากร   รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้ดำเนินการต่อเนื่อง ตลอด 3 ปี โดยนำร่องใน 6 โรงเรียน ใน กทม. ลพบุรี สุพรรณบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี และภูเก็ต  พบว่า ปีการศึกษา 2557 และ 2558 มีเด็กนักเรียนผ่านการประเมินสุขภาพ 1,357 และ 1,253 ราย ตามลำดับ มีโรคประจำตัวเรื้อรังประมาณ ร้อยละ 11 โดยพบโรคลมชักมากที่สุด ในส่วนของโรคทางจิตเวช ส่วนใหญ่เป็นโรคออทิสติก รองลงมา คือ โรคสมาธิสั้น ส่วนกลุ่มอาการดาวน์ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากที่สุด พบร้อยละ 14.6 ในปี 2557 และร้อยละ 18.5 ในปี 2558 ซึ่งประมาณร้อยละ 90 ของนักเรียนกลุ่มอาการดาวน์ ไม่ได้รับการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอ ผลจากโครงการในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินงานสำคัญเพื่อนักเรียนและบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ได้แก่ 1.การส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 2.การมีระบบการดูแลภายในโรงเรียนและกลไกการส่งต่อปัญหาสุขภาพที่เอื้อต่อข้อจำกัดของเด็กและครอบครัว และ 3.มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแผนการดำเนินงานและประเมินผลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ถือเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้และออทิสติก ให้ได้รับการฟื้นฟูด้านสังคมผ่านเครือข่ายดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ ได้เดินหน้าทดลองขยายการทำงานผ่านการประสานงานของหน่วยงานสาธารณสุขและการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพิ่มอีก 14 แห่งทั่วประเทศให้เกิดระบบการดำเนินงานที่ยั่งยืน ด้วยโมเดล “โดยชุมชน เพื่อชุมชน”ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ผู้ปกครอง ครู บุคลากรสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นอกจากนั้น สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  ยังได้แสดงความเห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างองค์กร โดยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตทุกกลุ่ม ทุกวัยมีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อโอกาสในการเข้ารับการบริการทางสุขภาพของบุคคลผู้พิการกลุ่มนี้ 
        การจัดสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงาน ระบบการทำงานของเครือข่ายชุมชน ในการส่งเสริมป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพของผู้พิการกลุ่มนี้ ตลอดจน ทิศทางในการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในอนาคตเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องที่ยั่งยืนต่อไป 
                                                                                                       ************
 
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2558
 
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2558
 
 
ข่าวจากช่อง MONO 29 ออกอากาศวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2558
 
http://mono29.mthai.com/episode/%E0%B8%8A%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2
 

ข่าวประชาสัมพันธ์.pdf
Press Release.pdf
ข่าวจาก นสพ. ไทยรัฐ.pdf
ข่าวจาก ไทยโพสต์.pdf

  View : 1.69K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.138.141.202